ชาวอำนาจเจริญเพาะลูกปลาทำหมก
สัตว์น้ำมีหลายชนิดที่มนุษย์นำมาประกอบอาหารเพื่อบริโภค โดยเฉพาะสัตว์น้ำประเภทปลา นิยมนำมาบริโภคกันมาก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับท้องถิ่นแต่ละภาค ที่จะนำไปปรุงอาหารแบบใดให้ถูกปากเป็นที่ถูกใจผู้บริโภค
โดยเฉพาะ หมกปลา เป็นเมนูจานเด็ดที่คนอีสานนิยมบริโภคตั้งตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ แต่วัตถุดิบคือลูกปลาที่นำมาทำส่วนใหญ่จะหาได้จากธรรมชาติ ไม่ค่อยจะพอเพียง จึงมีผู้คิดจะเพาะเลี้ยงลูกปลาขึ้นมา เพื่อป้อนตลาดให้พ่อค้านำไปทำหมกปลาจนประสบความสำเร็จ มีพ่อค้าจากประเทศลาวเข้ามาสั่งซื้อครั้งละจำนวนมากๆ สร้างรายได้เป็นอย่างดี
นายธงชัย อุดมศรี อายุ 39 ปี อยู่บ้านเลขที่ 135 หมู่ 5 บ้านโคกค่าย ต.ไก่คำ อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ ชาวนาที่มีไอเดียเป็นเลิศ บอกว่า เดิมทีมีอาชีพทำนาปลูกข้าว เป็นเพราะถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางหรือโรงสีมาก ขายข้าวไม่มีกำไร ไม่พอเป็นค่าปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพง เกิดความท้อแท้ นอนคิดหาแนวทางทำอาชีพใหม่แทบจะเป็นโรคประสาทเพราะคิดมาก เกิดความเครียดอยู่หลายเดือน กระทั่งไปที่ตลาดสด เห็นแม่ค้าขาย หมกปลา ขายดีมาก ใครๆ ก็ซื้อไปรับประทาน แม้กระทั่งตนเองยังชอบรับประทาน จึงเกิดความคิดที่ว่าน่าจะทดลองเพาะเลี้ยงลูกปลาขายป้อนตลาด จากนั้นก็ศึกษาทดลองทำจนประสบความสำเร็จ โดยใช้เนื้อที่ 20 ไร่ กระทั่งปัจจุบันเป็นเวลา 10 ปี เกิดเป็นฟาร์มเลี้ยงปลาเต็มรูปแบบ ชื่อ ธงชัย พันธุ์ปลา สร้างรายได้เป็นอย่างดี
นายธงชัย ผู้มาเอาดีทางการเลี้ยงปลา บอกว่า เริ่มเพาะเลี้ยงลูกปลาเมื่อปี 2546 รวม 10 ปี ด้วยการกู้ยืมเงินจากธนาคารแห่งหนึ่ง จำนวน 50,000 บาท จากนั้นนำไปซื้อพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ปลานิล ไน ตะเพียน นวลจันทร์ ดุก จำนวนหนึ่ง แล้วปล่อยปลาพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ลงบ่อดินธรรมชาติ กว้าง 20 เมตร ยาว 30 เมตร บ่อใครบ่อมัน มีอยู่ 10 บ่อ ในอัตราส่วน 1 ต่อ 3 ตัว คือ แม่พันธุ์ 1 ตัวต่อพ่อพันธุ์ 3 ตัว ซึ่งปล่อยครั้งละ 1,000 กิโลกรัม ผสมพันธุ์ประมาณ 2 -3 วัน ก็จะเกิดลูกปลา ต่อมา ก็นำลูกปลาออกจากบ่อดินลงบ่อซีเมนต์ ขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 10 เมตร ซึ่งมีอยู่ 7 บ่อ ระหว่างที่พักในบ่อชีเมนต์ ก็ต้องให้ออกซิเจนตลอดเวลา ใช้เวลา 3 เดือนก็จับขายได้ ขนาดลูกปลา 3-4 นิ้ว การจำหน่ายก็คิดตามขนาดความยาวของลูกปลา ซึ่งคิดเป็นเซนติเมตร คือ 1 เซนติเมตร ต่อ 80 สตางค์ ซึ่งลูกปลาที่จับขายขนาดความยาวตั้งแต่ 5 เซนติเมตรขึ้นไป ที่ผ่านมาจะมีพ่อค้าจาก จ.อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มุกดาหาร และ สปป.ลาว เข้ามาซื้อถึงที่นี่ คราวละ 40,000 -50,000 ตัว โดยจะนำไปปรุงอาหาร เรียกว่า หมกปลา ไปวางขายตามตลาดในภาคอีสาน และ สปป.ลาว หรือนำไปเพาะเลี้ยงด้วย ซึ่งก็สร้างรายได้อย่างงดงาม
นายธงชัย บอกอีกว่า สำหรับอาหารที่ใช้เลี้ยงประกอบด้วย รำอ่อน หาซื้อได้ตามโรงสีใกล้บ้าน ปลาป่น ไข่แดง จะเป็นไข่เป็ดไข่ไก่ก็ได้ ด้วยการบดผสมกันให้ปลากิน วันละ 2 ครั้ง คือเช้ากับเย็น ส่วนปัญหาอุปสรรคก็มีโรคที่มากับฤดูฝน คือ โรคปลาเหงือกแดง หรืออหิวาต์ปลา หากรักษาไม่ทัน ก็จะระบาดปลาตายทั้งบ่อ ก็มีหน่วยงานราชการให้คำแนะนำวิธีรักษา โดยใช้ยาผสมอาหารให้กิน ราวๆ 7 วันก็จะหาย
นายธงชัย บอกว่า การเพาะเลี้ยงลูกปลาเป็นอาชีพท้าทายความสามารถอีกอาชีพหนึ่ง แม้จะลงทุนครั้งแรกค่อนข้างสูง หากผ่านไปชุดแรกแล้ว ลูกปลาที่สมบูรณ์ก็ต้องคัดเลือกไว้ เพื่อเป็นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ในการเพาะเลี้ยงครั้งต่อไป ปัญหาอุปสรรคก็มีน้อย หากเกษตรกรท่านที่สนใจก็ทดลองทำดู รับรองไม่มีขาดทุน
นายธงชัย บอกทิ้งท้ายว่า “ที่ผ่านมาได้ถูกเชิญไปอบรมที่ จ.ขอนแก่น เกี่ยวกับการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 เพื่อเป็นการขยายตลาดไปยังประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ก็ได้นำร่องส่งขาย สปป.ลาวเป็นอันดับแรก จากนั้นก็จะขยายไปจนครบทุกประเทศในกลุ่มอาเซียนภายในปี 58 แน่นอน” นายธงชัย บอก
นายวีระวัฒน์ ชื่นวาริน ผวจ.อำนาจเจริญ กล่าวว่า ราษฎรในพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ ส่วนใหญ่ทำนาปลูกข้าวเป็นอาชีพหลักปีละครั้ง จากนั้นก็จะมองหาอาชีพอื่นเสริมเพื่อนำเงินมาเป็นทุนทำนาปีต่อไป โดยเฉพาะอาชีพจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ทาง จ.อำนาจเจริญ ได้ให้การส่งเสริมและสนับสนุนมาโดยตลอด ไม่ว่าจะด้านการเกษตร ประมง และอื่นๆ ซึ่งที่หมู่บ้านโคกค่าย เกษตรกรที่อาศัยอยู่ใกล้คลองชลประทาน ก็จะเพาะเลี้ยงลูกปลา สร้างรายได้ดีมาก ที่ผ่านมาจะมีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเข้าดูแลให้คำแนะนำให้ความรู้เกษตรกรกรอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างาน สร้างรายได้ และที่สำคัญ ทำให้สถาบันครอบครัวอบอุ่นด้วย…
สนธยา ทิพย์อุตร/อำนาจเจริญ
วันที่ 19/11/2556 เวลา 10:58 น.