พม่าผงาดเวทีสากล ลุยเจ้าภาพประชุมอาเซียน
พม่าผงาดเวทีสากล เป็นเจ้าภาพประชุมอาเซียนศุกร์นี้ ที่เมืองพุกาม ขณะที่นักวิชาการ มองว่า พม่าคาดหวังสูงเกินไป ...
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน เมื่อ 15 ม.ค.ว่า พม่าเริ่มแสดงบทบาททางการเมืองในระดับนานาชาติเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีในสัปดาห์นี้ ด้วยการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่เมืองพุกาม หรือ บากัน ในวันที่ 17 ม.ค.นี้
โดยนายถั่น ฮตุต เจ้าหน้าที่อาวุโสแห่งกระทรวงวางแผนแห่งชาติแถลงว่า พม่าพร้อมเป็นเจ้าภาพอาเซียน ขณะที่อาเซียนเป็นดาวรุ่งในเวทีการเมืองและเศรษฐกิจโลก เขาเผยด้วยว่า ภาคธุรกิจได้บริจาครถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู และลีมูซีน เพื่อรับส่งผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้
ด้านนายฌอน เทอร์เนลล์ รองศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยแมคควารี ในออสเตรเลีย ชี้ว่า พม่าเคยถูกมองว่าเป็นจุดอ่อนในอาเซียน แต่ขณะนี้พม่าสัญญาจะเป็นผู้ให้อย่างสร้างสรรค์ แต่อันตรายใหญ่หลวงที่สุดในการเป็นประธานอาเซียนของพม่า ก็คือการคาดหวังในพม่าสูงเกินไป การที่พม่าประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ที่กรุงเนปิดอว์เมื่อปีที่แล้ว อาจทำให้เกิดการคาดหวังเกินจริงว่า พม่าจะสามารถรับมือกับความท้าทายเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญๆ ได้ เมื่อครั้งชาติอื่นๆ อาทิ ลาว กัมพูชา เป็นเจ้าภาพอาเซียน ประชาคมโลกไม่ได้คาดหวังมากนัก ผลงานจึงออกมาดีเกินคาดหวัง แต่กรณีพม่าอาจไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อเดือนต.ค.2556 ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เผยว่า “ธีม” หรือแก่นของการเป็นประธานอาเซียนของพม่าคือ “ก้าวไปข้างหน้าด้วยเอกภาพในประชาคมที่สันติและเจริญรุ่งเรือง”
ด้านนายคาร์ล เทเยอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชี้ว่า การที่พม่ากระตือรือร้นจะเป็นเจ้าภาพอาเซียนในปีนี้ก่อนลาว เป็นสัญญาณว่า รัฐบาลพม่าเร่งกระบวนการเปิดตัวเองสู่ภูมิภาคและโลก แต่พม่าจะเดินตามระเบียบวาระที่วางไว้แล้ว ไม่ออกนอกลู่นอกทาง ในปี 2549 พม่าถูกบีบให้สละตำแหน่งประธานหมุนเวียนของอาเซียน เพราะถูกโจมตีเรื่องสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย แต่หลังรัฐบาลเต็ง เส่ง เริ่มปฏิรูปประเทศในปี 2554 พม่าก็กลายเป็นดาวรุ่ง ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ นักลงทุนหลั่งไหลเข้าพม่าซึ่งมีประชากรมากกว่า 60 ล้านคน และมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์
ขณะที่อาเซียนซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า 600 ล้านคน ตั้งเป้ารวมฐานการผลิตและตลาดเป็นหนึ่งเดียว ภายใต้ธงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ซึ่ง รศ.เทอร์เนลล์ ชี้ว่า พม่าจะได้ประโยชน์มากจากเรื่องนี้ แต่นักลงทุนก็ยังระวังตัว และการที่พม่าเป็นพันธมิตรกับจีนมายาวนาน อาจทำให้มีปัญหากับเพื่อนบ้านอาเซียนในกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนและสมาชิกอาเซียนหลายชาติ โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ เวียดนาม แย่งกันครอบครอง.