อาเซียนกับเป้าหมายศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลโลก

กว่า 1,600 ล้านคนหรือ 1 ใน 4 ของประชาคมโลกนับถือศาสนาอิสลาม และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทําให้อุตสาหกรรมหนึ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจคือ อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มประเทศอาเซียน ที่ต่างพากันต้องการเป็นศูนย์กลางการส่งออกอาหารอาเซียนของโลก

หลายคนอาจกําลังหาช่องทางทําเงิน ในช่วงเวลาที่อาเซียนกําลังก้าวไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ที่การลงทุนรวมไปถึงการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตจะดําเนินไปอย่างเสรีมากขึ้น  เริ่มกันที่ความหมายอย่างย่อๆ ของ “อาหารฮาลาล” กันก่อน สําหรับอาหารฮาลาล หมายถึง อาหารที่ผ่านกรรมวิธีถูกต้องตามหลักการของศาสนาอิสลามที่บัญญัติไว้ในคัมภีร์อัลกุรอ่าน ซึ่งนอกจากกรรมวิธีแล้ว ยังหมายรวมถึงผู้ผลิตอาหารที่ต้องเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามอีกด้วย โดยอาหารที่ผ่านการตรวจสอบ จะได้รับการตราเครื่องหมายฮาลาลรับรองจากหน่วยงานของรัฐในแต่ละประเทศ ซึ่งในขณะนี้ การที่ภูมิภาคอาเซียนมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมกว่า 400 ล้านคน ทําให้เรื่องอาหารฮาลาลกําลังกลายเป็นประเด็นสําคัญเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือในอาเซียน เพราะหลายประเทศในอาเซียนกําลังพบปัญหาที่ว่า มีอัตราการส่งออกอาหารฮาลาลอยู่ในระดับที่สูง แต่มีปริมาณอาหารฮาลาลไว้บริโภคในประเทศอยู่ในระดับที่ต่ำ นอกจากนี้ การหารือยังรวมถึงประเด็นการออกเครื่องหมายฮาลาลร่วมกันเป็นตราเดียวให้กับอาหารฮาลาลที่ผลิตในประเทศใดก็ตามในภูมิภาคอาเซียน

มาดูกันที่ความกระตือรือร้นของแต่ละประเทศในความพยายามพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลกันบ้าง เริ่มกันที่ประเทศไทยของเราเอง เป็นผู้ส่งออกอาหารฮาลาลสู่ตลาดโลกมากที่สุดในอาเซียน และติดอันดับโลกอยู่ในอันดับที่ 5 ซึ่งขณะนี้ รัฐบาลไทยพยายามสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ รวมไปถึงร้านค้า โรงแรมให้มีการบริการอาหารฮาลาลมากขึ้น และผลักดันให้จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดนําร่องในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังถือว่ามีปัญหาอยู่พอสมควร เนื่องจากว่า ประเทศไทยส่งออกอาหารฮาลาลสูง แต่มีอาหารฮาลาลในประเทศค่อนข้างน้อย ทําให้หากในอนาคตแรงงานจากมาเลเซีย หรืออินโดนีเซียที่มีจํานวนไม่น้อยต้องการย้ายมาทํางานในประเทศไทย อาจเปิดปัญหาได้ เพราะขาดอาหารฮาลาลในการบริโภคอย่างเพียงพอ ดังนั้น อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในไทยยังถือว่ามีโอกาสในการลงทุนอยู่มากพอสมควร

ต่อกันที่ มาเลเซีย และ อินโดนีเซียซึ่งเป็น 2 ประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามรวมกันเกือบ 300 ล้านคน จึงเป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่าตลาดฮาลาลย่อมมีขนาดใหญ่ในประเทศเหล่านี้ แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ สถิติของมุสลิมชนชั้นกลางที่เพิ่มมากขึ้นจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศนี้ และสิ่งที่ตามมาคือ กําลังซื้อที่เพิ่มมากขึ้นของชนชั้นกลางเหล่านั้น จนทําให้ส่งผลต่อลักษณะการใช้ชีวิต การเลือกกิน เลือกใช้ และทําให้ตลาดฮาลาลใน 2 ประเทศนี้ ยังมีศักยภาพที่จะสามารถเติบโตได้อีกมาก จึงอาจเป็นช่องทางการลงทุนที่น่าจับตามองได้ นอกจากนี้ มาเลเซีย ยังพยายามให้ภาคส่วนบริการ โดยเฉพาะร้านอาหาร และโรงแรม ซึ่งต้องผ่านการรับรองเครื่องหมายฮาลาลให้หมด เพราะมาเลเซียต้องการให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศรู้สึก “Feel at home” นั่นเอง

สําหรับประเทศอื่นๆ อย่าง สิงคโปร์ จะเน้นไปที่การเป็นพ่อค้าคนกลางในการนําอาหารฮาลาลจากกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีราคาถูก นําไปขายยังต่างประเทศ อันสร้างรายได้มหาศาลในแต่ละปี ส่วนประเทศฟิลิปปินส์ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความพยายามในการเป็นศูนย์การอาหารฮาลาลของโลก เหมือนมาเลเซียและอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายอาจมองว่า กลุ่มประเทศอาเซียน ดูเหมือนว่าจะเป็นคู่แข่งทางการค้ากันในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล แต่จริงๆ แล้วเป็นความเข้าใจที่ผิด

โดย รศ.ดร. วินัย ดะห์ลัน ผู้อํานวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล กล่าวว่า กลุ่มประเทศอาเซียนมีลักษณะที่เป็นทั้งคู่แข่งและคู่ค้าร่วมกันไปด้วย อย่างเช่น ระหว่างไทยกับอินโดนีเซีย ที่อาหารฮาลาลของไทย ไปวางขายเป็นจํานวนมากในอินโดนีเซีย และได้รับการขนานนามว่ามีคุณภาพที่ดีที่สุด จนถึงขั้นเรียกอาหารอะไรก็ตามที่มีคุณภาพว่า “Bangkok Products” เลยทีเดียว

ทั้งนี้นักวิชาการก็มองว่า กลุ่มประเทศอาเซียนจะร่วมมือกันพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลมากขึ้น เมื่อมีการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ทั้งเรื่องการรับรองอาหารฮาลาลร่วมกัน การออกกฎระเบียบการค้า และการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตที่เสรีมากขึ้น

สุดท้ายนี้จะเห็นได้ว่าตลาดอาหารฮาลาล มีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นอีกมาก เพราะในเวลานี้ตลาดฮาลาลในโลกมีมูลค่าสูงถึง 69 ล้านล้านบาท แต่ในนี้ยังรวมไปถึงสินค้าฮาลาลอื่นๆ ในท้องตลาดด้วยเช่น เครื่องสําอาง และเวชสําอางที่ผ่านการรับรองฮาลาล โดยเครื่องสําอางและเวชสําอางฮาลาลก็กําลังเป็นที่จับตามองในสายตาของนักลงทุนในประเทศอย่างมาเลเซีย และอินโดนีเซียไม่แพ้ตลาดอาหารฮาลาลเช่นกัน สาเหตุก็เพราะอย่างที่กล่าวข้างต้น ชนชั้นกลางชาวมุสลิมที่มีรายได้มากขึ้น และชาวมุสลิมในประเทศมุสลิมในแถบตะวันออกกลางที่มีอํานาจซื้อสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย

ที่มา : สนพ.ทันหุ้น

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ thai-aec ดูทั้งหมด

596

views
Credit : thai-aec


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน