ไลออน แอร์ ตั้งไทยเป็นฮับแห่งที่ 2
“กลุ่มไลออน” เครือธุรกิจสายการบินสัญชาติอินโดนีเซีย ประกาศไทยเป็นศูนย์กลางการบินแห่งที่ 2 ต่อจากมาเลเซีย หวังเป็นประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เส้นทางสายไหมเชื่อมต่อไปจีน โดยเปิดตัวสายการบินในประเทศ “ไทยไลออน แอร์” ด้วยทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท หลังได้รับใบอนุญาตการบินจากกรมการบินพลเรือน (บพ.) แล้ว พร้อมประเดิม 3 เส้นทาง ดอนเมือง-เชียงใหม่, ดอนเมือง-จาการ์ตา และดอนเมือง-กัวลาลัมเปอร์ ด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 737-900 อีอาร์ ปลายเดือน พ.ย.นี้
นายรุสดี คีรานา ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานอำนวยการของกลุ่มสายการบิน ไลออน แอร์ กล่าวว่า หลังจากที่ได้รับใบอนุญาตการบินจากกรมการบินพลเรือน (บพ.) แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างขอใบรับรองการดำเนินงานทางอากาศจากคณะกรรมการดำเนินงานด้านธุรกิจการบิน (เอโอซี) โดยจะเปิดบริการสายการบินไลออนแอร์ที่เมืองไทย ภายใต้ชื่อ ไทยไลออน แอร์ ด้วยทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท
สำหรับในสายตาคนไทยแล้ว อาจจะเป็นสายการบินที่ยังใหม่อยู่ ยังไม่คุ้นเคย แต่ในธุรกิจสายการบิน ไลออน แอร์ เป็นสายการบินที่มีการสั่งซื้อเครื่องบินครั้งเดียวกว่า 708 ลำ ทั้งโบอิ้งหลายร้อยลำ รวมถึงแอร์บัสอีกกว่า 234 ลำ ยังไม่รวมเครื่องบินเล็กอีกหลายลำ เพื่อนำมาใช้ขยายธุรกิจของกลุ่มไลออน และยังถือเป็นสายการบินที่มีฝูงบินอายุน้อยที่สุดในโลก เฉลี่ยอยู่ที่ 1-2 ปี
จากสายการบินในประเทศสู่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
นายรุสดี เล่าถึงความเป็นมาของไลออน แอร์ จากสายการบินอินโดนีเซีย สู่ธุรกิจการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่า เราเริ่มบินในช่วงปี 2543 นับเป็นสายการบินต้นทุนต่ำสายการบินแรกในเอเชีย ได้มีการปรับโฉมธุรกิจการบินแบบต้นทุนต่ำให้เหมาะกับตลาดในเอเชีย โดยไม่คิดค่าบริการเช็คอินสัมภาระของผู้โดยสาร ในขณะที่สายการบินต้นทุนต่ำอื่นๆ โดยเฉพาะในแถบยุโรปและอเมริกา จะคิดค่าบริการเช็คอินสัมภาระของผู้โดยสาร เราขายตั๋วโดยสารโดยตรงให้กับลูกค้าผ่านทางเว็บไซต์ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงทำงานร่วมกับบริษัทตัวแทนการท่องเที่ยวในการผลักดันยอดขาย
