กทม.มหานครแห่งอาเซียน
การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2558 (ค.ศ. 2015) ที่ประกอบด้วย 3 เสาหลักได้แก่
1.ประชาคมการเมืองและความมั่นคง มีเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ 1.มีกติกาและมีการพัฒนาค่านิยมและบรรทัดฐานร่วมกัน ยึดมั่นหลักการของการไม่แทรกแซงกิจการภายในและส่งเสริมค่านิยมของประชาคม 2.มีความเป็นเอกภาพ ความสงบสุข และความแข็งแกร่ง มีความรับผิดชอบร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงที่ครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อส่งเสริมให้อาเซียนพึ่งพาอาศัยกลไกของตนมากขึ้น และ 3.มีพลวัตและมีปฏิสัมพันธ์กับนอกภูมิภาคอาเซียน
2.ประชาคมเศรษฐกิจ มีเป้าหมายการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ได้แก่ 1.การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวสำหรับประชากร 600 ล้านคนในอาเซียน มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุนและบุคลากรวิชาชีพต่างๆ อย่างสะดวกมากขึ้น และมีการไหลเวียนอย่างเสรียิ่งขึ้นสำหรับเงินทุน 2.การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของอาเซียน โดยให้ความสำคัญกับประเด็นด้านนโยบายที่จะช่วยส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ 3.การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน โดยการพัฒนา SMEs และการเสริมสร้างขีดความสามารถ และ 4) การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก โดยเน้นการปรับประสานนโยบายเศรษฐกิจของอาเซียนกับประเทศภายนอกภูมิภาค เพื่อให้อาเซียนมีท่าทีร่วมกันอย่างชัดเจน รวมทั้งส่งเสริมการสร้างเครือข่ายในด้านการผลิต/จำหน่ายภายในภูมิภาคให้เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก
3.ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม มีเป้าหมายให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง สังคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน ประชากรอาเซียนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีและมีการพัฒนาในทุกด้านเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินการใน 6 สาขา ได้แก่ 1.การพัฒนามนุษย์ 2.การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม 3.สิทธิและความยุติธรรมทางสังคม 4.ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม 5.การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน และ6.การลดช่องว่างทางการพัฒนา
ไทยตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางของอาเซียนแต่ กทม.เมืองหลวงของไทยที่มีการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษจะก้าวข้ามเป็นมหานครแห่งอาเซียนได้อย่างไร
เรามาดูความเป็นไปได้ ด้วยจุดเด่นทางภูมิศาสตร์ ลักษณะกายภาพไทยถือเป็นศูนย์กลางอาเซียนอยู่แล้วเพราะติดทั้งหมู่เกาะและแผ่นดินใหญ่ กทม. อยู่ใจกลางประเทศไทยมีจังหวัดปริมณฑลอยู่ล้อมรอบ ทำให้ถูกจัดให้เป็นมหานครอันดับ 15 ของโลก มีประชากรตามทะเบียนบ้านและประชากรแฝงที่หลั่งไหลเข้ามาทำงานในเมืองมากกว่า 10 ล้านคน
ในรูปแบบการปกครอง กทม. มีลักษณะคล้ายกับกัวลาลัมเปอร์ ของมาเลเซียมากที่สุดโดย กทม. ได้ผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้งเช่นเดียวกับ กัวลาลัมเปอร์ มีผู้ว่าการเฉพาะ อีกทั้งเมืองหลวงของทั้ง 2 ประเทศก็เป็นศูนย์กลางพัฒนานโยบายเศรษฐกิจ สังคมเหมือนกัน ขณะที่บรูไนประเทศขนาดเล็กมีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช มีกษัตริย์เป็นผู้บริหารประเทศ เมืองหลวงบันดาเสรีเบกาวัน มีรัฐบาลกลางปกครองประเทศ
กรุงพนมเปญของกัมพูชาผู้ว่าการ มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ต้องสนองนโยบายรัฐบาลกรุงจาร์กาตาร์ของอินโดนีเซีย มีผู้ว่าการเหมือนผู้ว่าราชการจังหวัด มีแต่ละมณฑลซึ่งมีนายกเทศมนตรี หรือนายกเทศบาล ดูแลอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งคล้ายกับจังหวัดต่างๆ ของบ้านเรากรุงเวียงจันทน์ของลาว มีผู้ครองนครเวียงจันทน์เหมือนผู้ว่าราชการนคร ได้รับการแต่งตั้งจากสภาประชาชนลาวกรุงเนปิดอว์ของพม่า มีผู้ว่าการเน้นดูแลความสงบเรียบร้อย ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลกรุงมะนิลาของฟิลิบปินส์ มีนายกเทศมนตรีซึ่งมาจากรัฐบาลโดยตรง มีอำนาจหน้าที่น้อยกว่า กทม. ส่วนสิงคโปร์ประเทศที่เล็กที่สุดของอาเซียน แต่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจค่าครองชีพสูงที่สุด มีระบบการปกครองแบบสาธารณรัฐ ซึ่งมีการตั้งหน่วยงานมาดูแลพัฒนาการขยายตัวของเมือง โดยเฉพาะกรุงฮานอยของเวียดนาม มีนายกเทศมนตรีมาดูแลเมืองภายใต้การเลือกตั้งของบอร์ด หรือคณะกรรมการประชาชนของเวียดนาม
กทม. เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม และจัดเป็นมหานครแห่งหนึ่งของโลก แต่ก็ยังประสบปัญหาคล้ายกับเมืองหลวงอื่นในอาเซียน ทั้งปัญหาด้านสังคม คุณภาพชีวิต และภัยธรรมชาติ จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายผู้บริหาร กทม. กับการนำพาให้เป็นมหานครแห่งอาเซียน
ขณะเดียวกัน ปัญหาการเมืองระดับประเทศ ยังแก้ไม่ตก การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ยังเป็นปริศนาคาใจ คนไทยทั้งชาติ ภาพ กลุ่ม กปปส. ที่นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. นำกลุ่มมวลชนที่รวมตัวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำกิจกรรมเคลื่อนขบวนรณรงค์ตามถนนในกรุงเทพฯ เชิญชวนประชาชนออกมาร่วมขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้ทิ้งตำแหน่งนายกฯ รักษาการ และชวนร่วมชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา ไม่รู้จะออกหัวออก ก้อยอย่างไร ขณะเดียวกันผลตามมาที่ไม่พึงประสงค์ ยอดจองห้องพักตามโรงแรมต่างๆ ของ นักท่องเที่ยวช่วงคริสต์มาส ปีใหม่ ลดลงอย่างมากมาย
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่จัดในวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร มีคะแนนนำ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ แบบขาดลอย เกือบ 2 แสนคะแนน พร้อมนโยบายให้ กทม.เป็นมหานครแห่งอาเซียน ดังนี้
1 ศูนย์กลางการท่องเที่ยวของอาเซียนและโลก เพิ่มและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงอนุรักษ์ ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี เช่น กุฎีจีน บางลำพู ตลาดพลูดันเยาวราชให้เป็นไชน่าทาวน์อาเซียน ปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงามเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทันสมัย อนุรักษ์วัฒนธรรม “เชื่อมโยง พลิกโฉม กรุงเทพฯ”
2 ร่วมมือกับโรงพยาบาลรัฐ มหาวิทยาลัย และเอกชน เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการบริการด้านการแพทย์และการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพของอาเซียนและของโลก
3 จัดตั้งศูนย์ส่งเสริม SMEs อาเซียน และจัดทำ BMA SMEs ASEAN Data Bank สร้าง Bangkok Brand ให้เป็นที่ยอมรับ ยกระดับ SMEs และ OTOP กทม. เพื่อผลผลิตให้ได้มาตรฐานสากล และเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าจัดทำฐานข้อมูล SMEs และ OTOP ทุกสินค้าและบริการใน กทม. เพื่อประโยชน์ต่อผู้ซื้อผู้ขายเชื่อมโยงข้อมูลกับประเทศต่างๆ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้แสดงสินค้า “Young Designer Market”
4 ศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนศิลปะและวัฒนธรรมอาเซียน จัดตั้งสภามหานครอาเซียนส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่าง กทม. และองค์กรในอาเซียน เปิดโอกาสและส่งเสริมอาชีพการผลิต และจำหน่ายอาหาร/ผลิตภัณฑ์ฮาลาลจัดทำป้ายบอกทาง แผนที่ ป้ายรถประจำทาง และจุดให้ข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษทั่วกรุงเทพฯ
5.การบริการประชาชน โดยอำนวยความสะดวกในการติดต่อราชการ เปิดจุดบริการในห้างและนอกเวลาถึง 22.00 น.กระบวนการขออนุญาตและการเก็บภาษีท้องถิ่นจะรวดเร็วขึ้น
6.คมนาคมสะดวก สร้างรถไฟฟ้าระบบขนส่งแบบรางขนาดเล็ก และสร้างจุดเชื่อมต่อระบบคมนาคม รถไฟฟ้ารถเมล์ รถยนต์ แท็กซี่ เรือ
7.กรุงเทพ Friendly City ด้านภาษาจัดทำแผนที่ ป้ายบอกทาง และจุดให้ข้อมูลทั้งไทยและอังกฤษ ทั่ว กทม./เมนูอาหารเป็นภาษาอังกฤษให้ผู้ค้ารายย่อยรถเข็นอาหาร จะมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวให้สื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างมั่นใจและให้บริการที่ประทับใจ เช่น คนขับรถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะ และต่อยอดด้วยจีนและมลายู ทำระบบ Hi Speed Wi-Fi 4 Mb เพิ่ม 5,000 จุดเพื่อการเข้าถึงข้อมูลที่รวดเร็ว ครอบคลุม
เกือบครบปีของการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ รอบ 2 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ได้นำนโยบายเหล่านี้ไปปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน? และเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.56 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.เป็นประธานเปิดการประชุมพิจารณาร่างแผนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของกรุงเทพมหานครในปี 2558 ซึ่งสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กทม.สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์อาเซียนศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกันจัดทำขึ้นดำเนินการไปถึงไหน พนักงาน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน บอกว่ายังไม่ทำอะไรสักเท่าไหร่?
ที่เห็นชัดเจนการเตรียมพร้อม กทม.มหานครแห่งอาเซียน ก็มีเพียง กฟน.รับแผนการยกระดับกรุงเทพฯ เป็น “มหานครแห่งอาเซียน” เดินหน้าทุ่มงบหลายหมื่นล้านบาท นำสายไฟลงใต้ดินเพื่อสร้างความสวยงามเพิ่มประสิทธิภาพจ่ายไฟ เผยทำที่สีลมไปแล้วถนนสุขุมวิท-พญาไท-พหลโยธินถึงแยกลาดพร้าว ดำเนินการอยู่ระบุผู้ประกอบการต้องทำระบบเชื่อมต่อใต้ดินรองรับ
กทม.มหานครแห่งอาเซียน ต้องการ Action อย่างรีบด่วน ในทุกๆ ด้าน
ทีมข่าว กทม. …รายงาน
รศ.ดร.ชรินรัตน์ พุทธปวน
วันที่ 2/01/2557 เวลา 11:37 น.