วิกฤติน้ำ วิกฤติโลก เพาเวอร์กรีนรวมพลัง

จัดการน้ำข้ามพรมแดนแบบบูรณาการ

 

“น้ำ” คือสิ่งสำคัญสำหรับทุกชีวิต มีคุณมหาศาลแต่ก็ให้โทษมหันต์ หากมนุษย์ไม่ร่วมกันรักษาก็เท่ากับเป็นการฆ่าตัวตายในอนาคต…แม้วิกฤติจากน้ำจะเกิดขึ้นมากมายในช่วงนี้ แต่ก็ถือว่ายังไม่เลวร้ายเกินกว่าจะหาวิธีการป้องกัน และก่อนที่จะไม่มีโอกาสให้แก้ไข ด้วยความสำคัญของทรัพยากรน้ำดังกล่าว บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม ค่ายพาวเวอร์กรีน 8 ภายใต้หัวข้อ “วิกฤติน้ำ วิกฤติโลก เพาเวอร์กรีนรวมพลัง จัดการน้ำข้ามพรมแดนแบบบูรณาการ” โดยเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนมัธยมปลายสายวิทยาศาสตร์ จากทั่วประเทศ 65 คน ร่วมเข้าค่ายเรียนรู้ ณ ศูนย์การเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จ.นครปฐม นำทีมโดย คุณอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บมจ.บ้านปู และ ผศ.ดร.จงดี โตอิ้ม ประธานโครงการ “ค่ายพาวเวอร์กรีน 8”

คุณอุดมลักษณ์ โอฬาร กล่าวว่า โครงการค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “เพาเวอร์กรีน” (The Power Green Camp) ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 ต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้เป็นปีที่ 8 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เน้นให้เยาวชนรู้จักนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาใช้แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ ปลุกจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้แก่เยาวชน สร้างแกนนำและเครือข่ายเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต ตลอดจนเตรียมความพร้อมแก่เยาวชนในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558

 

กิจกรรมของค่ายฯ มุ่งเน้นให้เยาวชนได้เรียนรู้การพัฒนากระบวนการคิด และการฝึกฝนทักษะผ่านการเรียนภาคทฤษฎี และการฝึกปฏิบัติจริงในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการทัศนศึกษาในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้เยาวชนชาวค่ายฯ ได้เห็นสภาพพื้นที่จริง สามารถเชื่อมโยงการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมผ่านกิจกรรมต่างๆ และใช้โอกาสนี้พัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม นำความรู้ที่ได้รับหลอมรวมกับแนวคิดของตนเองถ่ายทอดสู่สาธารณชน และที่โรงเรียน อีกทั้งนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาใช้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่ตนอาศัยอยู่อย่างเป็นระบบและยั่งยืน

“สิ่งที่บ้านปูฯ ดำเนินการอาจเป็นส่วนน้อยนิด แต่หากเด็กๆ กลับไปต่อยอดขยายผลในท้องถิ่น โดยผู้ใหญ่หันมาสนใจ ก็ถือว่าเป็นจิ๊กซอว์หนึ่งที่จุดประกายเรื่องสิ่งแวดล้อม” คุณอุดมลักษณ์ กล่าว

หนึ่งสัปดาห์ใน “ค่ายเพาเวอร์กรีน 8” เยาวชน จะได้เรียนรู้เรื่องน้ำและสนุกไปกับกิจกรรมที่หลากหลายทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เริ่มด้วย “กิจกรรมทางวิชาการ” ที่ชวนเยาวชนเรียนรู้การดูแลและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำข้ามพรมแดนแบบบูรณาการ รวมทั้งมลพิษทางน้ำการเรียนการสอนเรื่องวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ (Water Footprint) และการเรียนการสอนเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเตรียมความพร้อมเยาวชนในฐานะพลเมืองอาเซียนที่จะมีบทบาทสำคัญในการร่วมแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ

 

ต่อมาคือ “ปฏิบัติการวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (Workshop)” ภาคสนามด้านการดูแลและจัดการทรัพยากรน้ำ การคำนวณวอเตอร์ฟุตพริ้นท์กับการป้องกันและแก้ไขมลพิษทางน้ำ เพื่อให้เยาวชนรู้จักการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ และตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ จากนั้นน้องๆ จะได้ร่วมเรียนรู้การจัดการและแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำใน ท้องถิ่น “การทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ที่ศูนย์ท่าจีนศึกษา อ.สามพราน จ.นครปฐม” เพื่อเชื่อมโยงไปสู่ปัญหาทรัพยากรน้ำระดับภูมิภาค รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการประยุกต์ใช้กับชุมชนของเยาวชนเอง

ส่งท้ายด้วยไฮไลท์สำคัญของค่ายพาวเวอร์กรีนคือ “การแสดงนิทรรศการโครงงานกลุ่มวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมสู่สาธารณชน” ภายใต้แนวคิด “วิกฤติน้ำ วิกฤติโลก เพาเวอร์กรีนรวมพลังจัดการน้ำข้ามพรมแดนแบบบูรณาการ” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์การเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จ.นครปฐม โดยน้องๆ ได้นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการจัดการน้ำแบบบูรณาการที่ตกผลึกมาถ่ายทอดแก่สาธารณชน และสิ่งพิเศษภายในงานนิทรรศการฯ คือเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมชมนิทรรศการ ลงคะแนน popular vote แก่โครงงานฯ ที่ประทับใจ โดยในปีนี้ โครงงาน “ฮีโร่น้อย สอยผักตบ” ของกลุ่มสีส้ม คว้ารางวัลชนะเลิศโครงงานดีเด่นไปครอง

 

นายกฤษณะ โรจน์ประโคน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ หนึ่งเดียวในโรงเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ กล่าวว่า ตนสนใจโครงการค่ายเพาเวอร์กรีน เพราะที่อยู่อาศัยใน อ.เฉลิมพระเกียรติเป็นที่ดอน รอน้ำฝนในการทำนาเพียงอย่างเดียว ไม่มีระบบชลประทานใดๆ ทั้งสิ้น การปลูกพืชก็ต้องหมุนเวียนกันไป เช่น ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกอ้อย เป็นต้น ชีวิตของคนในหมู่บ้านจึงผูกติดอยู่กับธรรมชาติล้วนๆ เมื่อได้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายฯ ก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบการจัดการน้ำ การวัดระดับน้ำ การบำบัดน้ำเสีย การรักษาต้นน้ำ และประยุกต์ใช้ความรู้ได้อย่างเหมาะสมกับพื้นที่

แม้ว่าในปีนี้คายเพาเวอร์กรีน 8 ได้ดำเนินกิจกรรมเสร็จสิ้นไปเรียบร้อยแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นทุกปีก็คือเมล็ดพันธุ์ชาว PG (Power Green) ได้ขยายฐานความรู้และฐานความร่วมมือระหว่างพี่-น้อง ต่อกันไปเรื่อยๆ โดยใช้ระบบสารสนเทศที่ทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ค, ไลน์, อินสตาแกรม ฯลฯ ในการติดต่อสื่อสาร ส่งข้อมูลถึงกันได้อย่างรวดเร็ว สายสัมพันธ์ระหว่างพี่และน้องรุ่นต่างๆ ไม่เคยจางหายไป เพราะต่างก็มีหัวใจเดียวกันในการร่วมอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของทุกชีวิตบนโลกร่วมกัน

 

 

วันที่ 15/11/2556 เวลา 9:20 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

241

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน