“วัลลภ ประวัติวงค์” นายอำเภอห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์

รณรงค์ไม่เผาอ้อย ลดมลพิษ สร้างมูลค่าเพิ่ม

อ้อย…เป็นพืชเศรษฐกิจหลักอีกประเภทหนึ่ง ถือเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ คือมีการบริโภคน้ำตาลในประเทศปีละประมาณ 1.6-1.7 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 17,000-19,000 ล้านบาท มีการส่งออกน้ำตาลจำหน่ายในตลาดโลกปีละกว่า 3 ล้านตัน นำรายได้เข้าประเทศประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้ประเทศไทยมีสถานภาพเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากบราซิลและสหภาพยุโรป

ภาพรวมในแต่ละปี เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยจะมีรายได้จากการจำหน่ายอ้อยทั้งหมดประมาณ 30,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4 ของรายได้ภาคเกษตรทั้งหมด และเป็นตลาดแรงงานใหญ่ มีผู้เกี่ยวข้องทั้งด้านแรงงานตัดอ้อยและแรงงานในโรงงานน้ำตาล ในช่วงฤดูกาลตัดอ้อยประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน-ต้นเดือนเมษายน ซึ่งจะมีการจ้างแรงงานไม่ต่ำกว่า 600,000 คน ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงแรงงานในการบรรทุกและขนส่งอ้อย

นอกจากนี้ อ้อยยังมีบทบาทด้านพลังงาน กล่าวคือ ในปัจจุบันอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย ยังใช้ประโยชน์จากอ้อยไม่คุ้มค่า โดยใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบการผลิตน้ำตาลเป็นหลักเท่านั้น การส่งเสริมให้โรงงานน้ำตาลเอทานอล เป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างมูลค่าจากอ้อยและเพิ่มรายได้ ช่วยลดการนำเข้าพลังงาน และทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการผลิตน้ำตาล หากเมื่อใดมีผลผลิตน้ำตาลจำนวนมาก จนเกิดภาวะน้ำตาลล้นตลาด ก็จะนำไปผลิตเอทานอลหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ มากขึ้น หรือหากเมื่อใดน้ำตาลมีราคาดี ให้ผลตอบแทนสูง ก็จะหันไปผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น

ในประเทศไทย มีการแสวงหาเชื้อเพลิงจากทรัพยากรในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้ามาเป็นเวลานาน ดังนั้นการนำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง เช่น เอทานอลจากอ้อย รวมทั้งมันสำปะหลัง และธัญพืชอื่นๆ เพื่อนำไปผสมน้ำมันเบนซินหรือดีเซล จะช่วยลดผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน และสามารถลดการขาดดุลเงินตราต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก

นายวัลลภ ประวัติวงค์ นายอำเภอห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ผลผลิตจากอ้อยจึงมีตลาดกว้างขวาง อนาคตไกล ความต้องการของตลาดไม่มีจำกัด ไม่สุ่มเสี่ยงเหมือนกับพืชชนิดอื่น เช่น ข้าว ยางพารา ที่มีคู่แข่งขันมาก ราคารับซื้อไม่คงที่ ทำให้ราคาผันผวน จนมีคำกล่าวว่า “เป็นพืชทางการเมือง” สิ่งสำคัญและจำเป็นในการผลิตอ้อยจากไร่สู่โรงงาน จึงไม่ใช่แค่เพียงการเพิ่มผลผลิตเท่านั้น การรักษาคุณภาพก็ต้องคุมเข้มควบคู่กันไป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ได้ผลผลิตคุ้มค่ากับการลงทุน

“พื้นที่อำเภอห้วยเม็ก 9 ตำบล มีพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 25,000 ไร่ เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยประมาณ 1,700 ครัวเรือน ระยะนี้เป็นช่วงที่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยลงมือตัดอ้อยส่งโรงงาน โดยทุกปีที่ผ่านมาจะพบว่ามีการเผาใบอ้อย เพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อการเก็บเกี่ยว ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่าไม่ถูกต้อง ไม่ควรทำ นอกจากจะทำให้หน้าดินถูกทำลาย ปริมาณน้ำตาลในอ้อยลดลงแล้ว ยังอาจส่งผลต่อความเสียหายมากขึ้น หากไม่สามารถควบคุมไฟได้ เช่น ไหม้ลุกลามไปยังพื้นที่ข้างเคียง บ้านเรือน หรือทรัพย์สินอื่นๆ ของราษฎร นอกจากนี้ ควันไฟที่เกิดจากการเผาอ้อย ยังส่งผลให้เกิดทัศนวิสัยที่ไม่ดีต่อผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะ ที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ทั้งยังเป็นบ่อเกิดเกิดพิษในอากาศ หมอกควันและไฟป่า”

ดังนั้น จึงได้ทำการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้เกษตรกรงดเผาไร่อ้อย ชี้แจงถึงผลดีผลเสียในการเผาไร่อ้อย ทั้งในช่วงก่อนตัดส่งโรงงานและหลังตัด เพราะการที่เกษตรกรเผาอ้อยแล้วน้ำผลผลิตมาส่งโรงงานจะมีการตัดค่าซีซีเอสความหวานออก เนื่องจากอ้อยที่ถูกไฟไหม้จะมีค่าความหวานลดลงอย่างมาก และยังมีเชื้อจุลินทรีย์ปะปน จึงกำชับให้เกษตรกรงดเผาไร่อ้อย รณรงค์ให้ตัดอ้อยที่เป็นลำอ้อยสดเท่านั้น เพื่อร่วมกันแก้ไขและป้องกันการเกิดมลพิษในอากาศ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อนด้วย

ด้านนายไพฑูรย์ ประภาถะโร ผู้อำนวยการด้านอ้อย โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในส่วนโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ ได้ร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น ท้องที่ ชมรมชาวไร่อ้อย เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย รณรงค์ให้พี่น้องชาวไร่ตัดอ้อยสด สะอาด ยอดสั้น คีบอ้อยสะอาด ปราศจากดินทรายและสิ่งเจือปน ก่อนเข้าหีบมาเป็นระยะเวลากว่า 4 ปี และได้รับความร่วมมือจากพี่น้องชาวไร่อ้อยด้วยดี

“ในปีนี้ทางโรงงานยังเชิญชวนให้พี่น้องชาวไร่อ้อยรวมกลุ่มจัดรูปแปลงอ้อย (50 ไร่ขึ้นไป) จัดการแปลงอ้อยด้วยเครื่องจักร รักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อให้พี่น้องชาวไร่ลดการทำลายดินจากการเผาอ้อย ลดต้นทุนการผลิต โดยลดการใช้แรงงานคนหันมาใช้เครื่องจักรกลเกษตรในการจัดการให้มากขึ้น ลดการใช้สารเคมี เน้นการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น และพัฒนาคุณภาพอ้อยให้มีความหวานที่สูงขึ้นอีกด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ได้รับราคาอ้อยที่สูงขึ้น รวมไปถึงการรณรงค์ ให้มีการบรรทุกอ้อยด้วยความปลอดภัย ใช้สายรัดก้อนอ้อยป้องกันอ้อยตกหล่น ไม่บรรทุกอ้อยสูงจนเกินไป ขับขี่ด้วยการเคารพกฎจราจร และไม่เผาอ้อยใต้แนวสายไฟ ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายหรือไฟฟ้าดับได้”

อย่างไรก็ตาม โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ ได้ตั้งเป้าไว้ว่าในปีการผลิต 2556/57 จะมีการส่งอ้อยของชาวไร่ 3,600,000 ตัน มีชาวไร่คู่สัญญา 11,200 ราย มีรถบรรทุกที่จะบรรทุกอ้อยเข้าโรงงาน 1,200 คัน ซึ่งปัจจุบันรับซื้ออยู่ที่ตันละ 900 บาท โดยมีค่าความหวานอยู่ที่ 54 บาทต่อซีซีเอส โดยจะมีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 3,240 ล้านบาท

ชมพิศ ปิ่นเมือง/กาฬสินธุ์

 

วันที่ 9/01/2557 เวลา 11:47 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

995

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน