ตลาดภูธร-กลุ่ม CLMV โอกาสทองธุรกิจอีเวนท์ไทย

หวังชิงส่วนแบ่งมูลค่าต่างประเทศ 1,412 ล้านบาท

ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมือง ยังเป็นปัจจัยหลักที่กดดันธุรกิจอีเวนท์ในปี 2557 ให้เติบโตต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น อย่างไรก็ตาม การขยายธุรกิจของผู้ประกอบการไปสู่ตลาดต่างจังหวัด และการส่งเสริมให้หัวเมืองต่างจังหวัดที่สำคัญเป็นเมืองแห่งไมซ์ เป็นปัจจัยหนุนให้ธุรกิจอีเวนท์ภายในประเทศขยายตัว รวมถึงความต้องการการจัดงานอีเวนท์ในประเทศกลุ่ม CLMV เป็นโอกาสของผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์ไทยในต่างประเทศ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการว่า ธุรกิจอีเวนท์จะเติบโตขึ้นจากมูลค่าประมาณ 14,000 ล้านบาท ในปี 2556 ไปสู่มูลค่าประมาณ 14,300-14,700 ล้านบาท ในปี 2557 หรือเติบโตขึ้นร้อยละ 2-5 ผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์ขนาดกลางและเล็กควรปรับกลยุทธ์จากการเป็นผู้บริหารการจัดงาน มาสู่การเป็นผู้ให้บริการสื่อสารการตลาดอย่างครบวงจร ในขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์ขนาดใหญ่อาจขยายธุรกิจไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ในยุคปัจจุบันผู้ประกอบการมีทางเลือกในการทำการตลาดเพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้าและบริการในรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดโปรโมชั่น การโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ รวมถึงการทำการตลาดในเชิงกิจกรรม หรือการจัดงานอีเวนท์ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงจากผู้ประกอบการ เนื่องจากสามารถสร้างประสบการณ์และการมีส่วนร่วมจากลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง ความนิยมในการจัดงานอีเวนท์ของผู้ประกอบการดังกล่าวนำมาซึ่งการเติบโตของธุรกิจบริหารการจัดงาน หรือธุรกิจอีเวนท์ ซึ่งมีบทบาทสนับสนุนผู้ประกอบการให้การจัดงานอีเวนท์ประสบความสำเร็จบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

ปี 57 ธุรกิจอีเวนท์ยังเติบโต

การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2556 ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้ประชาชนระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย ประกอบกับช่วงปลายปีซึ่งถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการจะทุ่มงบประมาณในการจัดงานอีเวนท์ เพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ก็ยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยทางด้านการเมือง ส่งผลให้ผู้ประกอบการเลือกที่จะชะลอการจัดงานอีเวนท์ออกไป หรือยกเลิกการจัดงานอีเวนท์ ธุรกิจอีเวนท์ในปี 2556 จึงไม่เติบโตตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้

สำหรับในปี 2557 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องจากปี 2556 ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการจัดงานอีเวนท์ในช่วงต้นปีอยู่ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาทิศทางการใช้งบประมาณของผู้ประกอบการในภาพรวมภายใต้ภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองแล้ว จะพบว่าผู้ประกอบการย่อมให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด

ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงมีแนวโน้มจัดสรรงบประมาณการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ มายังการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายมากขึ้น เนื่องจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเป็นการใช้งบประมาณสร้างประสบการณ์และการมีส่วนร่วมกับสินค้าและบริการสำหรับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง และเป็นการสื่อสารสองทางระหว่างผู้ประกอบการและลูกค้า (Two-way Communication) รวมถึงยังสามารถวัดผลความสำเร็จได้อย่างชัดเจนมากกว่าการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ที่เป็นเพียงการใช้งบประมาณสื่อสารจากผู้ประกอบการไปยังลูกค้าในทิศทางเดียว (One-way Communication) รวมถึงยังวัดผลความสำเร็จในการรับรู้และกระตุ้นให้เกิดการซื้อสินค้าและบริการจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ได้ยาก หรือกล่าวโดยสรุปได้ว่า ภายใต้ภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองในปัจจุบัน การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ซึ่งรวมถึงการจัดงานอีเวนท์ก็ยังสามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบการได้ดีกว่าการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ

จากแนวโน้มการจัดสรรงบประมาณการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ มายังการจัดงานอีเวนท์มากขึ้น ประกอบกับการชะลอการจัดงานอีเวนท์ออกไปหรือยกเลิกการจัดงานอีเวนท์ของผู้ประกอบการในปี 2556 ซึ่งคาดว่าผู้ประกอบการน่าจะทยอยกลับมาจัดงานอีเวนท์ในปี 2557 นี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประมาณการว่า ธุรกิจอีเวนท์จะเติบโตขึ้นจากมูลค่าประมาณ 14,000 ล้านบาท ในปี 2556 ไปสู่มูลค่าประมาณ 14,300-14,700 ล้านบาท ในปี 2557 หรือเติบโตขึ้นร้อยละ 2-5 โดยแบ่งเป็นมูลค่าธุรกิจอีเวนท์ที่จัดภายในประเทศประมาณ 13,010-13,288 ล้านบาท หรือเติบโตไม่เกินร้อยละ 4 และเป็นมูลค่าธุรกิจอีเวนท์ที่จัดต่างประเทศประมาณ 1,290-1,412 ล้านบาท หรือเติบโตไม่เกินร้อยละ 21 สอดคล้องตามทิศทางการมุ่งขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศของผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์ขนาดใหญ่

ในอดีตที่ผ่านมา งานอีเวนท์เป็นรูปแบบการทำการตลาดที่ได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการเป็นอย่างสูง ประกอบกับการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์ไทย ทั้งในด้านความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี รวมถึงองค์ความรู้ในการบริหารจัดการงานอีเวนท์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ธุรกิจอีเวนท์สามารถเติบโตได้มากกว่าร้อยละ 10 ต่อปี อย่างไรก็ตาม จากการที่ธุรกิจอีเวนท์มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงไปในทิศทางเดียวกันกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

ดังจะเห็นได้จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและปัจจัยทางด้านการเมืองในปี 2556 ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่กดดันธุรกิจอีเวนท์ในปี 2556 ให้เติบโตต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น โดยพบว่าในปี 2556 นั้น ธุรกิจอีเวนท์มีมูลค่าติดลบกว่าร้อยละ 7 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า หากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองในต้นปี 2557 นี้ ยืดเยื้อไปจนถึงช่วงกลางปี ประกอบกับมีปัจจัยลบด้านอื่นๆ ที่จะกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความล่าช้าในการอนุมัติโครงการภาครัฐ รวมถึงภัยธรรมชาติ ซึ่งเป็นเหตุให้ประชาชนมีความระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการจัดงานอีเวนท์ออกไป หรือยกเลิกการจัดงานอีเวนท์ ก็อาจส่งผลให้ธุรกิจอีเวนท์ในปี 2557 เติบโตได้เพียงร้อยละ 2 เท่านั้น ในขณะเดียวกัน หากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองในต้นปี 2557 นี้ ไม่ยืดเยื้อ รวมถึงมีปัจจัยหนุนในกลุ่มธุรกิจต่างๆ ธุรกิจอีเวนท์ก็จะสามารถเติบโตได้ถึงร้อยละ 5 ตามที่คาดการณ์ไว้ได้

ตลาดภูธรและกลุ่ม CLMV โอกาสอีเวนท์ไทย

แม้ว่าธุรกิจอีเวนท์จะอ่อนไหวต่อปัจจัยการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ยังมีช่องว่างในตลาดทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศที่เป็นโอกาสในการขยายธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ตลาดต่างจังหวัดผลักดันให้ธุรกิจอีเวนท์ภายในประเทศขยายตัว การขยายตัวของความเป็นเมือง ประกอบกับการเล็งเห็นถึงขนาดตลาดผู้บริโภคและศักยภาพทางเศรษฐกิจในพื้นที่ต่างจังหวัด ที่จะนำมาซึ่งกำลังซื้อของคนในพื้นที่ ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ จึงหันมามุ่งขยายธุรกิจจากกรุงเทพฯ ไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค ส่งผลให้มีความต้องการจัดงานอีเวนท์เพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้าและบริการมากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ เราจะเห็นได้ว่า พื้นที่ต่างจังหวัดยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยทางด้านการเมืองน้อยกว่ากรุงเทพฯ จึงส่งผลให้การจัดงานอีเวนท์ในต่างจังหวัดมีโอกาสถูกชะลอหรือยกเลิกในระดับต่ำกว่าการจัดงานอีเวนท์ในกรุงเทพฯ

นอกจากธุรกิจอีเวนท์จะขยายตัวไปต่างจังหวัดสอดคล้องตามการขยายธุรกิจของผู้ประกอบการแล้ว การส่งเสริมให้หัวเมืองต่างจังหวัดที่สำคัญ ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น พัทยา และภูเก็ต เป็นเมืองแห่งไมซ์ (Meetings, Incentives, Conventions and Exhibitions: MICE) ประกอบกับความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในจังหวัดดังกล่าว เช่น สถานที่จัดประชุม พื้นที่การจัดแสดงสินค้า เส้นทางการคมนาคมขนส่ง ระบบสื่อสารและโทรคมนาคม ระบบสาธารณูปโภค บริการด้านโรงแรมและที่พัก บุคลากร เป็นต้น ก็ยิ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธุรกิจอีเวนท์ยังสามารถขยายตัวในต่างจังหวัดได้เป็นอย่างดีจากการจัดงานโดยภาครัฐ ผู้ประกอบการ สมาคม รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งจะใช้บริการธุรกิจอีเวนท์ในรูปแบบของผู้บริหารจัดการประชุม สัมมนา และงานแสดงสินค้าอีกด้วย

CLMV ตลาดใหม่ธุรกิจอีเวนท์

การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม (CLMV) ที่ส่งผลให้ประชาชนในประเทศมีกำลังซื้อสูงขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้ประเทศดังกล่าวเป็นเป้าหมายด้านการค้าการลงทุนของผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทข้ามชาติและผู้ประกอบการไทย ส่งผลให้มีความต้องการการจัดงานอีเวนท์เพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้าและบริการมากขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่ขีดความสามารถของผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์ในประเทศกลุ่ม CLMV ยังจำกัด ทั้งในด้านความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี รวมถึงองค์ความรู้ในการบริหารจัดการงานอีเวนท์ จึงถือได้ว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญของผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์ไทย ที่มีความพร้อมมากกว่าในการเข้าไปให้บริการในประเทศดังกล่าว

นอกจากนี้ การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ก็ยังเป็นปัจจัยผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศกลุ่ม CLMV มีการขยายตัวยิ่งขึ้น และเอื้อให้ผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์ไทยสามารถเข้าไปประกอบธุรกิจยังประเทศดังกล่าวได้สะดวกขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์ขนาดใหญ่ของไทยได้เริ่มเข้าไปเจาะตลาดประเทศกลุ่ม CLMV

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศเมียนมาร์ ที่ได้มีการรับจัดงานอีเวนท์และแคมเปญขนาดใหญ่ในปีที่ผ่านมา เช่น งานเฉลิมฉลองเคาท์ดาวน์เข้าสู่ปีใหม่ งานเทศกาลสงกรานต์ งานมหกรรมกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 27 เป็นต้น รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์ขนาดใหญ่ของไทยยังริเริ่มสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์ของประเทศกลุ่ม CLMV ในหลากหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น การร่วมหุ้นจัดตั้งบริษัท การร่วมก่อสร้างสถานที่จัดงานอีเวนท์เพื่อส่งเสริมให้ประเทศกลุ่ม CLMV มีสถานที่รองรับการจัดการงานที่จะสามารถต่อยอดธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ อีเวนท์ขนาดใหญ่ของไทยได้ เป็นต้น

แนะปรับกลยุทธ์การแข่งขัน

ภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองในปัจจุบัน ก่อให้เกิดความเสี่ยงสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์ในระดับสูง การรับมือโดยการกระจายความเสี่ยงผ่านการขยายธุรกิจไปในต่างจังหวัด และเจาะตลาดใหม่ในต่างประเทศอาจไม่เพียงพอ ผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์จึงควรปรับกลยุทธ์การแข่งขันควบคู่กันไปด้วย โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์ขนาดกลางและเล็กควรปรับกลยุทธ์จากการเป็นผู้บริหารการจัดงานมาสู่การเป็นผู้ให้บริการสื่อสารการตลาดอย่างครบวงจร กล่าวคือ ประยุกต์ใช้จุดแข็งในด้านความเข้าใจความต้องการของผู้เข้าร่วมการจัดงานอีเวนท์ มาต่อยอดในการเป็นผู้ให้บริการสื่อสารการตลาดอย่างครบวงจร ทั้งในรูปแบบการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในรูปแบบอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการจัดการงานอีเวนท์

สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์ขนาดใหญ่ สามารถใช้ข้อได้เปรียบทั้งในด้านความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี รวมถึงองค์ความรู้ในการบริหารจัดการงานอีเวนท์ ผนวกกับเครือข่ายพันธมิตรที่มีอยู่ ขยายธุรกิจไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจสื่อโฆษณา รวมถึงธุรกิจบันเทิง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศในกลุ่ม CLMV ที่พบว่ารูปแบบวิถีชีวิตและรสนิยมของผู้คนมีความคล้ายคลึงกับคนไทย ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์ขนาดใหญ่สามารถนำองค์ความรู้ในด้านความเข้าใจในความต้องการของคนไทยประยุกต์ใช้กับผู้คนในประเทศดังกล่าวได้ แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการจำเป็นต้องพิจารณาถึงความแตกต่างด้านรูปแบบวิถีชีวิตและรสนิยมในบางประการที่เป็นประเด็นอ่อนไหวควบคู่กันไป เพื่อให้การขยายธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านเป็นไปด้วยความราบรื่น

ศูนย์วิจันกสิกรไทย

 

 

วันที่ 19/01/2557 เวลา 9:41 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

238

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน