ผุดท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือ เมืองตรัง
ปัจจุบันจังหวัดตรัง มีท่าเทียบเรือที่รองรับการส่งออกอยู่แล้ว 2 ท่า คือท่าเทียบเรือกันตัง และท่าเทียบเรือของเอกชน แต่เนื่องจากปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความจำเป็นที่จะสร้างท่าเทียบเรือแห่งใหม่ โดยล่าสุดทางกรมเจ้าท่า ได้ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตรัง สร้างท่าเทียบเรือแห่งใหม่ขึ้นอีก 1 แห่ง คือท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือ อ.กันตัง จ.ตรัง โดยใช้พื้นที่ของ อบจ.ตรังกว่า 100 ไร่ ขณะนี้การก่อสร้างมีผลงานสะสม 64.39% เร็วกว่ากำหนดที่ตั้งไว้ 27% โดยเริ่มก่อสร้าง 31 มี.ค.2555 สิ้นสุดสัญญา 16 ก.ย.2557 (รวม 900 วัน) งบประมาณ 406,945,000 บาท
ในการก่อสร้างดังกล่าวทางคณะกรรมการกำกับการปฏิบัติตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ได้มีการคุมเข้มผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง พร้อมพบว่าข้อมูลของบริษัทผู้รับจ้างจัดทำ EIA บางอย่างมีพิรุธไม่น่าเชื่อถือ จึงให้ทาง อบจ.ประสานกรรมการประชาชนไปช่วยตรวจสอบใหม่ร่วมกัน ก่อนนำรายงานเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรม ชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป
เรื่องดังกล่าว นายกิจ หลีกภัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ อบจ.ตรังได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการกำกับการปฏิบัติตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างท่าเรือชายฝั่งที่จังหวัดตรัง หรือท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือ โดยมีนายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมกว่า 20 คน
นายกิจ เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับการประชุมในครั้งนี้เป็นการติดตามผลการดำเนินการจัดทำรายงานการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบและติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างท่าเรือชายฝั่งที่จังหวัดตรัง ระยะก่อสร้างปีงบประมาณ 2556 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม, นำเสนอผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเพื่อนำเสนอมาตรการที่เปลี่ยนแปลงและสภาพปัจจุบันของโครงการ
“ทั้งนี้ตัวแทนจากบริษัท อีสเทิร์นไทยคอนซัลติ้ง 1992 จำกัด ซึ่งได้รับมอบหมายจากกรมเจ้าท่าเป็นผู้จัดทำรายงานการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบ และติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้สรุปพบว่า โครงการสามารถปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมดังที่ระบุไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้อย่างต่อเนื่อง” นายกิจ กล่าว
นายกิจ กล่าวต่อไปว่า ส่วนผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมในด้านอุตุนิยมวิทยาและคุณภาพอากาศ ระดับเสียง คุณภาพน้ำผิวดิน สัณฐานวิทยาชายฝั่งและสมุทรศาสตร์ นิเวศวิทยาทางน้ำ ทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรสัตว์ป่า การจัดการกากของเสีย การคมนาคมทางบก การคมนาคมทางน้ำ การระบายน้ำและการควบคุมน้ำท่วม สภาพเศรษฐกิจและสาธารณสุข อาชีวอนามัยและความปลอดภัย พบว่า ผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานกำหนด
“ในกรณีที่พบผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานกำหนดนั้น ทางโครงการได้พยายามปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้การดำเนินโครงการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบน้อยที่สุด และจะดำเนินการตรวจสอบสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งนำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป” นายกิจ กล่าว
นายกิจ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกำกับการปฏิบัติตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่ร่วมประชุมในครั้งนี้ จำนวน 2 ท่านได้ท้วงติงผลการตรวจวิเคราะห์นิเวศวิทยาทางน้ำ ที่บริษัท อีสเทิร์นไทยคอนซัลติ้ง 1992 จำกัด ได้เสนอในรายงานว่าพบแพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์ชนิดที่พบมากที่สุดของทั้ง 3 สถานีเป็นชนิดเดียวกัน และเป็นชนิดที่บ่งชี้ได้ว่าคุณภาพน้ำผิวดินบริเวณดังกล่าวมีแร่ธาตุอาหารสมบูรณ์ และสัตว์หน้าดินบริเวณเหนือน้ำพบปูเสฉวนเพียงชนิดเดียว ซึ่งเป็นข้อมูลไม่น่าเชื่อถือ เช่นเดียวกับการรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบ ด้านคุณค่าต่อคุณภาพชีวิตสาธารณสุข อาชีวอนามัยและความปลอดภัย ซึ่งระบุว่าไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นภายในโครงการ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ค่อนข้างเหลือเชื่อ
ด้านนายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ เปิดเผยว่า จากข้อท้วงติงในลักษณะเดียวกัน มองว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องศึกษาให้ละเอียดชัดเจน ข้อมูลต้องไม่จัดทำขึ้นมาเอง บริษัท อีสเทิร์นไทยคอนซัลติ้ง 1992 จำกัด ต้องทำการตรวจสอบข้อมูลที่ได้มา และต้องดำเนินการประสานกรรมการประชาชนไปช่วยตรวจสอบใหม่ร่วมกัน ก่อนที่จะนำรายงานการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบ และติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมโครงการฯ เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
“โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือ กรมเจ้าท่าสนับสนุนงบประมาณ 406,945,000 บาท ดำเนินการก่อสร้างบนที่ดินขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง มีพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ ซึ่งที่ดินดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่หลังท่า พื้นที่เทกองสินค้า อาคารสำนักงาน ที่จอดรถ ที่ตั้งระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ถนนในโครงการ และเชื่อมต่อจนถึงถนนไปบ้านนาเกลือเหนือ โดยสะพานท่าเรือกว้าง 29 เมตร ยาว 185 เมตร ความลึกหน้าท่า 5.5 เมตร ท่าเรือรองรับเรือบรรทุกสินค้าเทกอง ขนาด 4,000 ตันกรอส เรือจอดเทียบท่าได้ 2 ลำ/ครั้ง เป็นท่าเรือสินค้าส่งออก 1 ท่า และนำเข้า 1 ท่า” นายสมชาย กล่าว
ล่าสุด นายกิจ ร่วมการประชุมคณะกรรมการกำกับการปฏิบัติตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างท่าเรือชายฝั่งที่ จ.ตรัง (ท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือ) โดยมีนายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ เป็นประธานการประชุม ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม, นำเสนอผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเพื่อนำเสนอมาตรการที่เปลี่ยนแปลงและสภาพปัจจุบันของโครงการ นอกจากนี้มีท่าเทียบเรือที่ตะเสะ เพื่อการท่องเที่ยว ยังเปิดไม่ได้เพราะไม่มีระบบประปา ได้ของบรัฐบาล 24 ล้านบาท กำลังดำเนินการสร้างระบบประปา ซึ่งคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดตรังมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
ทองขาล กันหาจันทร์/ตรัง
วันที่ 23/01/2557 เวลา 11:58 น.