“สมาร์ทไทยแลนด์” งานหลักไอซีทีปีม้าคึกคัก

 

ในช่วงปี 2556 ที่ผ่านมา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ที่หลายคนเรียกกันชินปากได้ดำเนินโครงการต่างๆ โดยมีสโลแกนที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า สมาร์ท (SMART) ในทุกโครงการ เพื่อต้องการให้เป็นสังคมอุดมปัญญาทั้งระบบ ที่มีการพัฒนาและใช้ไอซีทีอย่างชาญฉลาด หรือสมาร์ทไทยแลนด์ 2020 (Smart Thailand) โดยในแผนมีการดำเนินโครงการให้เห็นผลภายในปี 2563 ซึ่งแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 ด้านหลัก คือ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การนำไอซีทีมาบริหารภาครัฐ ส่งเสริมศักยภาพบุคลากรในธุรกิจ และสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงไอซีทีอย่างเท่าเทียม

ทั้งนี้ เห็นได้ชัดเจนว่า กระทรวงไอซีทีมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างหนักในปีที่ผ่านมา เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงอินเตอร์เน็ต อาทิ โครงการไอซีที ฟรีไวไฟ (ICT Free WiFi) ที่ติดตั้งทั่วประเทศไปแล้วกว่า 2 แสนจุด ส่วนหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงก็ทำงานหนักไม่แพ้กัน

เมื่อ ต.ค.56 กระทรวงไอซีทีได้มีปลัดคนใหม่ที่หลายคนใช้คำว่า ข้ามห้วย เข้ามารับตำแหน่ง ก็เป็นที่จับตามองพอสมควร และล่าสุดก่อนปีใหม่ ก็มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้น แต่หลายหน่วยงานก็มั่นใจว่าโครงการต่างๆ นั้นจะไม่สะดุดอย่างแน่นอน อีกทั้งโครงการสมาร์ทไทยแลนด์ได้ถูกบรรจุในแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารไว้แล้ว ทั้งนี้ในปี 2557 มีโครงการใหญ่อีกจำนวนมากที่จะต้องเกิดขึ้น

เตรียมงบ 3 พัน ล. ตั้งศูนย์สมาร์ทคันทรี

นายสุรชัย ศรีสารคาม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที เปิดเผยว่า ในปี 2557 จะดำเนินการในเรื่องของสมาร์ทไทยแลนด์เป็นหลัก โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และโครงข่ายหลักของประเทศในการบริหารงาน โดยใช้การพัฒนาจาก จ.นครนายก ซึ่งเป็นจังหวัดต้นแบบอัจฉริยะ (Smart Province) ที่ได้เห็นผลลัพธ์แล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การยกระดับทุกจังหวัดในประเทศไทยให้เข้าถึงไอซีที ลดช่องว่างทางการสื่อสาร ทำให้เป็นสมาร์ทไทยแลนด์อย่างเต็มรูปแบบ

ทั้งนี้ ตามแผนงานนั้นจะเริ่มเห็นความชัดเจนอย่างน้อย 10 จังหวัด ในปี 2558 ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา ชลบุรี นครปฐม สุราษฎร์ธานี สงขลา และกรุงเทพฯ และใช้งานครบทั้งประเทศในปี 2562 ตามแผนแม่บท แต่จะมีการขยายโครงการในระยะแรกใน 4 จังหวัดก่อนในปี 2557 ได้แก่ ลำปาง ชัยภูมิ ภูเก็ต และกาญจนบุรี เพื่อปรับศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเดิมให้เป็นศูนย์ข้อมูลเรียนรู้และบริการชุมชนตามรูปแบบ สมาร์ทโพรวินซ์ มีศูนย์คลาวด์เป็นระบบกลางรองรับทั้ง 4 จังหวัดนั้น

โครงการสมาร์ทโพรวินซ์มีต้นแบบแล้ว มีงบประมาณพร้อมโดยในการขยายออกไปในจังหวัดอื่นนั้น จะใช้งบประมาณต่อจังหวัดประมาณ 90 ล้านบาท โดยที่ จ.นครนายก ได้ใช้งบประมาณกว่าร้อยล้านบาท ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับขนาดความใหญ่ของแต่ละจังหวัดด้วย

หลังจากนั้นจะพัฒนาจังหวัดนครนายกให้เป็น เวิลด์ แล็ป เชิญชวนประเทศในอาเซียนมาร่วมพัฒนาต้นแบบ บูรณาการข้อมูลภาครัฐ ก่อนพัฒนาเป็นซอฟต์แวร์ต้นแบบ จัดตั้งศูนย์สมาร์ทคันทรีเทคโนโลยี (SCIT : Smart Country Information Technology) เพื่อเป็นศูนย์รวมในการบริหารประเทศด้วยเทคโนโลยี

สำหรับโครงการจัดตั้งศูนย์สมาร์ทคันทรีนั้น จะใช้งบประมาณทั้งหมดในการจัดตั้งรวมทั้งซอฟต์แวร์ต่างๆ ประมาณ 3 พันล้านบาท โดยจะมี 2 ส่วนหลัก คือ ศูนย์สื่อสารของภาครัฐ (GCC : Government Communication Center) และศูนย์ข้อมูลภาครัฐ (GDC : Government Data Center) โดยภายในศูนย์สมาร์ทคันทรีจะรวมการสื่อสารและบริหารงานของหน่วยงานภาครัฐเข้าไว้ด้วยกัน เป็นศูนย์เชื่อมโยงและกระจายการบริหารด้วยเทคโนโลยีไปยังหน่วยงานต่างๆ

“ซิป้า” ดันซอฟต์แวร์วาระแห่งชาติ

นายไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า กล่าวว่า สำหรับปี 2556 ที่ผ่านมา ตนมองว่าซิป้ายังทำได้ไม่เป็นไปตามเป้า แม้ตัวชี้วัดจะออกมาว่าเป็นไปได้ดีก็ตาม ตนคิดว่ายังคงต้องมีบางส่วนงานที่ต้องแก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติม แม้ที่ผ่านมาจะมีผลงานเด่นหลายชิ้นก็ตาม อาทิ การพัฒนาผู้ประกอบการหน้าใหม่ หรือสตาร์ทอัพ (Start up) ซึ่งในปี 2556 ซิป้าได้อบรมและพัฒนาผู้ประกอบการไปแล้วกว่า 500 ราย ส่วนบุคลากรที่ผ่านการอบรมด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์มีจำนวนกว่า 2 หมื่นคน ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของซิป้าในการส่งเสริมนักพัฒนา

ส่วนผลงานเด่นของซิป้าซึ่งเป็นโครงการตามแผนงานภาครัฐนั้น ในช่วง ก.ย.56 ที่ผ่านมา ซิป้าได้เป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ประจำปีของภูมิภาคเอเชีย “ซอฟต์แวร์ เอกซโป เอเชีย 2013” โดยไทยได้เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงซอฟต์แวร์ของเอเชีย ซึ่งกระตุ้นให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ตื่นตัว และจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มจากการใช้ซอฟต์แวร์อย่างแท้จริง ทั้งซอฟต์แวร์สำหรับภาครัฐ ภาคเอกชน และในส่วนของธุรกิจ, สถาบันศึกษา ให้พัฒนาประสิทธิภาพในการแข่งขันในตลาดที่เพิ่มขึ้น

สำหรับแผนดำเนินงานในปี 2557 ซิป้าจะดำเนินงานเพื่อสานต่อการพัฒนาผู้ประกอบการที่เป็นสตาร์ทอัพ และจะมุ่งเน้นการส่งเสริมให้มีการผลิตนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยเพิ่มขึ้น อุปสรรคที่ผ่านมาในการพัฒนาซอฟต์แวร์คือกำลังคน จากผลการสำรวจของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า อุตสาหกรรมนี้ต้องการบุคลากรกว่า 8,000 คน ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มจากปี 54 ถึง 21.7% โดยประเมินจาก 3 กลุ่มทักษะที่มีความต้องการเพิ่มสูงสุด คือ อันดับ 1 การออกแบบและโปรแกรมเมอร์ 34% อันดับ 2 ทดสอบคุณภาพ 16% และอันดับ 3 รวบรวมและวิเคราะห์ 15% ดังนั้นการเร่งพัฒนาในส่วนนี้จึงสำคัญมาก

ผอ.ซิป้า กล่าวต่อว่า ปัจจุบันนักศึกษาที่เลือกเรียนด้านไอทีมีน้อยลง และลดลงในสัดส่วน 10% ทุกปี เนื่องจากการเข้าถึงเทคโนโลยีของผู้คนในชีวิตประจำวันทำได้ง่ายขึ้น คนสามารถสัมผัสกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ได้เน้นที่การคิดวิเคราะห์เพื่อสร้างไอที แต่เป็นความบันเทิง เรื่องสวยงาม และหากมองในมุมกลับกัน อาจเป็นสิ่งที่ดีเพราะเราจะได้คนไอทีตัวจริง นักศึกษาที่เลือกเรียนไอทีส่วนใหญ่จึงเป็นคนที่ต้องการทำงานด้านนี้อย่างจริงจัง เราก็จะได้คนที่มีฝีมือมาพัฒนาซอฟต์แวร์

