มทร.กรุงเทพเปิดหลักสูตรใหม่

ซ่อมอากาศยานมาตรฐานปลอดภัย

ดร.สาธิต พุทธชัยยงค์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยกำลังอยู่ในระหว่างการวางแผนและเตรียมการ ที่จะเปิด “หลักสูตรฝึกอบรมการซ่อมบำรุงอากาศยาน” ร่วมกับ บริษัท AERO-Bildung จากประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์ฝึกอบรมอากาศยานที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานความปลอดภัยของ European Aviation Safety Agency (EASA) หรือองค์การรับรองความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรปที่ใช้เป็นมาตรฐานการบินถึง 70% ทั่วโลก คาดว่าจะสามารถเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกได้ในปีการศึกษา 2558 โดยหลักสูตรดังกล่าวจะเน้นมาตรฐานการรับรองบุคลากรซ่อมบำรุงอากาศยาน ที่เรียกว่า PART 66 ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะจัดหลักสูตรตาม Category B1 คือการซ่อมบำรุงอากาศยานในส่วน Aircraft structure และ Engines กับ Category B2 คือการซ่อมบำรุงอากาศยานในส่วนของ Avionics และ Instruments

สำหรับแผนการเตรียมพร้อมเพื่อเปิดหลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยานของมหาวิทยาลัยในขณะนี้ ราชมงคลกรุงเทพ อยู่ระหว่างการจัดทำเอกสารและจัดหาครุภัณฑ์เพิ่มเติมที่จะใช้สำหรับการฝึกอบรม ตลอดจนพัฒนาบุคลากรทางด้านนี้เพิ่มเติม เพื่อเข้ารับการตรวจประเมินตามมาตรฐาน PART 147 ของ EASA ซึ่งเป็นคุณสมบัติและมาตรฐานสำหรับองค์กรหรือสถาบันที่จะเปิดฝึกอบรมและทดสอบ และมีสิทธิ์ออกใบรับรองบุคลากรตามมาตรฐานความปลอดภัยของ EASA ทั้งนี้มหาวิทยาลัยวางแผนส่งคณาจารย์ที่จะเป็นทีมสอนราว 15 คน ไปอบรมเพิ่มเติมกับ บริษัท AERO-Bildung ที่ประเทศเยอรมนี ในต้นปีหน้า และในระหว่างนี้จะต้องมีการลงทุนอุปกรณ์การเรียนการสอนเพิ่มขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบาท ไม่รวมครุภัณฑ์ที่มหาวิทยาลัยมีอยู่เดิมแล้วจำนวนหนึ่ง

รูปแบบของหลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยานดังกล่าวนั้น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ มีแผนที่จะเปิดเป็นหลักสูตรการฝึกอบรมเฉพาะด้าน ในรูปแบบหลักสูตรนานาชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อในการเรียนการสอนตลอดทั้งหลักสูตร โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งจะเรียนกับคณาจารย์ของราชมงคลกรุงเทพ ที่ผ่านการอบรมมาแล้ว และอีกส่วนหนึ่งจะเรียนจากผู้เชี่ยวชาญของ AERO-Bildung ที่จะบินมาสอน โดยผู้ที่สำเร็จหลักสูตรฝึกอบรมในแต่ละ Category นั้น จะได้รับประกาศนียบัตรและใบรับรองตามมาตรฐานความปลอดภัยของ EASA

หลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ จึงนับเป็นหลักสูตรการซ่อมบำรุงอากาศยานหลักสูตรแรกในประเทศไทย ที่มอบประกาศนียบัตรตามการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยจาก EASA โดยผู้ผ่านหลักสูตรจะสามารถปฏิบัติงานซ่อมบำรุงอากาศยาน จากองค์กรด้านการบินที่ใช้มาตรฐานความปลอดภัยของ EASA ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายถึง 70% ทั่วโลก

ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับบุคลากรที่ทำงานในสายงานอากาศยาน เพราะหากต้องการให้สายงานที่ตนเองทำอยู่นั้นได้รับการยอมรับในระดับสากลและสามารถทำงานกับหน่วยงานด้านการบินและสนับสนุนการบินได้ทั่วโลกได้นั้น ส่วนใหญ่จะต้องไปสอบและได้รับใบประกาศนียบัตรกับองค์กรรับรองความปลอดภัยด้านการบินที่ได้รับการยอมรับ อย่างเช่น องค์กร EASA หรือ FAA (องค์การบริหารการบินแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา) หรือ ICAO (องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ) หรือ IATA (สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ) เป็นต้น

ดร.สาธิต กล่าวถึงกลุ่มเป้าหมายที่จะมาเรียนในหลักสูตรนี้ว่าจะประกอบด้วย 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ กลุ่มคนที่ทำงานในองค์กรด้านซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือทำงานอยู่แล้ว และต้องการที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อทำงานในตำแหน่งที่สูงขึ้นหรือเพิ่มโอกาสไปทำงานในองค์กรด้านนี้ในระดับสากล เพื่อพร้อมรับการเปิด AEC การมาเรียนในหลักสูตรนี้จนจบและได้รับการรับรองจาก EASA จะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับวิชาชีพได้เป็นอย่างมาก

กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มนักเรียนที่เรียนเกี่ยวกับเทคโนโลยีอากาศยานจากองค์กร สถาบันการศึกษา และมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ที่ปัจจุบันมีการเปิดสอนเกี่ยวกับด้านการบินหรืออากาศยานมากกว่า 15 แห่ง ซึ่งจากการศึกษาพบว่าสถาบันการศึกษาบางแห่งส่งนักศึกษาไปเรียนบางส่วนของหลักสูตรในต่างประเทศ เพื่อให้นักศึกษาได้รับการรับรองจาก EASA ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในการเรียนจนจบหลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยานที่ได้ใบรับรองมาตรฐานสากลนั้นสูงมาก ราชมงคลกรุงเทพเชื่อว่าการเปิดหลักสูตรที่กำลังจะเปิดนี้จะทำให้นักศึกษาที่เรียนด้านนี้หรือสนใจจะศึกษาต่อทางด้านนี้ สามารถเรียนเพิ่มเติมเพื่อสอบรับใบรับรองมาตรฐานที่เสมือนใบเบิกทางและใช้การันตีทักษะเพื่อการทำงานในองค์กรนานาชาติได้มากขึ้น

กลุ่มที่สาม ที่มหาวิทยาลัยได้วางไว้คือกลุ่มนักศึกษาและบุคลากรจากต่างชาติ ที่ต้องการเรียนและทำงานด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน

“ในฐานะของสถาบันการศึกษาที่ต้องผลิตบุคลากรเพื่อรองรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน เราได้ทำการศึกษาอุตสาหกรรมการบินมานานพอสมควร พบว่ามีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และเห็นว่าความได้เปรียบทางภูมิประเทศของไทยที่อยู่ในจุดศูนย์กลางของอาเซียน ทำให้เรามีโอกาสที่จะเป็นศูนย์กลางการบินของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC และมีแนวโน้ม ความต้องการบุคลากรทางด้านอากาศยานในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในเรื่องของงานซ่อมบำรุงอากาศยาน” ดร.สาธิต กล่าว

 

 

วันที่ 28/11/2556 เวลา 7:12 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

284

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน