ปฏิรูประบบแนะแนว ก่อน “ครูแนะแนวมืออาชีพ” สูญสิ้น
มนุษย์มีศักดิ์ศรี มีศักยภาพ เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าสูงยิ่ง จะมีความสุขก็ต่อเมื่อมีโอกาสได้ใช้ความรู้ความสามารถสติปัญญาอย่างเต็มที่ หากได้รับการแนะแนวที่ถูกต้อง จะสามารถช่วยตนเองให้พัฒนาเจริญงอกงามถึงขีดสุดตลอดจนสามารถดำเนินชีวิตเป็นประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม นี่คือปรัชญาส่วนหนึ่งของการแนะแนวที่เห็นว่าการให้คำปรึกษาเป็นหัวใจสำคัญของการแนะแนว โดยเล็งเห็นว่าเด็กและเยาวชนที่อยู่ในวัยเรียนเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ และพบเจอความเสี่ยงในทุกด้าน ดังนั้น กระบวนการแนะแนวเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กและเยาวชนได้รู้จักตนเอง รู้จักผู้อื่น รู้จักสิ่งแวดล้อม รู้จักคิด ตัดสินใจ แก้ปัญหาในช่วงวิกฤติ วางแผนการศึกษาต่อ ประกอบอาชีพ และสามารถปรับตัวได้อย่างมีความสุขในชีวิตได้พัฒนาตนเองให้ถึงขีดสุดในทุกด้าน
“การปฏิรูประบบแนะแนว: ประสบการณ์จากต่างประเทศ” หัวข้อสำคัญที่สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดประชุมเสวนาวิชาการนานาชาติด้านการศึกษา ครั้งที่ 6 โดยได้รับเกียรติจาก ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รองประธานคณะกรรมการ สสค.คนที่ 2 เป็นประธาน และได้เชิญ นางซาโตโกะ ยาโนะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ยูเนสโก ประเทศไทย ซึ่งได้นำประสบการณ์จากการศึกษาระบบแนะแนวของประเทศต่างๆ พบว่า ประสบปัญหาเหมือนๆ กัน ในเรื่องคุณภาพของครูแนะแนวที่ไม่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ และก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและตลาดแรงงาน อีกทั้ง ครูแนะแนวยังถูกแยกการทำงานอย่างโดดเดี่ยว ขาดการประสานงานกับครูวิชาอื่นๆ และไม่สนองตอบกับปริมาณความต้องการเฉพาะของเด็กนักเรียนที่มีความแตกต่างกันมาก เนื่องเพราะครูแนะแนวมีปริมาณไม่เพียงพอ อีกทั้ง ระบบแนะแนวกับระบบการจัดหางานโดยภาครัฐ สถานประกอบการ นายจ้างไม่เชื่อมประสานกัน ดังนั้น มาตรการในการแก้ไขการแนะแนวการศึกษาเพื่ออาชีพ จึงต้องใช้ 5 ปัจจัย คือ 1.การมีกฎระเบียบรองรับ โดยเป็นหน้าที่ของโรงเรียนที่จะเตรียมความพร้อมและจัดการแนะแนวด้านอาชีพ 2.กำหนดนโยบายการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพ 3.การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้อย่างเหมาะสม 4.การบริหารและจัดการข้อมูลเป็นระบบ และ 5.การมีหน่วยงานรับผิดชอบ โดยพ่อแม่ ผู้ปกครองต้องเข้ามามีส่วนร่วม
“จากข้อมูลปี 1999-2008 มีจำนวนประชากรวัยแรงงานประมาณ 600 ล้านคน มีข้อค้นพบน่าสนใจคือค่าการผลิตมวลรวมของโลก (Global GDP) เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 47 แต่อัตราการว่างงานกลับลดลงเพียงร้อยละ 0.7 (จากร้อยละ 6.4 เป็นร้อยละ 5.7) สะท้อนให้เห็นถึงสภาวการณ์ตกงานของแรงงานรุ่นใหม่ เนื่องจากคุณสมบัติหรือทักษะอาจไม่ตรงตามความต้องการของตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเทคโนโลยี เทรนด์ตลาด แนวโน้มประชากรโลก และความตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรและสภาพแวดล้อม ส่งผลให้ผู้เรียนที่กำลังจะจบไปเป็นแรงงานนั้น ขาดผู้แนะแนวอย่างเหมาะสมเกี่ยวกับการเลือกอาชีพในอนาคต ซึ่งพนักงานบริษัทก็ควรได้รับการอบรมที่เหมาะสมกับงานที่อาจจะเปลี่ยนไป เช่นเดียวกันระดับผู้บริหารนโยบายก็จะได้ลดการสร้างงาน หรือผลิตแรงงานที่ไม่ตรงกับความต้องการ”นางซาโตโกะ กล่าว
ข้อมูลสอดคล้องกับ นางวิภา เกตุเทพา ครูแนะแนวโรงเรียนสตรีวิทยา 2 และในฐานะประธานครูแนะแนวกรุงเทพมหานคร สมาคมแนะแนวแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ครูแนะแนวในประเทศไทยที่กำลังขาดแคลนทั้งเชิงปริมาณ และคุณภาพ โดยพบ 5 ปัจจัยที่ส่งผลต่อการขาดครูแนะแนว คือ 1.ความเชื่อผิดๆ ที่คิดว่าครูทุกคนคือครูแนะแนว 2.การไม่ให้ความสำคัญต่อการบรรจุครูแนะแนวที่มีคุณวุฒิโดยตรง แต่ไปให้ความสำคัญกับการบรรจุครูสาขาอื่นๆ 3.ไม่มีมาตรฐานการกำหนดสัดส่วนครูแนะแนวต่อนักเรียน 4.สถาบันผลิตครู เลิกผลิตครูแนะแนวหรือผลิตน้อยลง เพราะไม่มีงานรองรับ และ 5. การแก้ปัญหาโดยการให้เรียนวิชาเอกจิตวิทยาการแนะแนวคู่กับวิชาอื่น ทำให้ความเข้มข้นน้อยลง
“ครูแนะแนวมืออาชีพที่จะทำให้เด็กสามารถดำรงชีวิตและอยู่ในโลกของงาน จะต้องเป็นครูที่ให้เด็กรู้จัก เข้าใจ รักและเห็นคุณค่าในตนเอง สามารถวางแผนการศึกษาด้านอาชีพและสังคมได้ อีกทั้งทำให้เด็กปรับตัวและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเหมาะสมและมีความสุข ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ครูแนะแนวต้องดำเนินการตาม 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.การจัดบริการแนะแนว (Guidance Service) 2.การจัดกิจกรรมแนะแนว (Guidance Activities) และ 3.การประสานเครือข่ายต่างๆ (Coordination) ฉะนั้นครูทุกคนจึงเป็นครูแนะแนวไม่ได้ แต่ครูทุกคนทำหน้าที่เป็นผู้แนะแนวเด็กได้ โดยครูแนะแนวมืออาชีพต้องทำงานเชิงรุก ไม่ใช่ตั้งรับในห้องเรียน เพราะประเทศไทยไม่มีบรรยากาศที่เด็กเดินเข้ามาหาครูแนะแนว ครูจึงจำเป็นต้องจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิต ในการเลือก การตัดสินใจ ในเวลาเดียวกันก็ต้องมีการประสานเพื่อนครู ผู้ปกครองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำงานร่วมกัน
ปัจจุบันในกรุงเทพฯ มีจำนวนครูแนะแนวเพียง 200 กว่าคนเท่านั้น หากครูรุ่นนี้เกษียณแล้วในภาวะที่ยังไม่มีการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ผู้เรียนจะเป็นอย่างไร ดังนั้น ด้วยความจำเป็นเร่งด่วน จึงขอเสนอแนวคิดในการปฏิรูปการบริหารจัดการแนะแนว ทางออกของปัญหา คือ 1.การกำหนดให้มีหน่วยงานแนะแนวในทุกโรงเรียน 2.กำหนดเกณฑ์สัดส่วนครูแนะแนวต่อนักเรียน น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1:500 คน 3.กำหนดมาตรฐานการแนะแนวด้านคุณภาพผู้เรียน ด้านคุณภาพการดำเนินงานแนะแนว และด้านคุณภาพการบริหารจัดการการแนะแนว 4.เร่งพัฒนาคุณภาพครูแนะแนวที่มีอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันในกรุงเทพฯ มีจำนวนครูแนะแนวประมาณ 200 คนเท่านั้น 5.ประสานสถาบันอุดมศึกษาในการผลิตครูแนะแนวใหม่ที่มีคุณภาพ และ 6.เร่งพัฒนาเครื่องมือมาตรฐาน สื่อ นวัตกรรมทางการแนะแนวที่ทันสมัย”นางวิภา กล่าว
ด้าน ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า การแก้ปัญหาครูแนะแนวสามารถปฏิรูปเปลี่ยนแปลงได้ โดยดูบริบทสภาพปัญหา ซึ่งยอมรับว่าครูแนะแนวไม่เพียงพอ และการที่หลายคนบอกว่าครูที่ปรึกษาทุกคนคือครูแนะแนว จึงต้องทำความเข้าใจกับครูที่ปรึกษาในการทำหน้าที่นี้ด้วย และการมีระบบของพี่เลี้ยงหรือครูที่ปรึกษา โดยการเสริมให้ครูที่ปรึกษามีความรู้ด้านจิตวิทยามากขึ้นในการแนะแนวเด็ก นอกจากนี้ โรงเรียนและครูสามารถบูรณาการการสอนในรายวิชาต่างๆ ได้ อยู่ที่การออกแบบกระบวนการเรียนการสอน พร้อมทั้งบูรณาการอาชีพ ทัศนคติ ลงไปให้กับนักเรียนทุกคน ซึ่งจำเป็นต้องมีหน่วยงานแนะแนวในโรงเรียน เพราะการจะหาครูที่จบแนะแนวโดยตรงในทุกโรงเรียนคงเป็นเรื่องยาก ดังนั้น สถาบันผลิตครูจะต้องผลิตครูสายแนะแนวออกมาสอน ซึ่งต้องเซตระบบให้ชัดเจน ทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการก็กำลังอยู่ระหว่างการปรับหลักสูตรใหม่อยู่ ซึ่ง ศธ.ต้องการแต่ไม่มีใครเสนอขึ้นไป
นายพลพิบูล เพ็งแจ่ม หัวหน้าข่าวการศึกษา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ตัวแทนสื่อแสดงความเห็นด้วยกับนางวิภา ที่ว่าครูทุกคนไม่สามารถเป็นครูแนะแนวได้ แต่ครูประจำชั้น ครูที่ปรึกษาก็สามารถทำได้แม้จะไม่ดีเท่าครูแนะแนวโดยตรง ดังนั้น ครูแนะแนวก็ควรไปแนะแนวหรือเป็นผู้เข้าไปเติมเต็มเพื่อนครูในโรงเรียนหรือในบางวิชาด้วย เพราะด้วยศักยภาพของประเทศไทย ความคาดหวังจำนวนอัตรากำลังครูแนะแนวที่มีทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณในทุกโรงเรียน อีก 100 ปี ก็คงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ครูแนะแนวก็ทำหน้าที่เป็นครูแนะแนวพี่เลี้ยง ซึ่งบทบาทการแนะแนวต้องเริ่มตั้งแต่เด็กเล็กๆ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ไม่เช่นนั้น เมื่อไปถามเด็กทุกคนว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เด็กก็มักจะบอกและชอบจากสิ่งที่ใกล้ตัว เช่น เป็น ทหาร หมอ และก็เห็นด้วยกับการมีเจ้าภาพทำให้เป็นระบบ แต่ขอฝากว่าครูแนะแนวอย่าแสดงบทบาทเป็นแม่อีกคนหนึ่ง คือ การทำหน้าที่สั่งๆ แต่ต้องเป็นเพียงครูแนะแนวที่ให้ข้อมูล แนะนำแล้วให้เด็กตัดสินใจเอง และทำหน้าที่เป็นครูแนะแนวพี่เลี้ยงในโรงเรียนให้กับครูคนอื่นๆ
นายรวิศุทธ์ คณิตกุลเศรษฐ์ นักเรียนชั้น ม. 6 โรงเรียนสตรีวิทยา 2 จากเครือข่ายยุวทัศน์ กล่าวว่า เคยมีคำถามว่าครูแนะแนวคืออะไร แต่เมื่อมีโอกาสได้เรียนกับอาจารย์วิภา จึงรู้ว่าครูแนะแนวมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเวลานี้ที่ประเทศกำลังก้าวสู่ประชาคมอาเซียน เราเรียนภาษาอังกฤษเพื่อรับ AEC เมื่อคิดเล่นๆ ถ้าให้ครูคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มาเรียนวิชาแนะแนว เพื่อปรับทัศนคติความเข้าใจของครูผู้สอนในการพูดคุยกับเด็กให้มากขึ้น เพราะครูไม่สามารถเข้าถึงแด็กที่มีปัญหาในห้องเรียน ปัญหาครอบครัว ดังนั้น ครูที่เหมาะสม เป็นที่พึ่งให้คำแนะนำได้คือครูแนะแนว ซึ่งตนเองมีโอกาสให้คำแนะนำน้องๆ ม.3 จำนวน 800 กว่าคน โดยนำคำพูดอาจารย์วิภาไปแนะนำว่าเกรดไม่ต้องสนใจ แต่ต้องรู้ว่าตนเองชอบอะไร อยากทำ อยากเป็น ความฝัน คืออะไร เพื่อจะได้คว้าโอกาสนั้นมาให้ได้เป็นการปูพรมเพื่อก้าวสู่ความฝันนั้น ดังนั้น ครูแนะแนวยังมีความสำคัญและจำเป็นทั้งในและนอกห้องเรียน
“ครูแนะแนว” ผู้มีบทบาทด้านการศึกษาที่สำคัญ ที่จะให้เด็กรู้จักตนเองและรู้ถึงแนวทางที่จะใช้ความสามารถ ความสนใจและความถนัดของตนให้เป็นประโยชน์ได้อย่างฉลาดและถูกต้อง ไม่ใช่การเรียนที่มุ่งแข่งขัน กวดวิชาเพื่อสอบให้ได้คะแนนสูงๆ เพื่อจะได้เข้าเรียนในสถาบันชั้นนำตามความหวังของพ่อแม่ หรือค่านิยมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ จนหลงเดินในทางที่ตนเองไม่ชอบ ไม่ถนัด
วันที่ 15/01/2557 เวลา 7:24 น.