ประเทศไทยจะเป็นอย่างไรหลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน?

โดยปรกติแล้วได้รับเชิญให้ไปบรรยายและให้ความรู้ในประเด็นต่างๆ อยู่เป็นประจำ ในระยะหลังนั้น หัวข้อที่ผมได้รับเชิญให้ไปพูดบ่อยครั้งมากที่สุดแทบไม่เว้นแต่ละวันคือประเด็นที่เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ซึ่งถึงแม้ว่าประเด็นนี้จะถูกกล่าวถึงมากขึ้น แต่การสำรวจที่ผ่านมากลับพบว่า คนไทยที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนมีสัดส่วนน้อยมาก ซึ่งในบทความจะตอบคำถามที่ว่าประเทศไทยจะเป็นอย่างไรหลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน? สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยมีหลายประการ เช่น

1) เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว คือ การลดอัตราภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 0 และการขจัดมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีของประเทศสมาชิกอาเซียน ทำให้มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอาเซียนขยายตัวสูงขึ้น นอกจากนี้การเปิดเสรีการลงทุนจะทำให้มีเงินลงทุนโดยตรงจากประเทศสมาชิกอาเซียนเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจบริการที่อนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นได้สูงถึงร้อยละ 70 เช่น การขนส่งทางอากาศ บริการด้านการท่องเที่ยว บริการสุขภาพ และบริการโลจิสติกส์ เป็นต้น รวมทั้งการลงทุนจากประเทศนอกกลุ่มอาเซียนมายังประเทศไทยมากขึ้น เนื่องจากภูมิศาสตร์ของไทยเหมาะแก่การลงทุนเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค ที่สำคัญคาดหมายว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากอาเซียนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศอาเซียนลดลง โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมระหว่างประเทศพัฒนามากขึ้น การไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประเทศในอาเซียนเพิ่มมากขึ้น และการเคลื่อนย้ายของแรงงานไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น

2) โครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

การเปิดเสรีให้สินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานทักษะสูงสามารถเคลื่อนย้ายภายในภูมิภาคได้อย่างเสรีมากขึ้น ทำให้ไทยต้องเผชิญการแข่งขันจากประเทศเพื่อนบ้านรุนแรงขึ้น ซึ่งจะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่เป็นจุดแข็งของประเทศและภาคเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยภาคเศรษฐกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ คือ สินค้าเกษตร เช่น ข้าว น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง โคเนื้อ โคนม ชา กาแฟ หอม กระเทียม ไหมดิบ สินค้าประมง และอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ขณะที่ภาคบริการ เช่น การเงิน ธนาคาร ประกันภัย โทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ ค้าปลีก-ค้าส่ง และโลจิสติกส์ ไทยอาจสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับคู่แข่งจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะสิงคโปร์ที่มีศักยภาพในด้านบริการสูงที่สุดในอาเซียน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ ได้แก่ อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง (เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์) อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มจากการออกแบบ (เช่น แฟชั่น เฟอร์นิเจอร์) และ อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าจำเป็น (เช่น แปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร อุปโภคบริโภค วัสดุก่อสร้าง) ส่วนภาคบริการที่จะได้ประโยชน์ คือ การท่องเที่ยว บริการสุขภาพและความงาม บริการธุรกิจ และการก่อสร้างและออกแบบ

3) กฎระเบียบและมาตรฐานเป็นสากลมากขึ้น

การรวมตัวเป็นประชาคมจะทำให้ประเทศสมาชิกจำเป็นต้องปรับปรุงกฎระเบียบ แนวปฏิบัติและมาตรฐานด้านต่าง ๆ ให้สอดคล้องกันมากขึ้นเพื่อความสะดวกในการดำเนินธุรกรรมระหว่างประเทศ เช่น มาตรฐานของสินค้าและการให้บริการ มาตรฐานด้านคุณวุฒิวิชาชีพ กฎระเบียบและพิธีการทางศุลกากรและการตรวจคนเข้าเมือง กระบวนการจัดตั้งและจดทะเบียนธุรกิจ การคุ้มครองสิทธิแรงงานและสิทธิผู้บริโภค บรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นต้น

4) การกระจายความเจริญมากขึ้น

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงการคมนาคมระหว่างประเทศ เช่น ถนนและทางรถไฟ จะทำให้เกิดพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ๆ และการกระจายความเจริญสู่พื้นที่บริเวณจุดผ่านแดนและแนวเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจตามโครงการเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจในกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งประกอบด้วย 3 แนวพื้นที่ ได้แก่

  • ระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออกตะวันตก (East-West Economic Corridor)เชื่อมโยงระหว่างเมืองเมาะละแหม่ง เมียนม่าร์ ผ่านแม่สอด ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร สะหวันนะเขต ลาว และสิ้นสุดที่เมืองดานัง เวียดนาม
  • ระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) เชื่อมโยงระหว่างนครคุนหมิง จีน ผ่านเชียงรายที่อาเภอแม่สายและเชียงของ และไปสิ้นสุดที่กรุงเทพฯ
  • ระเบียงเศรษฐกิจแนวใต้ (Southern Economic Corridor) เชื่อมโยงระหว่างกรุงเทพฯ ไปยังกัมพูชาและเวียดนามมีหลายเส้นทางย่อย โดยมีจุดผ่านแดนระหว่างไทยและกัมพูชา 2 แห่ง คือ อรัญประเทศ/ปอยเปต และตราด/เกาะกง เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวใต้จะเชื่อมต่อกับโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ระหว่างท่าเรือน้ำลึกทวาย กรุงเทพฯและท่าเรือแหลมฉบัง

5) สังคมมีความหลากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรมมากขึ้น

ประชาคมอาเซียนจะทำให้ความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมภายในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น ประชาชนในภูมิภาคอาเซียนมีความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้น โดยเป็นผลจากการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุนและการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพที่จะทำให้มีการเคลื่อนย้ายของบุคลากรชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น การอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการผ่านแดนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมระหว่างประเทศที่จะทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น การเปิดเสรีบริการด้านการศึกษาและการแลกเปลี่ยนทางด้านเทคโนโลยี วัฒนธรรมและองค์ความรู้ จะทำให้มีนักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาในประเทศมากขึ้น และมีการแลกเปลี่ยนนักเรียน นักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมมากขึ้น

การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบทั้งเชิงบวกหรือลบต่อประเทศไทย ซึ่งเราอาจมองสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสหรือภัยคุกคามก็ได้ ทั้งนี้การพัฒนาความรู้และการเตรียมความพร้อมเป็นเงื่อนไขสำคัญของการรับโอกาสและป้องกันภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้น หากนับตั้งแต่ตอนนี้ยังมีเวลาอีกประมาณ 3 ปีจึงจะถึงเส้นตายที่จะบรรลุเป้าประสงค์ในการสร้างประชาคมอาเซียนในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ซึ่งถือว่ามากเพียงพอและยังไม่สายเกินไปที่จะเริ่มต้น

ที่มา : ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจ และรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (กรุงเทพธุรกิจ)

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ thai-aec ดูทั้งหมด

661

views
Credit : thai-aec


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน