การเมืองซัดเอสเอ็มอีทรุด
สภาอุตสาหกรรมพบผลกระทบจากการเมืองเริ่มทำธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กซวนเซ ยอดขายลดลง นอกจากนี้ยังเจอปัญหาขาดแรงงาน และต้นทุนสูง ยังหวังเศรษฐกิจโลกช่วยพยุงให้เอสเอ็มอีไทยรอดวิกฤติ ขณะที่บีโอไอรุกเอสเอ็มอีภาคกลาง-อีสาน เร่งศึกษาลู่ทางการค้า การลงทุน ระบุศักยภาพด้านการดึงดูดการท่องเที่ยว ในพื้นที่ 2 จังหวัดภาคใต้ หวังส่งเสริมผู้ประกอบการสร้างเครือข่ายธุรกิจ หวังต่อยอดอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปท่องเที่ยว
นายวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยการสำรวจผลกระทบผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จากสถานการณ์การเมืองที่ยืดเยื้อมากว่า 2 เดือน ว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 70% ระบุว่าแนวโน้มผลประกอบการจะลดลงกว่าปีที่ผ่านมา และส่วนใหญ่มีปัญหาด้านการแข่งขันการค้า ขณะที่พบว่าผู้ประกอบการ 40% คาดว่ายอดขายจะลดลงอย่างมากในปีนี้ และผู้ประกอบการถึง 70% ระบุว่ามีความเชื่อมั่นของผลประกอบการในปี 2557 อยู่ในระดับต่ำมาก เนื่องจากปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้น การขาดแคลนแรงงานและสภาพคล่องของธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในปริมณฑลและต่างจังหวัดจะได้รับผลกระทบมาก
ดังนั้นผู้ประกอบการต้องการให้ปัญหาทางการเมืองยุติลงโดยเร็ว เพราะหากสถานการณ์ยืดเยื้อต่อไปอีก ไม่มั่นใจว่าเอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด แม้ตอนนี้ภาคการผลิตจะไม่ได้รับผลกระทบมากก็ตาม แต่เอสเอ็มอีทั้งภาคการท่องเที่ยวและบริการ ต่างก็ไม่ต้องการเห็นความรุนแรงเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม สอท.ยังเชื่อว่าเอสเอ็มอีในปี 2557 จะขยายตัวได้ 3-4% โดยมีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจโลกขยายตัวดีขึ้น แต่หากสถานการณ์การเมืองไทยยังยืดเยื้อ อาจส่งผลให้การเติบโตของเอสเอ็มอีลดลงได้ ซึ่งทาง สอท.จะรอพิจารณาตัวเลขผลกระทบต่างๆ อีกครั้งในช่วงไตรมาส 2 ทั้งนี้ ในเบื้องต้นหากเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวดี จะสามารถพยุงเอสเอ็มอีให้เติบโตได้ตามคาด
ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุด คือ เร่งแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง รักษาเสถียรภาพเงินบาท และการยกระดับมาตรฐานการผลิต ลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ แก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค เช่น มาตรการด้านภาษี และแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่นอย่างจริงจัง นอกจากนี้ยังมองว่าหากมีรัฐบาลชุดใหม่ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ควรเข้ามาสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้แข่งขันได้ในอาเซียนมากขึ้น
นายธนิต โสรัตน์ รองประธาน สอท. ระบุว่า ในภาคการขนส่งแม้จะมีการชุมนุมในหลายพื้นที่ รวมทั้งมีม็อบชาวนาปิดบางเส้นทางจราจร แต่การขนส่งสินค้าไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากปัจจุบันเส้นทางการขนส่งมีหลายเส้นทางมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้าที่ผู้ประกอบการได้วางแผนปรับเปลี่ยนเส้นทางเพื่อพยุงต้นทุน ดังนั้นจึงไม่มีการปรับขึ้นราคาสินค้าในขณะนี้
ด้านนายเจษฎา ศรศึก ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาปัจจัยสนับสนุนการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 4-7 มีนาคม 2557 บีโอไอ โดยสำนักพัฒนาฯ จะร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 3 (บีโอไอ ขอนแก่น) นำผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมกว่า 30 ราย ร่วมกิจกรรมสร้างเครือข่ายการค้าการลงทุนและชักจูงการลงทุนในภาคใต้ เส้นทาง กรุงเทพฯ-กระบี่-ภูเก็ต เพื่อกระตุ้นและชักจูงการลงทุน ในประเทศในรูปแบบของการลงทุนข้ามพื้นที่ ( และก่อให้เกิดการต่อยอดการลงทุนในอุตสาหกรรมตามยุทธศาสตร์ของประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ทั้งนี้มีกิจกรรมที่น่าสนใจ ประกอบด้วย การเยี่ยมชมโรงงานอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในจังหวัดกระบี่ และภูเก็ต อาทิ ผู้ผลิตน้ำยางข้น ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มดิบ ผู้ผลิตสระน้ำและอุปกรณ์ ผู้ผลิตคอลลาเจนจากเป๋าฮื้อ เป็นต้น รวมถึงการจัดเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงการค้าการลงทุน ระหว่างผู้ประกอบการภาคกลางและภาคอีสานกับผู้ประกอบการภาคใต้ การ เข้าร่วมรับฟังการนำเสนอข้อมูลและศักยภาพของการลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ จากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่ หอการค้าจังหวัดกระบี่ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม บีโอไอตั้งเป้าหมายในการจัดกิจกรรมในรูปแบบของการส่งเสริมศักยภาพเอสเอ็มอีไทย ในการสร้างเครือข่ายการค้าการลงทุนและแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจระหว่างกันในภูมิภาคให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะกระจายไปยังภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้สามารถพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน และรองรับความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะเตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไทยมีตลาดของการกระจายสินค้าได้เพิ่มขึ้น สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้
วันที่ 28/01/2557 เวลา 11:57 น.