ก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน [AEC]
ในปี 2015 ประเทศไทย ก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยโรงเรียนดนตรีสยามกลการ สถาบันดนตรียามาฮ่า ปรับภาพลักษณ์โลโก้ [Logo] สร้างการรับรู้โรงเรียนดนตรีในเครือข่ายใหม่ทั้งประเทศ ก้าวสู่ความเป็นสากล แสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และสอดคล้องกับโรงเรียนดนตรีในต่างประเทศ ภายใต้ชื่อ YAMAHA MUSIC SCHOOL หรือ โรงเรียนดนตรียามาฮ่า พร้อมขับเคลื่อนดนตรีศึกษาของเยาวชนไทยให้เข้มแข็ง และ มีประสิทธิภาพ เริ่ม 1 มกราคม 2014
น.ส.ประนัปดา พรประภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด เปิดเผยว่า “ในปี 1965 บริษัท สยามกลการ จำกัด ได้ร่วมทุนกับ ยามาฮ่า คอร์ปอร์เรชั่น ประเทศญี่ปุ่น เพื่อจัดตั้งบริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด ดำเนินธุรกิจโรงเรียนดนตรีในเมืองไทย จนประสบความสำเร็จมาเป็นระยะเวลากว่า 47 ปี ทำหน้าที่เผยแพร่ดนตรีศึกษาแก่เยาวชนไทยให้มีพัฒนาการทางด้านดนตรี โดยเริ่มก่อตั้งโรงเรียนดนตรีสยามกลการขึ้นเป็นแห่งแรก ในประเทศไทย ตั้งอยู่บนถนนพระราม 1 ปทุมวัน เมื่อวันที่ 27 เมษายน 1966 นับว่าเป็นผู้นำหลักสูตรดนตรีศึกษารายแรกในเมืองไทย
ล่าสุด ในปี 2014 บริษัทฯ จะปรับภาพลักษณ์ [Logo] ใหม่ของโรงเรียนดนตรีสยามกลการ เครือข่ายในเมืองไทย เพื่อเปิดประตูรองรับการเปิดเสรีทางด้านการศึกษาดนตรีสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน [Asean Economic Community- AEC] นับว่าเป็นการสร้างการรับรู้ภาพลักษณ์ใหม่ ก้าวสู่ความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจโรงเรียนดนตรีในต่างประเทศ เพื่อให้ชัดเจน และง่ายต่อการสื่อสาร ซึ่งทางบริษัทฯ ได้ปรับภาพลักษณ์ [Logo] ของโรงเรียนใหม่ทั้งหมดให้เหมือนกันทุกแห่งทั่วประเทศเป็นชื่อเดียว และมาตรฐานเดียวกัน คือ YAMAHA MUSIC SCHOOL โดยโลโก้ใหม่จะเริ่มใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2014
“บริษัทฯ ได้เติบโตก้าวหน้ามีการพัฒนาทักษะเยาวชนไทย และยกระดับคุณภาพมาตรฐานครูสอนดนตรี อีกทั้ง ศึกษา วิจัย พัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง และร่วมมือกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ลงนามความร่วมมือสนับสนุนพัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมดนตรี และสื่อประสม [Music Engineering and Multimedia] เพื่อพัฒนาวิศวกรด้านดนตรี และสื่อประสมในระดับปริญญาตรีฝึกบุคลากรก้าวสู่การเป็นฮับวิศวกรรมดนตรี บันเทิง และอีเวนท์แห่งอาเซียน, ร่วมกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาคุณภาพการศึกษาดนตรีและนาฏยศิลป์-อบรมครูดนตรีหลักสูตรพิเศษโครงการเตรียมอุดมศึกษาวิชาเอกดนตรี เพื่อเข้าศึกษาดนตรีในระดับมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศ และต่างประเทศ ตลอดจน เปิดโรงเรียนสอนดนตรีผลิตบุคลากรด้านดนตรีที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม” น.ส.ประนัปดา กล่าว
นอกจากนี้ มีกิจกรรมสนับสนุนเยาวชนไทย อาทิ Yamaha Thailand Music Festival : การแข่งขันดนตรีของนักเรียนโรงเรียนดนตรีสยามกลการในเครือข่ายทั่วประเทศ, Thai Junior Original Concert สำหรับเยาวชนอายุไม่เกิน 15 ปี ในการประพันธ์เพลง หรือ Improvisation, การประกวดวงโยธวาทิตนักเรียน นักศึกษา ชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทานฯ และการประกวดวงดนตรีเยาวชนยามาฮ่าลูกทุ่งคอนเทสต์ ฯลฯ ที่สำคัญ เด็กไทยกว่า 1 ล้านคน ที่ผ่านหลักสูตรดนตรีศึกษา ถือว่าเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่แก่วงการดนตรีในเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 47 ปี
วันที่ 21/12/2556 เวลา 8:58 น.