มาร์กอส ยอดทรราชอาเซียน
“แม้ฟิลิปปินส์จะยับเยินเสียหายด้วยแรงพายุเพียงใด อีกไม่นานบ้านเมืองก็จะกลับคืนสู่สภาพเดิมและประชาชนก็จะพากันลืมมันในเวลาไม่นานนัก…ต่างกันกับหายนะจากผู้นำตระกูลหนึ่ง ซึ่งแม้ผ่านไป 30 ปีแล้ว ชาวตากาล็อกเจ้าของประเทศกลับฝังใจ”
การเมืองฟิลิปปินส์เป็นบทตลกของอาเซียน นักการเมืองโกงชาติถูกขับไล่ออกไปแต่ประชาชนกลับเลือกคนเหล่านี้กลับมาเป็น ส.ส. และ ส.ว.มากกว่า 2 ใน 3 จนสภาเต็มไปด้วยตระกูลการเมืองอดีตประธานาธิบดี 3 คน ถูกดำเนินคดีคอรัปชั่นก็ยังกลับสู่สภาได้…หากจะย้อนรอยกรรมนั้นน่าจะเริ่มขุดกันที่มาร์กอส
มาร์กอส ยอดทรราชอาเซียน
เฟอร์ดินันด์ เอดราลิน มาร์กอส เป็นประธานาธิบดี คนที่ 10 ของฟิลิปปินส์ ครองอำนาจตั้งแต่ 30 ธันวาคม 1965-25 กุมภาพันธ์ 1986
มาร์กอส เกิดที่เมืองซาร์รัต จังหวัดอิโลคอส นอร์เต เป็นลูกชายของมาเรียโน มาร์กอส เป็นทนายความ ส่วนแม่เป็นครูชื่อโจเซฟา เอดราลิน เขาเป็นเด็กที่ฉลาด พูดจาฉะฉาน จบมหาวิทยาลัยด้วยคะแนนระดับเกียรตินิยม ก่อนที่จะแต่งงานกับ อิเมลดา โรมูอัลเส สาวสวยผู้ได้ตำแหน่งนางงามฟิลิปปินส์ ไม่เพียงเล่ห์กลอันน่ารังเกียจจะทำให้สามารถพ้นข้อหาสังหารคู่แข่งทางการเมืองของครอบครัวในปี 1935 แต่เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ยังหลุดพ้นคดีสังหารคู่แข่งทางการเมืองของตัวเองซ้ำในยุคสมัยที่เขาก้าวขึ้นเป็นผู้นำของแดนตากาล็อกได้สำเร็จด้วย-มาร์กอสนำตัวใกล้ชิดจนเขากลายเป็นนักกฎหมายหนุ่มคนสนิทของ มานูเอล รอกซาส ประธานาธิบดีคนแรกของฟิลิปปินส์หลังจากได้เอกราช ก่อนผละออกมาในเส้นทางที่เล็งผลเลิศไว้
มาร์กอสได้รับเลือกเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ปี 1949-59 และวุฒิสภา ปี 1962-65 ด้วยคำมั่นสัญญาจะพลิกฟื้นความเจริญมั่งคั่งให้แก่ฟิลิปปินส์, ทำให้ภาคการเกษตรได้ผลเก็บเกี่ยวดีขึ้น, และยุติการคอรัปชั่น เขาก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีในปี 1965 และในปี 1969 กลายเป็นประธานาธิบดี 2 สมัยซ้อนคนแรกของชาวฟิลิปปินส์
แม้ฟิลิปปินส์อยู่ในอำนาจของนักการเมืองจากครอบครัวชนชั้นสูงเฉกเช่น มาร์กอส แต่ก็ยังอวดอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย และระบบเศรษฐกิจแบบเปิดกว้างที่เฟื่องฟู แม้ประชาธิปไตยแบบนั้นถูกพิสูจน์ว่าเปราะบางเต็มทีเมื่อผลจากรัฐธรรมนูญปี 1973 ห้ามการเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ของเขา แม้มาร์กอสจะพยายามติดสินบนตัวแทนการประชุมให้โหวตคัดค้านก็ตาม
เขาจึงประกาศกฎอัยการศึกในเดือนกันยายน 1972 โดยอ้างเหตุเรื่องความเคลื่อนไหวของขบวนการคอมมิวนิสต์ เขาจำคุกนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม สั่งปิดสื่ออิสระที่มีอยู่ทั้งหมด และก็ปกครองประเทศภายใต้ประกาศกฤษฎีกาของประธานาธิบดี
แม้ในเวลาต่อมา มาร์กอสจะเปิดทางให้จัดตั้งรัฐสภาได้ แต่อำนาจที่แท้จริงยังคงอยู่ใต้เงื้อมมือของเขาและพวกพ้อง ซึ่งรวมถึงภรรยาผู้ทะเยอทะยานที่หลงใหลความเป็นผู้นำแฟชั่น ตลอดจนสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว และเพื่อนคนสำคัญของครอบครัว
เขาตกรางวัลพวกพ้องเหล่านี้ ในรูปของอำนาจควบคุมอุตสาหกรรมสำคัญๆ อย่าง น้ำตาลและมะพร้าว รัฐบาลของเขาเต็มไปด้วยการคอรัปชั่น การดำเนินนโยบายเช่นนี้เอง ทำให้เกิดศัพท์เฉพาะ “Cronyism” ซึ่งใช้อธิบายรูปแบบการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจที่บิดเบือนผิดรูปผิดร่างตามแบบของเขา
มาร์กอสยังทำให้กองทัพฟิลิปปินส์ เข้ามาเกี่ยวข้องพัวพันกับการเมือง มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่กองทัพที่ไว้วางใจ ไปรับตำแหน่งด้านพลเรือน และโหมกระพือความกระหายในอำนาจในสถาบันที่ครั้งหนึ่งยึดมั่นในความเป็นมืออาชีพอย่างสูงเด่น
ขณะที่เพื่อนบ้านเช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย และไทยในยุคนั้น ดิ้นรนกันไปอย่างกระเหม็ดกระแหม่ ฟิลิปปินส์กลับสะสมสร้างหนี้ก้อนมโหฬารจากต่างชาติ และก็จมดิ่งลงสู่ความยากจน แต่ครอบครัวของมาร์กอสและสหายกลับหอบเอาความมั่งคั่งของชาติซุกซ่อนเอาไว้ในต่างประเทศ เป็นบัญชีธนาคารสวิส หรืออสังหาริมทรัพย์ในนิวยอร์ก
อดีตคนใกล้ชิดคนหนึ่งของพวกเขา เบธ เดย์ รูโมโล เผยคำพูดของนางอิเมลดา มาร์กอส ซึ่งกล่าวว่า “สามีของฉันชอบพวกทองแท่ง แต่ฉันชอบพวกอาคารบ้านเรือนมากกว่า”
ในภาวะของแพงค่าแรงต่ำ แม้ว่าสื่อซึ่งถูกควบคุมโดยรัฐจะโหมประโคมว่าประเทศเต็มไปด้วยความสดใส แต่เรื่องราวเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ที่ฟุ่มเฟือยจากพันธมิตรของมาร์กอส ก็เริ่มถูกตีแผ่ในวงกว้าง รวมถึงสุขภาพของประธานาธิบดีมาร์กอสเองก็ย่ำแย่ จนเกิดสะท้อนความเป็นทรชนทางการเมืองไว้ไม่อาจลบเลือนได้ จุดเปลี่ยนสำคัญมาถึงในเดือนสิงหาคม 1983
ทหารของมาร์กอสยิงผู้นำฝ่ายค้าน เบนินโญ อาคีโน เสียชีวิตขณะที่เพิ่งเดินทางถึงสนามบิน หลังจากการลี้ภัยในสหรัฐ สาธารณชนต่างประณามฝีมือของผู้นำเผด็จการของพวกเขา ด้วยแรงขับดันจากการสูญเสียชีวิตของอาคีโน จุดประกายไฟให้ชาวฟิลิปปินส์ออกมาเดินประท้วงต่อต้านมาร์กอสตามท้องถนน ด้วยความหยิ่งทะนงและแรงบีบจากสหรัฐ มาร์กอสประกาศลงเลือกตั้งขึ้นอีกครั้งในปี 1986 โดยฝ่ายค้านผนึกกำลังส่งนางคอราซอน ภรรยาหม้ายของอาคีโนที่ถูกลอบสังหารเข้าเป็นคู่แข่ง การเลือกตั้งด่างพร้อยด้วยกลโกงต่างๆ นานาของมาร์กอส ซึ่งโหมกระพือความไม่พอใจของสาธารณชนมากยิ่งขึ้นไปอีก
ทหารบางกลุ่มซึ่งแปรพักตร์หันมาโค่นล้มมาร์กอส กลายเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการลุกฮือขึ้นสู้ ที่รู้จักกันในนาม “พลังประชาชน” ส่งผลให้คอราซอน อาคีโน ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของฟิลิปปินส์ และถีบส่งให้มาร์กอสที่กำลังล้มป่วยต้องบินไปลี้ภัยในฮาวาย พร้อมกับนางอิเมลดา
รัฐบาลมาร์กอสกู้เงินจากต่างชาติเป็นจำนวนมหาศาล เพื่อนำมาใช้ในนโยบายประชาชานิยม หนี้สินของรัฐบาลเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าตัวในระยะเวลาเพียงกว่า 20 ปีที่มาร์กอสเป็นผู้นำประเทศ ฟิลิปปินส์กลายเป็นประเทศที่มีหนี้สินมากที่สุดในเอเชีย และจนถึงทุก วันนี้ชาวฟิลิปปินส์ยังต้องแบกรับหนี้สินของอดีตรัฐบาล รายได้ของประเทศมากกว่าครึ่งหนึ่ง ต้องถูกนำไปจ่ายดอกเบี้ยจากหนี้สินที่รัฐบาลมาร์กอสก่อขึ้น
รัฐบาลมาร์กอสอยู่ได้ด้วยการค้ำจุนของสหรัฐอเมริกา มาร์กอสเปิดทางให้ทหารสหรัฐ เข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศเพื่อสกัดกั้นคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งเกิดเหตุลอบสังหารนายเบนนินโย อาคิโน ผู้นำฝ่ายค้าน ทำให้ฟิลิปปินส์ลุกเป็นไฟขึ้นประท้วง และมาร์กอสต้องขอให้สหรัฐ ช่วยเหลือให้เขาไปลี้ภัยที่เกาะฮาวายจนสิ้นชีวิตที่นั่น
ในระหว่างลี้ภัยออกนอกประเทศ มาร์กอสและครอบครัวได้นำทองคำแท่งและเพชรพลอยบรรจุเต็มกระเป๋าเดินทาง 24 ใบ ขณะที่ในตู้เสื้อผ้าในทำเนียบประธานาธิบดีพบว่า ภรรยาของท่านประธานาธิบดีมีรองเท้ามากถึง 2,700 คู่ ประเมินกันว่า ตระกูลมาร์กอสฉ้อราษฎร์บังหลวงไปมากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ ทุกวันนี้เงินทุจริตยังคงถูกซุกซ่อนอยู่ในต่างประเทศ และนางอีเมลดา ภรรยาของมาร์กอส ก็ยังคงรั้งตำแหน่งบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 2 ของฟิลิปปินส์
ผู้คนไม่น้อยยังแปลกใจที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ไม่กระตือรือร้นในการไล่ล่าเงินทุจริตของมาร์กอส แต่นั่นไม่เท่ากับที่ชาวฟิลิปปินส์เลือกให้ นางอีเมลดา ภรรยาของอดีตผู้นำโกงชาติ กลับมาเป็น ส.ส. ถึง 2 สมัย ส่วนลูกชายและลูกสาวของเธอก็ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี และสมาชิกวุฒิสภาด้วย
น้ำมือนักการเมืองทำให้ฟิลิปปินส์ตกต่ำจนถูกนิยามว่าเป็น “คนป่วยแห่งอาเซียน” เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ทำให้ชาวฟิลิปปินส์จำนวนมหาศาลต้องเร่ร่อนไปขายแรงงานในต่างแดน สาวใช้ฟิลิปปินส์เป็นที่รู้จักกันดีในฮ่องกงและสิงคโปร์ ทุกวันนี้เงินที่แรงงานฟิลิปปินส์ในต่างแดนส่งกลับบ้านเกิดถือเป็นรายได้ หลักอย่างหนึ่งของประเทศ
เศรษฐกิจฟิลิปปินส์เพิ่งฟื้นฟูได้ไม่เท่าใดก็ตกห้วงกรรม ขนาดแต่กรุงมะนิลา เมืองหลวงของประเทศเคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง กลับรกร้าง และเต็มไปด้วยอาชญากรรมและด้วยสายตากับสมองของผองชนรากหญ้า สาเหตุให้ชาวฟิลิปปินส์เลือกอดีต “พระเอก” อย่างนายโจเซฟ เอสตราด้า ให้เป็นผู้นำประเทศ
นายเอสตราด้า อดีตพระเอกภาพยนตร์ที่เคยถูกไล่ออกจากโรงเรียน เป็นประธานาธิบดีได้ไม่ถึง 3 ปีก็ถูกประชาชนประท้วงขับไล่ในข้อหาคอรัปชั่น จากนั้นก็ถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต
นางกลอเรีย อาโรโย่ รับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีหญิงต่อจากเอสตราด้า ท่ามกลางข้อครหาว่าบริหารประเทศภายใต้เงาของสามี จนถูกแซวว่า “เธอชอบกินทุเรียน แต่สามีกินเงินหลวง” นางอาโรโย่ยังได้ใช้สิทธิพิเศษในฐานะประธานาธิบดีประกาศ “นิรโทษกรรม” ให้กับอดีตประธานาธิบดีเอสตราด้า โดยอ้างว่าต้องการ “เซ็ต ซีโร่” เพื่อให้ประเทศ “นับหนึ่งใหม่”
เอสตราด้าไม่เพียงหลุดพ้นจากโทษทั้งหมด แต่ยังได้คืนสิทธิทางการเมืองและเขาชนะเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีกรุงมะนิลา โดย ลูกชายและญาติของเขาได้เป็นสมาชิกวุฒิสภาด้วย ขณะที่อดีตประธานาธิบดีอาโรโย่ ก็ถูกดำเนินคดีคอรัปชั่น และต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล
การเมืองฟิลิปปินส์กลายเป็นเรื่องตลกร้าย นักการเมืองผู้โกงชาติจนถูกประชาชนโค่นล้ม แต่ประชาชนกลับเลือกคนเหล่านี้กลับเข้ามาปกครองประเทศ ส.ส. ส.ว. มากกว่า 2 ใน 3 ของสภาเป็นญาติพี่น้องของตระกูลการเมือง อดีตประธานาธิบดี 3 คนถูกดำเนินคดีคอรัปชั่น แต่ต่อมาก็ได้รับการอภัยโทษ และกลับเข้าสู่สภาได้อย่างทรงเกียรติ
ทำไมชาวฟิลิปปินส์ถึงเลือกผู้นำที่ไร้ความสามารถให้บริหารประเทศ? ทำไมจึงนิรโทษกรรมให้กับผู้นำที่โกงชาติ? ทำไมประชาชนต้องเดือดร้อนเพราะความไร้วิสัยทัศน์ของผู้นำแล้วไม่เจ็บไม่จำ
******************
@ การล้มลงของระบบมาร์กอส
การปฏิวัติประชาชนเพื่อโค่นเผด็จการผู้มีอำนาจเกือบเบ็ดเสร็จในประเทศ เริ่มด้วยการรวมตัวของประชาชนผู้สิ้นหวังใน “ระบอบมาร์กอส” ที่ปล่อยให้วงศ์วานว่านเครือใช้อำนาจรัฐเข้าไปทำมาหากินอย่างโจ๋งครึ่ม เป็นผู้นำไร้จริยธรรม แม้ว่ารัฐธรรมนูญฟิลิปปินส์ตอนนั้นจะกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ไม่เกิน 2 สมัยๆ ละ 4 ปี แต่มาร์กอสก็หาทางแก้กฎหมายจนตัวเองสามารถดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศได้ยาวนานถึง 20 ปี (ด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉิน, ระงับการใช้รัฐธรรมนูญเก่า, ให้เนติบริกรของตัวเองเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ให้สอดคล้องกับความต้องการของท่านผู้นำ) ก่อนที่ประชาชนจะรวมตัวกันเป็น People Power เพื่อขับไล่ออกจากตำแหน่งและให้กลับไปลี้ภัยยังต่างประเทศจนไม่มีแผ่นดินอยู่ มาร์กอสกุมอำนาจการเมืองเบ็ดเสร็จด้วยการใช้เงินทุ่มซื้อเสียงในการเลือกตั้งอย่างมหาศาล
มาร์กอสมีความสามารถเป็นพิเศษในการ “ปั่น” ความเห็นชาวบ้าน สร้างภาพด้วยการเอาเงินภาษีประชาชนแจกเงินไม่อั้น เป็นยอดนักบริหารให้เกิดการโกงกินอย่างไร้เทียมทาน ใช้กลเม็ดแยบยลทั้งด้านกฎหมายและช่องว่างของระเบียบ เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองและครอบครัวของตน
มาร์กอสบริหารประเทศเหมือนสโมสรส่วนตัว สามารถควบคุมกองทัพ สภา ศาล ข้าราชการประจำ สื่อมวลชน และธุรกิจผูกขาดยักษ์ๆ ของประเทศทั้งหมด
มาร์กอสและ “พรรคพวก” สร้างความร่ำรวยให้กับกลุ่มของตัวเองอย่างมหาศาล ขณะที่ประเทศชาติและคนนอกสังกัดของมาร์กอส ยากจนลง
หลังการเลือกตั้งวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 1986 อาคิโนเสนอ “แผนต่อต้านแบบอหิงสาเจ็ดข้อ” เพื่อเชิญชวนประชาชนมาประท้วงเผด็จการ
แผนต่อสู้เผด็จการโกงกินนี้รวมถึงการหยุดงานอาทิตย์ละหนึ่งวัน และคว่ำบาตรไม่ใช้บริการของธนาคาร ร้านรวงและหนังสือพิมพ์ของมาร์กอส และคนรอบข้างมาร์กอสทั้งหลายทั้งปวง
นั่นคือจุดเริ่มต้นของขบวนการสู้กับเผด็จการมาร์กอสแล้ว
เมื่อประชาชนมารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก เพื่อแสดงความไม่พอใจกับเผด็จการ คอรัปชั่นและการขาดจริยธรรมอย่างรุนแรง กองทัพก็เริ่มพิจารณาจุดยืนของตัวเองที่จะต้องเข้าข้างประชาชน ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของนักการเมืองคลั่งอำนาจและทุจริต
จุดผันเปลี่ยนอันสำคัญของขบวนการประชาชนเพื่อประชาธิปไตยคราวนั้น คือการตัดสินใจของนายทหารสองคนที่เดินข้ามไปหาประชาชนผู้ประท้วงพร้อมกับประกาศว่า “กองทัพอยู่ข้างประชาชนผู้เรียกร้องความโปร่งใสและความสุจริต…”
วันที่ 17/11/2556 เวลา 10:05 น.