ยุทธวิธี กัมพูชา-มาเลเซีย ใน AEC

นอกจากลาวและพม่าแล้ว อีก 2 ประเทศที่มีพรมแดนติดประเทศไทย ที่เมื่อถึงปี 2558 ที่จะเกิด ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือAEC อย่างเป็นทางการ SMEsไทยอาจจะสามารถขยายตลาดสินค้าหรือบริการไปได้อย่างสะดวกมากกว่าประเทศในอาเซียนประเทศอื่น ๆ ก็คือ “กัมพูชา” หรือเขมร และ “มาเลเซีย” ซึ่งจากการที่รัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมSMEsไทยเกี่ยวกับAEC และทาง สสว.-สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้มีโครงการศึกษาผลกระทบของนโยบายและกฎหมายของประเทศในอาเซียน กับกัมพูชาและมาเลเซีย โดยสังเขปก็มีดังนี้.

“กัมพูชา” รัฐบาลก็มีการปรับเปลี่ยนสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี โดยเตรียมปฏิรูปทั้งโครงสร้างและเศรษฐกิจ มหภาค ซึ่งเศรษฐกิจส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม โดยรัฐบาลกัมพูชาได้มุ่งขยายปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างภาคเกษตร และอุตสาหกรรม รวมทั้งข้อได้เปรียบในการแข่งขันทั้งกับในภูมิภาคอาเซียนและระดับนานาประเทศ นอกจากนี้ยังมุ่งปรับสภาพแวดล้อมในการลงทุน เพิ่มการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพิ่มการฝึกฝนความเป็นมืออาชีพ รวมทั้งการสร้างเขตอุตสาหกรรมและเขตส่งออกที่มีโครงสร้างพื้นฐานและบริการที่มีประสิทธิภาพ และยังให้ความสำคัญกับนโยบายการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ

เนื่องจากกัมพูชาไม่สามารถผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างเพียงพอ จึงต้องอาศัยการนำเข้าเป็นหลัก โดยมีนโยบายการค้าเสรี ไม่มีข้อกีดกันทางการค้า อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของ สสว. ระบุว่า แต่กัมพูชาก็ห้ามการนำเข้าสินค้าบางประเภทที่กระทบกับความมั่นคง สุขอนามัย สิ่งแวดล้อม และมีการควบคุมสินค้าส่งออก โดยต้องได้รับอนุญาตก่อนส่งออกจากประเทศ ประกอบด้วย ไม้ ผลิตภัณฑ์จากไม้ และข้าว นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าต้องชำระภาษีนำเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีอื่น ๆ ตามที่กระทรวงการคลังกำหนด “มาเลเซีย” มีวิสัยทัศน์ 2020 ที่กำหนดอนาคตว่า จะต้องเป็นประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ในปี ค.ศ. 2020 และได้วางนโยบายวิสัยทัศน์แห่งชาติที่มุ่งจะสร้างให้เป็นประเทศที่มีความยืดหยุ่นคงทนและมีความสามารถในการแข่งขัน โดยให้ความสำคัญต่อการเติบโตที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของประสิทธิภาพการผลิตโดยรวม ซึ่งเน้นการลงทุนที่มีการค้นคว้า วิจัย และเทคโนโลยีสูง ปัจจุบันรัฐบาลมาเลเซียใช้นโยบาย New Economic Model (NEM) ซึ่งให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าเพื่อพัฒนาประเทศตามศักยภาพที่แท้จริง และมีแนวคิดยกระดับเศรษฐกิจสู่ระดับ High Income

ภายใต้แผนพัฒนามาเลเซีย ปี 2551-2563 ได้มีการกำหนดสาขาเศรษฐกิจหลักแห่งชาติ 12 สาขา เพื่อเป็นสาขานำในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ได้แก่ น้ำมัน ก๊าซและพลังงาน ปาล์มและน้ำมันปาล์ม บริการทางการเงิน ท่องเที่ยว บริการทางธุรกิจ อิเล็กทรอนิกส์ ค้าส่งและค้าปลีก การศึกษา บริการสุขภาพ สื่อสารโทรคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน เกษตร และการลงทุนในเขตพัฒนาการทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ เปิดเสรีภาคบริการ โดยยกเลิกข้อบังคับที่ต้องมีชาวภูมิบุตรถือครองหุ้นร้อยละ 30 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการปฏิรูปนโยบาย NEM และเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติ โดย อนุญาตให้ต่างชาติเข้าลงทุนได้ 100% ในสาขาบริการย่อย 27 สาขา ครอบคลุมบริการด้านการท่องเที่ยว สุขภาพ เทคโนโลยีสารสนเทศ และขนส่ง รวมถึงการลงทุนในศูนย์กระจายสินค้าระดับภูมิภาค ศูนย์จัดซื้อสินค้าระหว่างประเทศ และการทำธุรกิจเหมืองแร่ และยังคลายข้อกำหนดการถือหุ้นของต่างชาติและเงื่อนไขด้านการส่งออกในการลงทุนด้านการผลิตด้วย แต่รัฐบาลมาเลเซียก็ยังคงไว้ซึ่งอำนาจอย่างค่อนข้างสูงในการอนุมัติการลงทุนจากต่างชาติ เพราะต้องการลดการพึ่งพาเศรษฐกิจจากภายนอก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป “กัมพูชา” และ “มาเลเซีย” อยู่ใกล้ชิดติดกับประเทศไทย SMEsไทยอาจสามารถขยายตลาดสินค้าหรือบริการไปได้อย่างสะดวก แต่กระนั้น “นโยบาย และกฎหมาย” ใน 2 ประเทศนี้ ก็เป็นสิ่งที่SMEsไทยต้องศึกษาให้ชัดเจน

ที่มา :  เดลินิวส์

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ thai-aec ดูทั้งหมด

610

views
Credit : thai-aec


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน