ดิจิตอลคอนเทนต์อนาคตโชติช่วง

ตลาดอุปกรณ์เคลื่อนที่สู้กันมันส์หยด

 

“การ์ทเนอร์” บริษัทวิจัยด้านเทคโนโลยีรายงานแนวโน้มของการใช้งานไอทีที่มาแรงในอนาคต เชื่อสนามรบอุปกรณ์เคลื่อนที่เกิดอย่างแน่นอน การแข่งขันมีมูลค่าสูงและมีความรุนแรงทางธุรกิจ คาดเห็นการแจกฟรีมือถือ มุ่งเน้นไปที่พัฒนาดิจิตอลคอนเทนต์สู้กัน

นายไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป หากประเทศไทยต้องการที่จะเป็นผู้นำในเวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี คงจะต้องหันมามองกันอย่างจริงจังแล้วว่าไทยมีการพัฒนาตนเองในทางไหนกันแน่ ดีขึ้นหรือแย่ลง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสมาชิกอื่นๆ อีกทั้ง 9 ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่คงจะต้องมาพิจารณากันให้ถี่ถ้วนมากขึ้นแล้วว่าไทยจะเดินอย่างไร และแนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไปในทิศทางใด จะพัฒนาซอฟต์แวร์อย่างไร ใช้ในประเทศหรือส่งออกต่างประเทศหรือทั้ง 2 อย่าง

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่มาแรงมากที่สุดน่าจะหนีไม่พ้นเรื่องดิจิตอลคอนเทนต์ เนื่องจากกระแสการเติบโตของ ทีวีดิจิตอลและโซเชียลมีเดียจะมีมากเป็นหลายเท่าตัวในอนาคต การใช้สื่อสร้างสรรค์ที่เป็นแบบดิจิตอลจะช่วยกระตุ้นความน่าสนใจได้มากกว่าระบบการสื่อสารแบบเดิมๆ การสร้างหนังและละคร หรือบทเรียนทางการศึกษาจะมีการใช้สื่อดิจิตอลและ คอนเทนต์มากขึ้น การเข้าถึงแหล่งข้อมูลเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ใช่เรื่องที่น่าตื่นเต้นอีกต่อไป แต่เมื่อเข้าไปได้แล้วจะนำเสนออะไรที่เป็นรูปแบบที่น่าตื่นตาตื่นใจมากกว่า

ส่วนการใช้เกมเป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์อาจจะให้ผลตอบสนองได้ดีในเรื่องต่างๆ แม้กระทั่งการท่องเที่ยว และวัฒนธรรม ดังนั้นการพัฒนาซอฟต์แวร์ในอนาคตคงมองข้ามเรื่องดิจิตอลคอนเทนต์แอนิเมชั่น และเกมไม่ได้ ซึ่งอาจจะต้องให้ความสำคัญอย่างมากด้วย

ขณะที่จากรายงานพิเศษของการ์ทเนอร์ (Gartner) บริษัทวิจัยด้านเทคโนโลยีได้กล่าวถึงแนวโน้มของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่คาดว่าน่าจะมาแรงในอนาคตไว้ 10 เรื่อง โดยแน่นอนว่าซอฟต์แวร์จะเป็นแรงผลักดันอยู่เบื้องหลังที่สำคัญของความน่าจะเป็นในทั้ง 10 เรื่องดังนี้ เรื่องแรกคือ สนามรบอุปกรณ์เคลื่อนที่ หรือ Mobile Device Battle จะเป็นการแข่งขันในตลาดที่มีมูลค่าสูงและมีความรุนแรงทางธุรกิจ ซึ่งในอนาคตอันใกล้ก็คงจะเห็นการแจกมือถือฟรี ทั้งนี้เพื่อการครองความเป็นเจ้าตลาดหรือการดำรงไว้ซึ่งส่วนแบ่งของตลาดการแข่งขันกัน จะเป็นการแข่งขันทางเทคโนโลยีมากกว่าราคาเพียงอย่างเดียว และก็คาดเดาไม่ได้ว่าสุดท้ายแล้วจะมีอะไรมาทดแทนอุปกรณ์เหล่านี้ในอนาคต

ทั้งนี้ ซอฟต์แวร์จะมีส่วนช่วยที่สำคัญในการผลักดันให้สินค้ามีมูลค่าสูงเพิ่มขึ้น ซึ่งหากอุปกรณ์เคลื่อนที่ไม่มีซอฟต์แวร์ที่มาช่วยสร้างแรงกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคแล้ว ก็คงจะไม่สามารถอยู่ในตลาดได้ต่อไป เหมือนกรณีของกระแสการใช้ซอฟต์แวร์บนสมาร์ทโฟนที่ผ่านมาที่ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัทต้องขายกิจการ ดังนั้นทิศทางและแนวโน้มการพัฒนาซอฟต์แวร์ในเรื่องนี้น่าจะเป็นการผลักดันเรื่องแอพพลิเคชั่น รวมถึงการพัฒนาเนื้อหาที่มาช่วยเสริมการตลาดของฮาร์ดแวร์ให้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญของผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ที่จะต้องนำไปคิดและศึกษา

เรื่องที่ 2.Mobile Applications & HTML5 Web Technology เป็นการพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนมือถือมากขึ้น เรื่องที่ 3.Personal Cloud การพัฒนาซอฟต์แวร์บนคลาวด์ได้มีการมองข้ามไปถึง Personal Cloud กันแล้ว ดังนั้นการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อการสนับสนุนระบบการทำงานบนคลาวด์ โดยเฉพาะเรื่องส่วนตัว เช่นการจัดอัลบั้มรูปภาพ การจัดการเก็บข้อมูล การสำรองข้อมูล การเช่าหนังหรือเพลง จะเป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก บางครั้งก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทำซอฟต์แวร์มาขาย อาจใช้วิธีการทางการตลาดมาร่วมเสริมก็เป็นโอกาสจะทำให้ร่ำรวยได้เหมือนกัน

เรื่องที่ 4.The Internet of Things การใช้อินเตอร์เน็ตกับอุปกรณ์เชื่อมต่อต่างๆ ในชีวิตประจำวันมีมากขึ้น เรื่องที่ 5.Hybrid IT & Cloud Computing วันนี้เรากำลังมองวิวัฒนาการเทคโนโลยีสารสนเทศกันแบบไม่ค่อยจะกล้าเสี่ยงกันสักเท่าไหร่ ทั้งนี้ เนื่องจากความไม่แน่ใจในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลและความเสถียรของระบบ จึงทำให้ผู้ใช้รายใหญ่ยังไม่ยอมผันตัวเองออกจากระบบเดิมๆ กลัวที่จะเปลี่ยนแปลง การพัฒนาซอฟต์แวร์แบบเชื่อมโยงกับระบบอื่นก็ยังไม่ได้คิดกันมากนัก อนาคตของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ในเรื่อง Security และ Cloud Management น่าจะเป็นอะไรที่สร้างรายได้ที่ดีแต่ต้องเป็นกรณีที่ต้องเรียนรู้เรื่องการบริการควบคู่กันไปด้วย

เรื่องที่ 6.Strategic Big Data ข้อมูล ข่าวสาร รูปภาพ ที่ถูกแปลงจากระบบเดิมๆ ที่จัดเก็บแบบปกติมาสู่ระบบ ดิจิตอลจะมีเพิ่มขึ้น แต่โอกาสที่จะหาสิ่งเหล่านั้นไม่เจอก็มีสูง การนำข้อมูลที่มีไปใช้ให้เป็นประโยชน์ทางธุรกิจ การศึกษา และการบริการก็จะมีมากขึ้น การบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เป็นเรื่องที่จะมีการแข่งขันกันสูงมากในอนาคต

เรื่องที่ 7.Actionable Analytic การมีข้อมูลมากที่สามารถจัดระบบการเข้าถึงได้ตามที่กล่าวมาข้างต้น ยังคงต้องพิจารณาการนำมาใช้แบบสร้างสรรค์ด้วยการสร้างรูปแบบจำลองทางการคำนวณเพื่อหาผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์ได้ในลักษณะการนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ในการวิเคราะห์ วันนี้เราก็พอจะมองเห็นตัวอย่างได้บ้างแล้วจากการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้ารถยนต์ บ้าน เสื้อผ้า การท่องเที่ยว ที่สามารถจะบอกได้ว่า วัย เพศ ความชอบ สี ขนาด นั้นมีอะไรเป็นตัวแปรที่สำคัญได้บ้าง แม้แต่วันนี้ก็มีผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ไทยเข้าไปเอาข้อมูลใน Facebook และ Google มาวิเคราะห์ให้ลูกค้าเพื่อให้ได้ทราบว่าใครชอบอะไรไม่ชอบอะไร อะไรควรทำและไม่ควรทำ ก็ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างเล็กๆ ของการเข้าใจหลักการและนำมาต่อยอดพัฒนาเพียงเล็กน้อยแต่กลายเป็นธุรกิจที่ทำรายได้อย่างดีได้ น่าสนใจแนวคิดการพัฒนาซอฟต์แวร์เชิงการวิเคราะห์นี้จริงๆ

เรื่องที่ 8.Mainstream In-Memory Computing (IMC) เมื่อโลกเปลี่ยนไปเน้นวิวัฒนาการให้ทุกอย่างทำงานร่วมกันไม่แยกจากกัน เพื่อการทำงานที่รวดเร็วมากขึ้น การเอาระบบประมวลผลไปใส่ไว้ในหน่วยความจำ ก็จะเป็นก้าวใหม่แห่งการพัฒนาซึ่งก็ไม่ง่ายนักสำหรับการพัฒนาซอฟต์แวร์ในอนาคต ที่ต้องมีความยืดหยุ่นและกะทัดรัดเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ แต่ก็น่าจะมีเครื่องมือในการช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้นออกตามมาอย่างแน่นอน เรื่องที่ 9.Integrated Eco-System ระบบเชิงความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวคงเปลี่ยนแปลงการทำงานแบบเดิมและเรื่องสุดท้าย 10.Enterprise Applications Store การสร้างเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ชนิดที่ใช้เวลาน้อยที่สุดและมีต้นทุนต่ำเป็นคำตอบให้กับธุรกิจขนาดใหญ่

 

 

 

 

วันที่ 8/01/2557 เวลา 14:34 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

209

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน