ไทยดึงสวีเดนร่วมลงทุนโลจิสติกส์-พลังงาน
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เข้าหารือกับนายเฟรดริก ไรน์เฟลด์ท นายกรัฐมนตรีสวีเดน และร่วมพิธี ลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความร่วมมือการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านอาชญากรรมที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร การลักลอบค้ายาเสพติด วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อ จิตประสาทและสารตั้งต้น การค้ามนุษย์ การก่อการร้าย และอาชญากรรมร้ายแรง อื่นๆ และแผนปฏิบัติการร่วมไทย-สวีเดน ฉบับที่ 2 โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่าการลงนามในแผนปฏิบัติการฯ จะเป็นกรอบดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองให้ใกล้ชิดมากขึ้น โดยหวังร่วมมือในด้านที่สวีเดนมีความเชี่ยวชาญ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี พลังงานและสิ่งแวดล้อม
นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนำยกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการหารือว่า ได้ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งด้านส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมทั้งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และพลังงาน
ทั้งนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ยังใช้โอกาสนี้ยืนยันถึงเสถียรภาพทางการเมือง และเศรษฐกิจ ที่มีการเติบโตอย่างเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง การ กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งการลงทุนของภาคเอกชนที่เข้มแข็ง
นอกจากนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ประเทศไทย เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และส่งเสริมการเติบโตที่ทั่วถึงและยั่งยืน โดยมีแผนการลงทุน 66,000 ล้านดอลลาร์พัฒนาเครือข่ายโลจิสติกส์ และคมนาคม เชื่อมต่อภูมิภาค ซึ่งสวีเดนสามารถมีส่วนร่วมในโครงการและแผนลงทุนเหล่านี้ ซึ่งไทยจะเป็นประตูสู่ภูมิภาคที่สำคัญ และเป็นประตูสู่ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มซีแอลเอ็มวี ผ่านโครงการทวายและเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน
ขณะเดียวกัน ไทยยังต้องการเรียนรู้จากสวีเดนเรื่องบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นต้นแบบพัฒนาบริการสาธารณสุขของไทย ซึ่งไทยมีบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของชาวสวีเดนได้ นอกเหนือจากการท่องเที่ยวที่ชาวสวีเดนนิยมเข้ามาเที่ยวในไทยมากถึง ปีละประมาณ 350,000 คนต่อปี
สำหรับการส่งเสริมการค้าการลงทุน นายกรัฐมนตรีทั้งสองยืนยันสนับสนุนส่งเสริมให้ภาคเอกชนทั้งสองประเทศได้ขยายการลงทุนในไทยและสวีเดน ที่ต่างฝ่ายมีศักยภาพที่เอื้ออำนวยกัน
นอกจากนี้ ในประเด็นของภูมิภาค นางสาวยิ่งลักษณ์ ยังได้กล่าวถึงพัฒนาการอาเซียนที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนปี 2558 รวมทั้งการพัฒนาของพม่าที่จะเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาภูมิภาค โดยไทยส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือกับพม่า โดยเฉพาะโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในพม่า และภูมิภาคโดยรวม
ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังสร้างความสัมพันธ์กลุ่มประเทศนอร์ดิก โดยสนับสนุนเอกชนไทยบุกตลาดสินค้า แสวงหาลู่ทางการลงทุนใหม่ และวางแนวทางการพัฒนาเชิงรุก แม้ตลาดนอร์ดิกจะมีประชากรเพียง 25 ล้านคน แต่มีความมั่นคงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านพลังงานทดแทน สิ่งแวดล้อม และออกแบบเชิงสร้างสรรค์
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเอกชนสนใจที่จะเปิดการดำเนินธุรกิจกับกลุ่มประเทศนอร์ดิก ซึ่งนายกฯ สนับสนุนให้ตั้งคณะทำงานร่วม 4 กลุ่ม คือ พลังงาน พืชเกษตร การท่องเที่ยว และการแพทย์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุน การดำเนินธุรกิจให้เกิดผลและลดอุปสรรคปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการแพทย์ นายกฯ เตรียมนำไปหารือกับนายกสวีเดน ถึงการผ่อนปรนกฎระเบียบการย้ายผู้ไข้ไปรักษาต่อ เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนไทยเข้าไปมีส่วนในการดำเนินการ
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