เอกชน-แบงก์ห่วง ศก.ไทย
เอกชน-ผู้บริหารสถาบันการเงินห่วงการชุมนุมยืดเยื้อกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ส.อ.ท.มึนต่างชาติทยอยสอบถามเหตุการณ์ แต่ตอบไม่ได้ว่าจะจบอย่างไร ขณะที่ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียเตรียมปรับลดอัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทย
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้นักลงทุนต่างชาติได้ทยอยสอบถามมายัง ส.อ.ท.ถึงเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้จะมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด
ซึ่ง ส.อ.ท.ก็ไม่สามารถตอบคำถามดังกล่าวได้แต่ยอมรับว่าจากที่ภาคเอกชนเคยกังวลในเรื่องนี้ได้กลายเป็นวิตกว่าจะเกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้นจึงอยากให้ทั้งสองฝ่ายพูดคุยกันแทนที่จะทำให้สังคมแตกแยกไปมากกว่านี้ เพราะหากเหตุการณ์ยืดเยื้อจะกระทบต่อรายได้การส่งออกรายได้จากการท่องเที่ยว บรรยากาศของการลงทุนจากต่างชาติ ที่หากเสียหายไปก็จะยากที่จะฟื้นคืนมาได้ในระยะเวลาสั้นๆ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศเพื่อนบ้านเราเมื่อเกิดเหตุการณ์ทางการเมือง ทำให้สภาพเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ไม่สามารถกลับคืนมาได้
“หากถามว่าการยุบสภาจะเป็นทางออกและคำตอบสุดท้ายหรือไม่เพื่อให้ทุกอย่างกลับไปสู่ภาวะปกติ ทุกคนไปเข้าคูหาเลือกตั้ง แต่ตนมองว่ารัฐบาลชุดนี้ก็มาจากการเลือกตั้ง หากมีการเลือกตั้งใหม่ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล แล้วก็มีการต่อต้านเหมือนในขณะนี้ก็ยากที่จะเป็นคำตอบของการยุบสภาเช่นกัน”
นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้ สมาชิก ส.อ.ท.จะเรียกประชุมเพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหาในเรื่องการส่งออกของประเทศ ว่าจะทำอย่างไรเพราะเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้คำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) ที่จะเริ่มเข้ามาตั้งแต่เดือน ม.ค.57 หยุดชะงักลงแล้วในขณะนี้ เพราะลูกค้าต่างชาติไม่มั่นใจว่าหากเกิดความรุนแรงแล้วผู้ผลิตของประเทศไทยจะสามารถผลิตสินค้าตามที่สั่งซื้อได้หรือไม่ เพื่อลดความเสี่ยงลูกค้าก็หันไปซื้อสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และหากเป็นนี้ออร์เดอร์ใหม่ๆ ก็จะไม่กลับมาที่ประเทศไทย เพราะลูกค้าก็หันไปสั่งจากเพื่อนบ้านแทนเหมือนกรณีหลังเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 ออร์เดอร์ของบางสินค้าก็ไม่กลับมาที่ประเทศไทย
ทั้งนี้ที่สำคัญประเทศไทยก็ต้องเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 2558 ขณะที่เวียดนาม พม่า อินโดนีเซีย ได้เตรียมตัวพร้อมที่จะดึงนักลงทุนเข้าไปในประเทศตนเอง แต่ประเทศไทยกลับกำลังเผชิญปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองที่ทำลายบรรยากาศการลงทุน ซึ่งหากนักลงทุนมือใหม่เข้าไปในประเทศเหล่านี้รองรับเออีซี ก็มีแนวโน้มว่าจะไม่กลับเข้ามาลงทุนในไทยอย่างแน่นอนโดยจะทำให้ตัวเลขการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยหดตัวการจ้างงานก็จะลดลง เพราะรายได้จากการส่งออกลดลง แรงงานจบใหม่ก็จะตกงาน แรงงานในระบบก็จะมีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย เกิดปัญหาเศรษฐกิจตามมาอย่างต่อเนื่อง
ด้านนางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัญหาทางการเมืองหากมีความยืดเยื้อจะยิ่งกระทบต่อการท่องเที่ยว และบรรยากาศการบริโภคของภาคประชาชนให้มีปัญหาบ้าง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ภาคเอกชนเป็นห่วงและอยากให้ยุติโดยเร็ว เพราะในปี 2557 ยังมีปัจจัยเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจโลก และการที่สหรัฐจะทยอยลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยเช่นกัน โดยประเมินว่าหากสถานการณ์การเมืองในประเทศสงบ เศรษฐกิจจะโตได้ 4-5% ขณะที่อัตราการขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์จะชะลอลงเล็กน้อยจาก 10-11% ในปีนี้เป็น 8-9% ในปีหน้า เนื่องจากสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่เร่งตัวมากในปีนี้คงจะเติบโตช้าลง ในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์คาดว่าการขยายตัวของสินเชื่อจะสอดคล้องไปกับภาพรวมของระบบ โดยปีนี้เชื่อว่าสินเชื่อรวมจะโต 10-11 % หลัง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาโต 12%
นางลักษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโส สำนักงานผู้แทนประจำประเทศไทย ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี กล่าวว่า เอดีบีเตรียมปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงจากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3.8% เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ขยายตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่วนไตรมาส 4 มองว่าการส่งออกคงไม่ฟื้นตัวมากนัก ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองบ้างแล้ว ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่ฟื้นตัวมากนัก แต่เชื่อว่าการส่งออกปีนี้จะไม่ติดลบ
ส่วนเศรษฐกิจไทยปีหน้าคาดการณ์ว่าจะขยายตัวดีกว่าปีนี้ โดยการส่งออกจะเริ่มฟื้นตัวมากขึ้นตามเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น รวมทั้งการลงทุนภาครัฐตามนโยบายลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท จะช่วยผลักดันการลงทุนภาคเอกชนให้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามต้องติดตามว่าภาครัฐจะสามารถเบิกจ่ายเพื่อลงทุนตามแผนที่วางไว้ได้มากน้อยเพียงใด เพราะการลงทุนที่ต่อเนื่องจะช่วยพยุงเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนต่อไปได้ ทั้งนี้หวังว่าสถานการณ์การเมืองในประเทศจะไม่ยืดเยื้อ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของผู้บริโภค
วันที่ 26/11/2556 เวลา 10:17 น.