ซีไอเอ็มบีรุกสินเชื่อห้องแถว

นายจิรัชยุติ์ อัมยงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพาณิชย์ธนกิจ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ทิศทางการทำธุรกิจสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ครึ่งหลังของปี 2557 นี้ ธนาคารจะขยายฐานลูกค้าเอสเอ็มอีรายเล็ก วงเงินไม่ถึง 20 ล้านบาท เข้ามาในพอร์ตเพิ่มเติมจากเดิมที่พอร์ตสินเชื่อของธนาคารส่วนใหญ่เป็นลูกค้าขนาดกลางและขนาดใหญ่ เพื่อเป็นการสนองตอบนโยบายสนับสนุนสินเชื่อรายเล็กของทางการ ซึ่งธุรกิจเอสเอ็มอีรายเล็กมีศักยภาพอย่างมากในการเติบโต และเป็นส่วนสำคัญในโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศ

ขณะเดียวกัน ซีไอเอ็มบีเข้าไปช่วยลูกค้าเอสเอ็มอีเตรียมความพร้อมในการขยายตลาดไปเออีซี เนื่องจากการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะรายใหญ่เท่านั้น

โดยธนาคารตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพอร์ตเอสเอ็มอีขนาดเล็ก หรือสินเชื่อห้องแถว จากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 15 ใน 3 ปี และธนาคารตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ 11,000 ล้านบาท เพื่อให้สินเชื่อเติบโตร้อยละ 22 อย่างไรก็ตาม ธนาคารยอมรับว่ามีความระมัดระวัง และมีกระบวนการพิจารณาให้สินเชื่อแก่ลูกค้าเข้มงวดขึ้นเพื่อรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่วนเอ็นพีแอลอยู่ในระดับต่ำไม่ถึงร้อยละ 2 อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในครึ่งปีหลังสถานการณ์ของเอสเอ็มอีจะดีขึ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและภาคการเกษตร รวมถึงธุรกิจเกี่ยวข้องกับการผลิต

ธนาคารได้แบ่งทีมและกระจายเจ้าหน้าที่ (RM) ไปตามทำเล ประกอบด้วย ทีมภาคใต้, ภาคเหนือ, ภาคกลาง, ภาคตะวันตก, ภาคตะวันออก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนเขตกรุงเทพฯ จะมี 3 ทีมคอยดูแล พร้อมกันนี้ธนาคารได้เปิดตัว 2 ผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ สินเชื่อไวจัง สินเชื่อเพื่อการลงทุนและหมุนเวียนธุรกิจ เพิ่มความคล่องตัวด้วยวงเงินหลากหลาย ผ่อนสบาย รู้ผลเร็วใน 7 วัน ทำการเมื่อยื่นเอกสารครบถ้วน วงเงินตั้งแต่ 300,000-20 ล้านบาท และสินเชื่อไวจังเยอะจริง สินเชื่อเพื่อการลงทุนและหมุนเวียนด้วยวงเงินสูง 3 เท่าของมูลค่าหลักประกัน รู้ผลเร็วภายใน 7 วันทำการ อนุมัติวงเงินสูงสุด 3 เท่า

ขณะที่นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวในโอกาสครบรอบ 17 ปี การลอยตัวค่าเงินบาท เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2540 ว่า มีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดปัญหาซ้ำรอยเหมือนวิกฤติปี 2540 เนื่องจากปัจจุบันใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวมีการจัดการ ไม่ได้ใช้ระบบตะกร้าเงินเหมือนที่ผ่านมา และปัจจุบันระบบสถาบันการเงินมีความเข้มแข็งมาก มีภูมิคุ้มกันมากยิ่งขึ้นหลังจากที่ผ่านบทเรียนราคาแพงมาแล้วเมื่อปี 2540

ขณะเดียวกันการดูแลสถาบันการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนที่สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของเงินสกุลภูมิภาคเอเชีย จึงทำให้ประเทศไทยยังไม่เสียเปรียบเรื่องความสามารถทางการแข่งขันทางการค้า

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงครึ่งปีหลัง เงินบาทมีโอกาสที่จะอ่อนค่าในช่วงปลายไตรมาส 3-4 มาจากปัจจัยภายนอก คือนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกา ที่คาดว่าจะหยุดมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE) ในการประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐเดือนตุลาคมนี้ และจะเริ่มมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2558 ซึ่งจะมีผลทำให้เงินทุนต่างชาติไหลออกจากประเทศไทยมากขึ้นและทำให้เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลง โดยอาจจะเห็นถึง 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ ดังนั้นผู้ส่งออก ผู้นำเข้าจึงต้องเตรียมรับมือแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาท ลดความผันผวนของการดำเนินธุรกิจด้วยการใช้เครื่องมือทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น เห็นว่าควรให้ความสำคัญกับนโยบายดูแลอัตราแลกเปลี่ยนผสมผสานกับการใช้นโยบายเป้าหมายเงินเฟ้อ เพื่อไม่ให้ภาคเอกชนเสียเปรียบด้านการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง

 

 

วันที่ 8/07/2557 เวลา 7:03 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

732

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน