มทร.อีสานดัน Green University

พร้อมตั้งศูนย์อาเซียนอนุภาคลุ่มน้ำโขง

 

ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวถึงนโยบายและแนวทางในการพัฒนามหาวิทยาลัย ว่า ต้องการให้บุคลากรทุกคนช่วยกันสะท้อนปัญหาอุปสรรคในการทำงานของอธิการบดี และอยากเอาผลสะท้อนนั้นไปปรับปรุงและพัฒนาตนเอง ซึ่งตนต้องการให้บุคลากรเข้าใจการบริหารองค์กรขนาดใหญ่ เพราะหลักการบริหารงาน สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องความเห็นของคนในองค์กรจะต้องมีความเห็นที่ตรงกัน และอีกประการหนึ่งคือผมอยากมาดูความก้าวหน้าขององค์กร โดยเฉพาะของวิทยาเขตว่าที่อธิการบดีพูดเป็นนโยบาย ทั้งสาธารณะและในที่ประชุม อยากทราบว่าทางหน่วยงานได้เอาไปขับเคลื่อนหรือไม่ อย่างน้อยเรามากระตุ้นให้องค์กรที่เรากำกับดูแลแต่ละวิทยาเขตเดินไปข้างหน้าได้

“จุดเด่นของ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร คือได้เปรียบพื้นที่ มีภูมิทัศน์ที่ดี มีความเป็นธรรมชาติ ที่สำคัญเขาสามารถเชื่อมประสานชุมชนท้องถิ่นได้ เพราะการได้เปรียบในเชิงพื้นที่นี้เองที่เป็นสะพานไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่น หากเราต้องการเป็น ม.เทคโนโลยี ที่ให้บริการทางวิชาการแก่สังคมเป็นไปโดยง่าย นับว่าที่นี่ได้เปรียบกว่ามหาวิทยาลัยในเมืองค่อนข้างมาก กอปรกับสามารถเป็นแหล่งเชื่อมโยงในกลุ่ม AEC ได้อย่างดีเยี่ยม วิทยาเขตสกลนครยังได้เปรียบในแง่ของการไปสานสัมพันธไมตรีกับมหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงได้ง่าย เพราะอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ไกลกันมากนัก สามารถไปเช้ากลับเย็นได้ นี่คือสิ่งที่วิทยาเขตสกลนครจะได้เปรียบในแง่ของการขับเคลื่อนการพัฒนามหาวิทยาลัยเพราะอยู่ติดกับกลุ่มประเทศในอนุภาคลุ่มน้ำโขงมากกว่าที่อื่นด้วยซ้ำไป”

ผศ.ดร.วิโรจน์ กล่าวต่อว่า ภาพรวมวิทยาเขตสกลนคร โดยเฉพาะคณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี บุคลากรที่เป็นคนหนุ่มสาวไฟแรง มีความตั้งใจสูง ในการทำงานตามกรอบภาระงาน บุคลากรของวิทยาเขตที่ขอไปศึกษาต่อหลายคนก็ไขว่คว้าหาทุนจากแหล่งอื่นๆ ทำให้มหาวิทยาลัยประหยัดงบประมาณในการพัฒนาบุคลากรลงไปได้มาก นอกจากนี้ตนยังมุ่งเน้นให้ มทร.อีสานเป็นมหาวิทยาลัยทางเทคโนโลยีที่สมบูรณ์ บนพื้นฐานของกรอบภาระงาน 4 ภารกิจ ได้แก่ การจัดการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งจำเป็นต้องมีองค์ประกอบหลายส่วน เช่น ระบบการบริหารจัดการต้องดี ระบบการติดตามตรวจสอบการเงินและงบประมาณ อย่างระบบ ERP มาช่วย รวมทั้งระบบ HR เพื่อใช้สำหรับการบริหารงานบุคคลขององค์กร อีกทั้งยังมองเรื่องการพัฒนามหาวิทยาลัยไปถึงเรื่องการทำให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green-University) คือการทำให้พื้นที่มหาวิทยาลัยมีสภาพของความเป็นเมืองที่มีต้นไม้ร่มรื่น มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งผลลัพธ์ที่ตามมาคือ การช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การเพิ่มพื้นที่ให้นักศึกษามาใช้ร่วมกัน ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมและอากาศที่ดี สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้กับบุคลากรของสถาบัน เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและพลังงาน เป็นต้น

“ในปีการศึกษาใหม่นี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จะเปิดภาคเรียนพร้อมกันทั่วประเทศในเดือนสิงหาคม 2557 เพื่อสนองนโยบายการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน วันนี้ มทร.อีสาน มีการเตรียมการบุคลากรในการเป็นบุคลากรของ AEC คือเรื่องภาษา ซึ่งภาษาที่ใช้คงไม่ใช่ภาษาไทยอย่างเดียวแต่ต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลและภาษาท้องถิ่นในกลุ่ม AEC ที่อยู่ในกลุ่มลุ่มน้ำโขง ซึ่งเราต้องเรียนรู้และทำความรู้จักกับภาษาเพื่อนบ้าน เช่น ภาษาลาว ภาษาพม่า หรือภาษาเวียดนามบ้าง ขณะนี้มหาวิทยาลัยเห็นชอบให้มีการจัดตั้งศูนย์ภาษาและศูนย์อาเซียนศึกษา โดยเฉพาะศูนย์อาเซียนศึกษาให้แต่ละวิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตกาฬสินธุ์ เปิดศูนย์เวียดนามศึกษา วิทยาเขตสุรินทร์ เปิดศูนย์เขมรศึกษา วิทยาเขตสกลนคร เปิดศูนย์ลาวศึกษา และวิทยาเขตขอนแก่น เปิดศูนย์พม่าศึกษา ซึ่งแต่ละวิทยาเขตจะเน้นการเรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมและภาษาของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากศิลปวัฒนธรรมจะเป็นสื่อในการเชื่อมโยงกันระหว่างประเทศในกลุ่ม AEC ที่ดีที่สุด เพราะศิลปวัฒนธรรมของอนุภาคลุ่มน้ำโขงไม่ได้มีความแตกต่างกันมาก และนี่คือตัวอย่างหนึ่งที่เราได้มีการเตรียมพร้อมเพื่อการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสำหรับบุคลากร มทร.อีสาน” ผศ.ดร.วิโรจน์ กล่าว

 

 

วันที่ 9/07/2557 เวลา 8:29 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

710

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน