อุตสาหกรรมอาหาร เมื่อก้าวสู่ AEC
อุตสาหกรรมอาหาร เป็นอุตสาหกรรมที่โดดเด่น ปี 2011 มีการขยายตัวก้าวกระโดดถึง 20% ซึ่งนับว่าอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบการส่งออกรวมขยายตัวในระดับ 15.9% โดยปีหนึ่งประเทศไทยส่งออกอาหารกว่า 33 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น ร้อยละ 14.2 ของการส่งออกทั้งหมด
เนื่องจากอุปนิสัยการบริโภคอาหารของคนในโลกไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ส่วนใหญ่ประเทศไหนรับประทานขนมปัง ก็รับประทานกันแต่ขนมปัง ประเทศไหน รับประทานข้าว ก็รับประทานกันแต่ข้าว ดังนั้น ฐานลูกค้าของเราที่ส่งออกไปยังประเทศ ท็อปเทน (Top 10) จึงไม่เปลี่ยนแปลง
กี่ปีก็ยังคงเป็นประเทศเดิม ๆ ซึ่งประเทศเหล่านี้มีประเทศในอาเซียน + 3 รวม 6 ประเทศ รวมฐานประชากรลูกค้าเรา เฉพาะกลุ่มนี้ราว 1,805 ล้านคนเข้าไปแล้ว และเนื่องจากประเทศไทยมีวัตถุดิบอุดมสมบูรณ์ 80% ของวัตถุดิบที่ผลิตอาหารใช้วัตถุดิบที่ผลิตได้ในประเทศ แต่เราทราบกันดีว่าถ้าหากขายในรูปผลิตภัณฑ์การเกษตร จะได้ราคาที่ไม่ดีนัก แถมตลาดอุปกรณ์แปรรูปและบรรจุหีบห่อของไทยขยายตัวเพื่อรองรับมาอย่างต่อเนื่อง (ตลาดอุปกรณ์แปรรูปและบรรจุอาหาร หรือ Food processing and packaging equipment : FPPE ของไทยโตเฉลี่ย 20% ทุกปี ตั้งแต่ปี 1999 โดยในปี 2011 มีมูลค่าการค้า 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 61.0%) จึงเป็นการได้เปรียบที่ประเทศไทยจะมุ่งเน้นในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่ม ต่อยอดมูลค่าสินค้าเกษตรที่เรามีจุดแข็งอยู่แล้วได้เป็นอย่างดี
หากเปิด AEC แล้ว เราจะมีโอกาสมากในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป โดยเฉพาะอาหารพร้อมรับประทาน (Ready-to-eat Food : RTE) โดยสถาบันอาหารคาดการณ์ว่าการเปิด AEC จะช่วยให้ฐานลูกค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นราว 600 ล้านคน นอกเหนือจากความได้เปรียบด้านวัตถุดิบ เรายังมีความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอีกด้วย
หากดูทีละประเทศ ไทยเรามีโอกาสอย่างไร ?
เริ่มที่ประเทศเวียดนาม มูลค่า Chilled Ready Meals โต 108.8% ใน 5 ปี ตามการพัฒนาของอุตสาหกรรมค้าปลีก : มูลค่า RTE ที่ประเทศเวียดนาม ปี 2011 โต 14.9% โดย RTE แบบกระป๋องเป็นที่นิยมที่สุด โดยมีสัดส่วนราว 80% ของ RTE ทั้งหมด แต่หากพิจารณา RTE ประเภท Chilled Pizza, Dinner Mixes, Frozen Pizza, Frozen Ready Meals และ Prepared Salads ซึ่งเป็นอาหารที่ต้องจัดจำหน่ายผ่านช่องทางการค้าปลีกรูปแบบใหม่ ซึ่งมีตู้เย็นหรือห้องเย็นที่ทันสมัยในการเก็บรักษา เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต, ไฮเปอร์มาร์เก็ต หรือคอนวีเนี่ยนสโตร์ พบว่า RTE เหล่านี้ไม่มีส่วนแบ่งตลาดเลยในประเทศเวียดนาม ในขณะที่มีเพียง Chilled Ready Meals ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพียงราว 10.6% แต่หากมีอัตราการขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง 108.8% ในช่วงระยะเวลา 5 ปี (ปี 2006-2011) (เฉลี่ยปีละ 21.8%) ซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวของซูเปอร์มาร์เก็ต, ไฮเปอร์มาร์เก็ต หรือคอนวีเนี่ยนสโตร์ ที่ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มจาก 23.4% เป็น 54.0% หรือเพิ่มขึ้น 130.8% (เฉลี่ยปีละ 26.2%) ในช่วงเวลาเดียวกัน
ในขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของร้านโชห่วย (Small Grocery) ลดลง -21.6% และ Non-Grocery Retailers ลดลง -76.6% ประเทศเวียดนาม มีผู้ประกอบการ RTE รายใหญ่เพียง 2 ราย ยังมีโอกาสในการเปิดตลาด : นอกจาก Vissan Co.,Ltd และ Hanlong Canned Food JSC ที่มีส่วนแบ่งการตลาดที่มั่นคงในระดับรวมราว 55.3% แล้ว ผู้ประกอบการรายอื่นจะเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่สินค้าไม่เป็นที่นิยมมากนัก (ส่วนแบ่งการตลาดน้อยอย่างสม่าเสมอ) การบุกตลาดเวียดนามโดยเฉพาะ RTE ประเภทที่ต้องพึ่งพิงการค้าปลีกรูปแบบใหม่ ประเภทที่ต้องเก็บไว้ในตู้เย็นของคอนวีเนี่ยนสโตร์ จึงอาจจะยังมีโอกาสอยู่อีกมาก
ต่อมาคือ ประเทศอินโดนีเซีย มูลค่าอาหารพร้อมรับประทานแบบแห้ง ขยายตัวก้าวกระโดด 74.2% ใน 5 ปี : ต่างกับเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซียเขาฮิต RTE แบบแห้ง มูลค่าตลาด RTE ในอินโดนีเซียขยายตัว 38.4% ในช่วง 5 ปี (ปี 2005-2010) โดยอาหารพร้อมรับประทานแบบแห้ง (Dried Ready Meals) โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปและพาสต้า กึ่งสำเร็จรูป มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยในช่วงดังกล่าว มูลค่า RTE แบบแห้งขยายตัว 74.2% ในขณะที่ RTE แบบกระป๋องขยายตัว 7.0% แต่หาก Frozen Pizza จากที่เคยมีส่วนแบ่งในมูลค่าตลาด RTE 2.6% กลับกลายเป็นไม่เหลือส่วนแบ่งในตลาดเลยตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา
ประเทศอินโดนีเซียมีผู้ประกอบการ RTE เพียง 3 ราย กินส่วนแบ่งตลาด 83.1% ขายผลิตภัณฑ์ในวงแคบ : Canning Foods Indonesia PT, SimbaIndosnack Makmur PT และ Indofood Sukses Makmur Tbk PT เป็น 3 ผู้ประกอบการที่มีส่วนแบ่งตลาดรวมในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2009 มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ ในระดับ 83.1% ของมูลค่าขายปลีกในตลาด RTE โดยผลิตภัณฑ์จะมีเพียง RTE แบบกระป๋องและแบบแห้งเท่านั้น จึงอาจจะยังเป็นโอกาสของไทยที่จะไปเปิดตลาดในผลิตภัณฑ์ RTE ประเภทอื่น ซึ่งการเปิดตลาดในอินโดนีเซียจำเป็นต้องคำนึงถึงการปรุงอาหารตามหลักศาสนาอิสลามเป็นสำคัญ
ประเทศสิงคโปร์ บริโภคอาหารกระป๋องราคาสูง ส่วนแบ่งการตลาดไม่แน่นอน แล้วแต่กลยุทธ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ คงไม่น่าแปลกใจที่คนในประเทศที่ร่ำรวยอย่าง สิงคโปร์จะบริโภคของแพง แม้ปริมาณอาหาร RTE ในสิงคโปร์โตไม่มาก คือโตเพียงร้อยละ 2.1% ในปี 2010 แต่หากมูลค่าอาหาร RTE โต 2.6% โดยคนสิงคโปร์บริโภคอาหาร RTE ราคาเฉลี่ยราว 7,129 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่อินโดนีเซียบริโภคอาหาร RTE ราคาเฉลี่ยราว 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2010 เพิ่มขึ้นจาก 3,630 รูเปียห์ต่อตัน ในปี 2007 โดยในประเทศสิงคโปร์อาหาร RTE แบบกระป๋องมีสัดส่วนถึง 90.7% และอาหาร RTE ประเภทแช่แข็งที่ได้รับความนิยม ได้แก่ อาหาร Italian และ Western โดยตลอด 5 ปีที่ผ่านมามีสัดส่วนการบริโภค 46.0% และ 27.5% ของอาหารแช่แข็งทั้งหมด ตามลำดับ
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ RTE ในประเทศสิงคโปร์มีหลากหลาย ส่วนแบ่งตลาดไม่แน่นอน แล้วแต่กลยุทธ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการส่งเสริมการตลาด โดย Xiamen Jiahua Import & Export Trading Co.,Ltd เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุดในประเทศสิงคโปร์ มีสัดส่วนการตลาดในช่วง 5 ปี สูงสุดในปี 2006 ที่ 23.2% และต่ำสุดในปี 2008 ที่ 16.2%
ประเทศคู่แข่ง ซึ่งก็คือ ประเทศพม่า ยังไม่น่ากลัวนัก โอกาสในอุตสาหกรรม RTE ของไทยเราในอาเซียนมีมากจริง ๆ แต่หลายคนคงอดห่วงคู่แข่งอย่างประเทศพม่า ที่มีค่าแรงถูกแล้วกำลังจะเปิดประเทศไม่ได้ แม้แรงงานพม่าจะมีราคาถูกและมีประชากรวัยแรงงานที่อายุไม่มากอยู่จำนวนมาก แต่ปัจจุบันยังขาดซึ่งเทคโนโลยีในการผลิตและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่เพียงพอ โดย 75% ของประชากรทั้งหมดยัง ไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้ น้ำประปายังมีราคาสูง ไม่มีระบบการระบายน้ำ หรือการกำจัดสิ่งปฏิกูลที่ดี พม่าจึงนับเป็นคู่แข่งที่ไม่น่ากลัวนัก (แต่เราก็ประมาทไม่ได้)
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