“อีกจุดอ่อนหนึ่งของไทยในตลาดซอฟต์แวร์ คือ การทำการตลาดที่ยังไม่แข็งแรง ต้องยอมรับว่ายังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ทำความเข้าใจในส่วนนี้ ยังไม่เข้าใจว่าระบบซอฟต์แวร์นั้นมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างไร หากเรามีการทำการตลาดที่ดี สามารถเห็นผลตอบแทนได้อย่างชัดเจน เชื่อว่าคนจะเข้าใจว่าการพัฒนาซอฟต์แวร์ช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้ ประหยัดทรัพยากรในหลายด้าน” ผอ.ซิป้า กล่าว

นายไตรรัตน์ กล่าวต่ออีกว่า ในปีงบประมาณ 2558 นั้น จะดำเนินการในส่วนของซอฟต์แวร์ที่เป็น สมาร์ท เอ็ดดูเคชั่น (Smart Education) เพื่อทำให้คนไทยเป็นศูนย์การสื่อสารอัจฉริยะ โดยจะใช้ระยะเวลาในโครงการนี้ 5 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2558-2563 ทั้งนี้ ยังต้องการทำให้ซอฟต์แวร์เป็นวาระแห่งชาติ โดยซิป้าจะทำการศึกษาวิจัยเพื่อให้รัฐบาลได้เห็นถึงประโยชน์ของการใช้ซอฟต์แวร์ในการพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง คาดว่าจะเริ่มศึกษาภายในปี 2557 และในปลายปี 2558 จะสามารถนำเสนอต่อรัฐบาลได้

ทั้งนี้ ความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศไทยนั้น ต้องพัฒนาทั้งในภาพใหญ่ และภาพเล็ก หมายถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ต้องทำควบคู่กันไปกับการพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถอยู่รอดได้และมีกำไรเพียงพอ ดังนั้นสิ่งที่ทางประเทศไทยจะต้องเร่งทำเพื่อการสร้างอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ให้ก้าวหน้าในทิศทางที่ควรจะเป็นคือ ใช้ให้การพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีทีเป็นวาระแห่งชาติ

นอกจากนี้ จะต้องมีการกำหนดนโยบาย เป้าหมายและทิศทางของการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศให้มีความชัดเจนมากขึ้น มีการพัฒนาผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ให้มีความสามารถในการทำธุรกิจและสามารถเผยแพร่ผลงาน ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในด้านการตลาด การลงทุน การพัฒนาบุคลากร และการรับรองมาตรฐาน ส่งเสริมให้เกิดการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและลดการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย มีการจับคู่ธุรกิจและเจรจาธุรกิจที่ก่อให้เกิดความต้องการของผู้ใช้ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนให้มากขึ้น โดยทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สมาคมต่างๆ เพื่อกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้ไปสู่เวทีโลกให้ได้

สรอ.ลุยทำแอพฯ รวมภาครัฐ

นายศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. กล่าวว่า สมาร์ท เน็ตเวิร์ค (Smart Network) เป็นการขยับขยายจากเครือข่ายจิน (GIN : Government Information Network) ไปสู่ระบบซูเปอร์จิน (Super GIN) โดยในรอบปีที่ผ่านมากระทรวงไอซีทีได้บริหารงานโครงการจิน ผ่าน สรอ. จากโครงข่ายที่มีอยู่เดิมได้ต่อยอดทางด้านการบริการที่มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น มีหน่วยงานรัฐจำนวนมากปรับเปลี่ยนระบบการจัดซื้อผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตมาใช้ระบบนี้แทน รวมถึงมีการเชื่อมโยงกับเครือข่ายภาครัฐเดิม เพื่อเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ซึ่งทำให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณไปได้จำนวนหนึ่ง

ทั้งนี้ ในปี 2556 สรอ.ได้ทำการเชื่อมต่อหน่วยงานผ่านระบบจินแล้ว 2,300 หน่วยงาน ส่วนการใช้ระบบจี-คลาวด์ (G-Cloud) ในการจัดเก็บข้อมูลมีกว่า 230 ระบบ ใน 200 หน่วยงานที่เป็นภาครัฐ ส่วนระบบแอพพลิเคชั่นกลางของภาครัฐ หรือ mail.co.th มีหน่วยงานภาครัฐเข้าใช้กว่า 2.2 แสนบัญชีผู้ใช้

ส่วนปี 2557 จะดำเนินงานในการต่อยอดจากแผนงานเดิม โดยการเชื่อมต่อผ่าน GIN ตั้งเป้าการเชื่อมต่อเพิ่มขึ้น 3,000 หน่วยงาน และจะเพิ่มในส่วนของการรักษาความปลอดภัยในการใช้งานระบบจี-คลาวด์ภาครัฐมากขึ้น เนื่องจากมีแฮกเกอร์เจาะเข้ามาในระบบฐานข้อมูลภาครัฐ การดูแลรักษาระบบฐานข้อมูล อาจยังไม่มีวินัยเท่าที่ควร จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ที่แฮกเกอร์บุกเข้ามาเจาะระบบของหน่วยงานภาครัฐได้ เทคโนโลยีเปลี่ยนไปเร็ว ส่วนมากที่เกิดขึ้นก็คือซอฟต์แวร์ที่เอามาใช้ทำเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ และสิ่งสำคัญอีกประการคือ จะต้องมีการสำรองข้อมูล หรือแบ็กอัพ ที่มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา การเพิ่มระบบความปลอดภัยเข้าไปจะช่วยให้ข้อมูลภาครัฐมีความมั่นคงมากขึ้นและจะเร่งสานต่อในส่วนของออฟฟิศ 365 ออน คลาวด์

ส่วนงานแรกที่ สรอ.จะดำเนินการนอกจากการต่อยอดจากงานเดิมที่ทำอยู่แล้ว ในปี 2557 คือการทำกอฟเวิร์นเมนต์ แอพพลิเคชั่น เซ็นเตอร์ (Government application center) โดยการรวมแอพพลิเคชั่นภาครัฐที่มีอยู่เป็นจำนวนมากมารวมไว้บนแอพพลิเคชั่นเดียว ที่สามารถเชื่อมต่อกับแอพพลิเคชั่นอื่นในหน่วยงานภาครัฐ เพื่อความสะดวกในการเข้าถึงของประชาชน ซึ่ง สรอ.จะทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบและให้คำปรึกษากับหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนาแอพพลิเคชั่น

ทั้งนี้ เว็บไซต์ apps.go.th ได้ผ่านคณะรัฐมนตรีแล้ว (ครม.) และจะจัดทำเป็นแอพพลิเคชั่นให้ได้ใช้กัน ซึ่งในต้นปี 2557 นี้ จะได้เห็นการเปิดตัวของแอพพลิเคชั่นแน่นอน โดยประชาชนสามารถเข้ามาดาวน์โหลดได้ทั้งในระบบแอนดรอยด์ ระบบไอโอเอส และระบบวินโดว์ 8

“เบื้องต้นภายในปีหน้าเราจะได้เห็นแอพพลิเคชั่นเด่นจำนวน 10-20 แอพพลิเคชั่น ที่มาจากความต้องการของประชาชนจริงๆ เนื่องจากหลังจากเรามีการนำแอพพลิเคชั่นมารวมกันแล้ว จะมีการถามความคิดเห็นประชาชน ว่าชื่นชอบแบบใด ต้องการใช้แอพพลิเคชั่นแบบไหน เราจะเปิดให้ประชาชนซึ่งเป็นคนใช้ได้แชร์ความคิดกัน เพื่อค้นหาแอพพลิเคชั่นที่โดนใจ” ผอ.สรอ. กล่าว

นายศักดิ์ กล่าวต่อว่า การพัฒนาแอพพลิเคชั่นนั้น เป็นการตอบรับกับกระแสการใช้อินเตอร์เน็ตบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ ซึ่งปัจจุบันการใช้งานดังกล่าวมีเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน ดังนั้นประชาชนจะเข้าถึงหน่วยงานรัฐได้ รัฐเองก็ต้องมีการพัฒนาสิ่งที่สอดคล้องกันเพื่อตอบรับด้วย แอพพลิเคชั่นดังกล่าวจะมีประโยชน์อย่างมาก เพราะจะทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน อาทิ แอพพลิเคชั่นของ อย. ที่มีคำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างปลอดภัยกว่า 100 เรื่อง และข้อมูลเกี่ยวกับฉลากโภชนาการ หรือจะเป็น ไอ เลิร์ต ยู ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นฉุกเฉิน สำหรับผู้ป่วยหรือผู้ที่ประสบอุบัติเหตุกดแจ้ง และทางโรงพยาบาลที่ใกล้จุดเกิดเหตุจะส่งรถมารับนำส่งเพื่อรักษา

 

จุฬาวรรณ สุทธิมาศ/รายงาน

 

วันที่ 1/01/2557 เวลา 13:41 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

237

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน