กทม. ร่วมประชุม ANMC21 เสนอแนวทางพัฒนาเมือง

กทม. เข้าร่วมประชุมเครือข่ายเมืองใหญ่แห่งเอเชีย (The Asian Network of Major Cities 21 : ANMC21) ครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. 56 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม นำเสนอแนวทางการพัฒนาเมืองพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในประเด็นปัญหามลทัศน์ของมหานครกรุงเทพฯ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และระบบขนส่งมวลชนทางรางที่มีผลต่อการพัฒนากรุงเทพมหานคร โดยมีนายจุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายพีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกรุงเทพมหานคร น.ส.ตรีดาว อภัยวงศ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและโฆษกกทม.และคณะ เข้าร่วมประชุม

นายจุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การประชุม ANMC21 มีจุดประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความร่วมมือ ในโครงการต่างๆ ในอันที่จะเอาประสบการณ์ ความชำนาญหรือการแก้ปัญหาในแต่ละเมือง มาช่วยแก้ไขปัญหาของเมืองตัวเอง ซึ่งจากการประชุมมาแล้ว 11 ครั้ง ANMC21 มีโครงการร่วมกัน จำนวน 17 โครงการ ส่วนใหญ่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม การแก้ไขปัญหาอุบัติภัย ทั้งเรื่องแผ่นดินไหว เพลิงไหม้ น้ำท่วม สึนามิ และเรื่องโรคติดต่อที่จะเกิดขึ้นในการเดินทางของประชาชนในทวีปเอเชีย นอกจากนั้นจะเป็นเรื่องผังเมือง ชุมชนแออัด การแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัย รวมถึงการเดินทางของประชาชน เน้นการบริการในเมืองขนาดใหญ่โดยมีระบบขนส่งที่เชื่อมต่อจากเมืองใหญ่ไปยังเมืองบริวารได้ทุกเมืองก็จะเอาปัญหาต่างๆ มาพูดคุยกันในเวทีการประชุม ปัจจุบันให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องเสียง อุณหภูมิ ขยะ น้ำเสีย และครั้งนี้มีการนำเสนอการประหยัดพลังงานในเมืองขนาดใหญ่ด้วย

ในส่วนของกรุงเทพมหานครได้นำเสนอเรื่องผังเมืองกทม. ที่ได้กำหนดการแก้ไขปัญหา สภาพสิ่งแวดล้อม การใช้ที่ดิน ระบบขนส่งมวลชน การจัดพื้นที่เพื่อรองรับการพัฒนาเมือง และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น โดยมีประเด็นการนำเสนอแนวทาง การดำเนินงานของกรุงเทพมหานครใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ปัญหามลทัศน์ของเมืองมหานคร ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อเมืองมหานคร และระบบขนส่งมวลชนทางรางที่มีผลต่อการปรับโฉมการพัฒนากรุงเทพมหานคร

จากปัญหาของเมืองในแต่ละโครงการที่ได้นำเสนอมาแล้ว จะสอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทั้งสิ้น ได้แก่ มหานครแห่งความสุขด้วยการฟื้นฟูย่านเมืองเก่า ชีวิตใหม่ (Urban Regeneration) มหานครแห่งโอกาสของทุกคนด้วยการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy District) มหานครแห่งสีเขียวด้วยการพัฒนาเครือข่ายพื้นที่สีเขียว (Green Link) มหานครแห่งปลอดภัย ด้วยการสร้างเสริมการเดินเท้าและการสัญจรสะดวกคล่องตัว ตลอดจนธุรกิจบนทางเท้า Smart Street และมหานครแห่งสิ่งแวดล้อมที่ดี ด้วยการจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อม (Environment Fund)

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า การประชุมครั้งนี้ได้นำเสนอตัวอย่างการแก้ไขปัญหาของเมืองต่างๆ เช่น จาร์กาต้า-อินโดนีเซีย นำเสนอการแก้ไขปัญหาเรื่องชุมชนแออัด ฮานอย-เวียดนาม นำเสนอเรื่องการแก้ไขปัญหาพลังงาน การอนุรักษ์พลังงาน โตเกียว-ญี่ปุ่น เสนอเรื่องพื้นที่สีเขียวและอีกหลายเมืองนำเสนอเรื่องระบบขนส่งมวลชน ทั้งหมดนี้เป็นรูปแบบของเมืองต่างๆ ที่มีแนวทางแก้ปัญหาและประสบความสำเร็จ และหลายเมืองทำแล้วไม่ไปสู่เป้าหมาย ดังนั้นการประชุมครั้งนี้ จึงเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งกรุงเทพมหานครจะได้นำวิธีการแก้ปัญหาของเมืองต่างๆ มาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กรุงเทพมหานครจะยังคงเป็น 1 ในเมืองหลวงของประเทศในอาเซียนที่มีความสง่างาม ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ดี ผู้คนและผู้มาเยี่ยมเยือนมีความสุข

สำหรับองค์การ ANMC21 มีเมืองสมาชิก 12 เมือง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (ไทย) เดลี (อินเดีย) ฮานอย (เวียดนาม) จาการ์ตา (อินโดนีเซีย) กัวลาลัวเปอร์ (มาเลเซีย) มนิลา (ฟิลิปปินส์) สิงคโปร์ ไทเป (ไต้หวัน) โตเกียว (ญี่ปุ่น) ทอมส์ (รัสเซีย) อูลานบาตอร์ (มองโกเลีย) และย่างกุ้ง (เมียนมาร์) โดยมีการจัดประชุมใหญ่เป็นประจำทุกปีและจัดมาแล้ว 11 ครั้ง ในการจัดประชุมจะมีการจัดการแสดงนิทรรศการเมืองในหัวข้อต่างๆ ควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่ประจำปีครั้งที่ 8 เมื่อเดือน พ.ย. 52 โดยมีประเด็นหลักในการหารือ คือ การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และความร่วมมือป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

วันที่ 19/11/2556 เวลา 14:39 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

200

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน