มาเลเซีย (15-21 ม.ค. 57)
อันวาร์ อิบรอฮีม ถูกห้ามเข้าประเทศญี่ปุ่น
นายอันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำฝ่ายค้านมาเลเซีย เปิดเผยว่า หลังจากที่เขาเดินทางถึงสนามบินนาริตะของญี่ปุ่นเมื่อเช้าวันอาทิตย์ ก็ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองว่า ตนไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศ เนื่องจากเคยต้องโทษในคดีประพฤติผิดทางเพศและใช้อำนาจในทางที่ผิดเมื่อปี 2542 เมื่อตนแจ้งว่าเคยเยือนญี่ปุุ่นสามครั้งแล้วนับจากปี 2549 แต่อีกฝ่ายตอบกลับแบบคลุมเครือว่าปฏิบัติตามรายงานล่าสุด
อดีตรองนายกรัฐมนตรีอันวาร์ กล่าวว่า ขอประท้วงต่อการกระทำที่ไม่มีเหตุผลอันสมควรของรัฐบาลญี่ปุ่น ในการปฏิเสธให้เข้าประเทศและปฏิเสธสิทธิชอบธรรมในการเดินทางอย่างเสรี และทำให้อดคิดไม่ได้ว่า เรื่องนี้อาจจะมีเบื้องลึกเบื้องหลังทางการเมืองก็เป็นได้
คดีที่นายอันวาร์ถูกตัดสินมีความผิดเมื่อ 15 ปีก่อน เป็นคดีที่ถกเถียงอย่างมากในมาเลเซีย โดยจำนวนมากมองว่าเป็นคดีกลั่นแกล้งทางการเมือง ด้านพรรคความยุติธรรมของประชาชน ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านภายใต้นายอันวาร์ ออกแถลงการณ์ระบุว่าการห้ามผู้นำฝ่ายค้านเข้าญี่ปุ่น จุดคำถามว่ารัฐบาลมาเลเซียอาจเกี่ยวข้อง พรรคฝ่ายค้านมาเลเซียมักกล่าวหารัฐบาลซึ่งสูญเสียที่นั่งแก่ฝ่ายค้านอย่างต่อเนื่องว่า พยายามคุกคามและกุข้อหาต่าง ๆ นานาเพื่อสกัดการกลับคืนการเมืองของอดีตรองนายกรัฐมนตรี
แหล่งที่มา: bangkokbiznews.co.th และ abc.net.au
สุลต่านมาเลเซียหนุนคำสั่งศาล สงวนคำว่าอัลเลาะห์ไว้เฉพาะชาวมุสลิม
สุลต่าน อับดุล ฮาลิม มูอัดซาม ชาห์ (Sultan Abdul Halim Mu’adzam Shah) แห่งมาเลเซีย ทรงประกาศสนับสนุนคำสั่งศาลที่ห้ามมิให้ชาวมาเลเซียศาสนาอื่น ๆ ใช้คำว่า อัลเลาะห์ เพื่อพระผู้เป็นเจ้าของตัวเอง ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับบรรดาชนกลุ่มน้อยทางศาสนาในมาเลเซียอย่างมาก
สุลด่านอับดลุ ฮาลิม ให้ความเห็นว่า ศาสนาอื่น ๆ ควรทำความเข้าใจถึงสิทธิพิเศษของชาวมุสลิมในการใช้คำว่า อัลเลาะห์ เพื่อเรียกพระเจ้าของตัวเอง และย้ำว่า ในสังคมพหุนิยมนั้น เรื่องอ่อนไหวทางศาสนา โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม จำต้องได้รับความระมัดระวังเป็นพิเศษ
อนึ่ง ความขัดแย้งเกี่ยวกับคำว่า อัลเลาะห์ เกิดขึ้นเมื่อราวปี 2009 เมื่อหนังสือพิมพ์ชาวคริสต์ฉบับหนึ่งในมาเลเซีย ได้ใช้คำว่า อัลเลาะห์ เพื่อเอ่ยถึงพระเจ้าของชาวคริสต์ จนถูกฟ้องร้อง ล่าสุด ศาลอุทธรณ์ของมาเลเซียตัดสินว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด โดยตำรวจมาเลย์เซียกำลังทำการสอบสวนพระนิกายเยซูอิสต์ เจ้าของหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว ในข้อหาละเมิดกฎหมาย “ปลุกระดม” (Sedition Act) ซึ่งอาจทำให้เขาถูกจำคุกเป็นเวลา 3 ปี
แหล่งที่มา: rt.com/