“สายการบินไลออน แอร์ ใช้เครื่องบินโบอิ้ง 737-900ER ที่มีความจุที่นั่งจำนวนมากถึง 215 ที่นั่ง ทำให้มีต้นทุนต่อที่นั่งต่อกิโลเมตร(ASK) ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบระยะการบินต่อกิโลเมตร เนื่องจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ต่ำและจำนวนที่นั่งมากกว่า นอกจากการจัดหาเครื่องบินที่ใหม่และทันสมัยให้กับลูกค้าแล้ว ไลออน แอร์ ยังชนะใจลูกค้าในอินโดนีเซียด้วยการนำเสนออัตราค่าโดยสารในราคาต่ำ มีเที่ยวบินมากกว่า และมีเครือข่ายเส้นทางการบินที่ครอบคลุมมากกว่า กลุ่มไลออน ร่วมกับบริษัทในเครืออย่าง วิงส์ แอร์ เพื่อเพิ่มเที่ยวบินสู่ 76 จุดหมายปลายทาง และมีจำนวนเที่ยวบินไปยังสถานที่ต่างๆ ในอินโดนีเซียมากกว่าถึง 2 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง” นายรุสดี กล่าว
ประธานอำนวยการของกลุ่มสายการบินไลออน เล่าต่อว่า กลุ่มไลออน เป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจอินโดนีเซีย บริษัทฯ มีพนักงาน 20,000 คนในอินโดนีเซีย และ 1,000 คนในต่างประเทศ ผู้คนต่างใช้บริการในการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างหมู่เกาะของอินโดนีเซีย ซึ่งมีอยู่ราว 17,000 เกาะ ธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศแบบด่วนพิเศษในนามของ ไลออน เอ็กซ์เพรส จัดส่งสินค้าไปในตู้สินค้าใต้ท้องเครื่องบิน
โดยปัจจุบันกลุ่มไลออน ถือเป็นสายการบินที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในประเทศอินโดนีเซีย ให้บริการเที่ยวบินกว่า 700 เที่ยวบิน/วัน จาก 3 สายการบินที่เปิดให้บริการอยู่ในอินโดนีเซีย คือ 1.ไลออน แอร์ (โลว์คอสต์ แอร์ไลน์) 2.สายการบินบาติก แอร์ (สายการบินพรีเมียม) และ 3.วิงส์ แอร์ (ทำการบินด้วยเครื่องบินขนาดเล็กไปยังเกาะเล็กๆ ต่างๆ ในประเทศอินโดนีเซีย ที่เครื่องลำใหญ่ไม่สามารถทำการบินลงได้) ปีที่ผ่านมาให้บริการผู้โดยสารมากกว่า 35 ล้านคน คิดเป็นกว่า 50% ของตลาดสายการบินภายในประเทศของอินโดนีเซีย โดยตลาดสายการบินภายในประเทศของอินโดนีเซีย คือตลาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีการเติบโต 15-16%
ทั้งนี้ ได้ให้บริการในเส้นทางหลักสู่ที่หมายภายในประเทศใน 31 จุดหมายปลายทาง และบินระหว่างประเทศ 5 ประเทศ ตลอด 13 ปี ที่ดำเนินธุรกิจ บริษัทมุ่งเน้นตลาดภายในประเทศของอินโดนีเซียเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม เรากำลังขยายธุรกิจไปทั่วเอเชีย โดยการร่วมมือในการจัดตั้งสายการบินกับพันธมิตรในประเทศต่างๆ อาทิ มาลินโด แอร์ ในมาเลเซีย โดยกลุ่มไลออน ถือหุ้นถึง 49%
เล็งไทยเป็นฮับแห่งใหม่
สำหรับประเทศไทย เราจะถือเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อการบิน หรือฮับ แห่งที่ 2 ในต่างประเทศของกลุ่มไลออน ที่จะเชื่อมต่อการเดินทางจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังจีน และประเทศต่างๆ ในเอเชีย เพิ่มจากก่อนหน้านี้ ได้เข้าไปร่วมลงทุนตั้งมาลินโด แอร์ เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมระหว่างอินโดนีเซียและเอเชียใต้ ด้วยความเชื่อมั่นว่าสายการบินราคาประหยัด จะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี แล้ว ซึ่งผู้โดยสารจะมีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น ขณะเดียวกัน การเข้าไปร่วมลงทุน ยังทำให้กลุ่มไลออนขยายครือข่ายเส้นทางบินในต่างประเทศที่ครอบคลุมได้มากขึ้น
“ในไทยมีแผนจะเปิดบินใน 3 เส้นทาง ประกอบด้วย ดอนเมือง-เชียงใหม่ 3 เที่ยวบินต่อวัน, ดอนเมือง-จาการ์ตา 2 เที่ยวบินต่อวัน และดอนเมือง-กัวลาลัมเปอร์ 1 เที่ยวบินต่อวัน ด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 737-900ER จะเริ่มให้บริการในวันที่ 29 พ.ย. 2556 นี้ จากนั้น จะทยอยเพิ่มเส้นทางบิน เช่น อินเดีย จีน ส่วนเส้นทางบินในประเทศ ประกอบด้วย อุดรธานี ภูเก็ต พิษณุโลก หาดใหญ่ ส่วนระยะยาวมีแผนที่จะเปิดบริการเส้นทางบินไปญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นได้ยกเลิกวีซ่าให้คนไทยแล้ว โดยอาจใช้ชื่อใหม่ ซึ่งต้องรอดูทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในอนาคตก่อน” นายรุสดี กล่าว
เน้นกลยุทธ์ขายตั๋วถูกฟูลเซอร์วิส
นายรุสดี อธิบายต่อว่า การที่กลุ่มไลออนสามารถครองส่วนแบ่งตลาดในอินโดนีเซียได้กว่า 50% ขณะที่แอร์เอเชียมี 3% ไม่ใช่เพราะเราดีกว่าแอร์เอเชีย เพราะถ้าถามคนทั่วไป จะรู้จักแอร์เอเชียมากกว่า แต่ที่เราครองตลาดในอินโดนีเซียได้ เพราะราคาขายตั๋วที่ต่ำมาก และสิ่งที่เราทำจะโฟกัสไปที่การสร้างตลาดให้เติบโต ไม่ใช่การไปแย่งส่วนแบ่งตลาดจากคนอื่น อย่างการเข้ามาลงทุนตั้งสายการบินต้นทุนต่ำในมาเลเซีย มาลินโด แอร์ ก็เห็นได้ชัดเจนว่าก่อนที่มาลินโด แอร์ เปิดให้บริการเมื่อเดือน มี.ค. 2556 ที่ผ่านมา การเติบโตของธุรกิจการบินในมาเลเซียมีการเติบโตอยู่ที่ 5% แต่เราเข้าไปตลาดมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 20-25% และสำหรับการเข้ามาลงทุนไทย ไลออน แอร์ ก็ต้องการกระตุ้นตลาดการบินในไทยให้เติบโตเช่นกัน
ทั้งนี้ ความสำเร็จของธุรกิจองค์ประกอบหลักอยู่ที่การขายตั๋วได้ในราคาถูก ที่เป็นเช่นนี้เพราะเรามีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่ต่ำ โดยเฉพาะการสั่งซื้อฝูงบินจำนวนมาก ทำให้ได้สิทธิ์ในการต่อรองราคาเครื่องบิน การมีสต๊อกอะไหล่ชิ้นส่วนอากาศยาน การใช้ฝูงบินโบอิ้ง 737-900ER ทำให้มีที่นั่งในการขายเพิ่มขึ้นอีก 35 ที่นั่ง เมื่อเปรียบเทียบกับแอร์บัส A320 โดยที่มีอัตราการเผาผลาญเชื้อเพลิงที่เท่ากัน และการขายตั๋วราคาถูกยังสนับสนุนให้คนเดินทางโดยไร้พรมแดน และจะไม่คิดค่าบริการเช็คอินสัมภาระของผู้โดยสาร (น้ำหนักไม่เกิน 15 กิโลกรัม) เราเน้นการบริการที่ครบครันมากกว่าที่อื่น
อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วเชื่อว่าทุกสายการบินจะอยู่รอดได้ในไทย เพราะด้วยมีประสิทธิภาพ มีผลิตภัณฑ์และบริการที่ดี เพราะประเทศไทยมีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในตอนนี้ มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้ามา แม้แต่ชาวอินโดนีเซียก็ชอบมากรุงเทพฯ เมื่อก่อนชอบไปสิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์ แต่ตอนนี้อยากไปเมืองอื่น ไม่เพียงแต่มาเที่ยว แต่ยังต้องการมาจับจ่ายซื้อสินค้า นี่คือจุดเด่นของไทย เราไม่ต้องการแย่งส่วนแบ่งตลาดใคร แต่การที่เราทำราคาตั๋วที่ลดลงได้มาก สายการบินอื่นต้องลดตาม แล้วตลาดก็จะเติบโตขึ้น ประเทศก็ได้ประโยชน์ นักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น
ส่วนเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจของไทย เราเริ่มต้นจะทำการบินด้วยเครื่องโบอิ้ง 737-900ER จำนวน 2 ลำ เป็นเครื่องบินใหม่ล่าสุด จำนวน 215 ที่นั่ง เริ่มต้นด้วยเส้นทางเชียงใหม่ กัวลาลัมเปอร์ และจาการ์ตา ซึ่งมีกว่า 200 เที่ยวบินต่อวันจากเมืองอื่นๆ มาจาการ์ตา หรือประมาณ 4 หมื่นคนต่อวัน ที่จะนำคนจากจำนวนเหล่านี้มากรุงเทพฯ และเชียงใหม่ได้ ผ่านการทำตลาด ซึ่งมีทั้งการขายรายตัว และขายเป็นแพ็กเกจทัวร์ ซึ่งกลุ่มไลออน ก็เป็นผู้ดำเนินธุรกิจทัวร์อยู่แล้ว
ทั้งนี้ ในปี 2557 น่าจะเพิ่มจำนวนเครื่องบินให้บริการได้อีก 10 ลำ ขึ้นอยู่กับการเติบโตและการบริหารงาน ซึ่งตั้งเป้าที่จะไปอินเดียแน่นอน เพราะมีออฟฟิศอยู่ที่นิวเดลี มุมไบ รวมถึงขยายไปจีนทางตะวันตก เพื่อรองรับคนจีนในอินโดนีเซียที่ชอบไปกวางโจว รวมจุดบินอื่นๆ อาทิ ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ เสินเจิ้น ซึ่งเริ่มต้นจะเน้นขายเป็นแพ็กเกจทัวร์ เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้าเลือกโรงแรม การเดินทาง วางแผนการเที่ยวและช็อปปิ้ง
ตั้งเป้า 5 ปี เข้าตลาดหลักทรัพย์
ขณะเดียวกันภายใน 5 ปีข้างหน้า ยังมีแผนนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะต้องการทำให้คนในประเทศรู้สึกว่าเป็นเจ้าของสายการบินนี้ เหมือนที่อินโดนีเซีย แอร์เอเชีย ที่มีแผนจะเปิดขายหุ้นเช่นกัน นอกจากนี้ยังมองว่าหากธุรกิจในไทยไปได้ดี ในอีก 5 ปีข้างหน้า ไทยไลออน แอร์ ก็มีศักยภาพที่จะขยายฝูงบินได้มากถึง 50 ลำ ซึ่งสามารถทำได้ เพราะกลุ่มไลออน มีเครื่องบินเกือบ 100 ลำ ทั้งโบอิ้งและแอร์บัส ที่รอรับมอบในอีก 2 ปีข้างหน้านี้ จึงไม่ยากสำหรับการนำมาขยายเครือข่ายของไทยไลออน แอร์
การดำเนินธุรกิจของไทยไลออน แอร์ ในอนาคต ยังมีแผนจะแยกการบริการในเส้นทางบินระยะไกล ในการบินไปยังโตเกียว โซล เมืองด้านเหนือของจีน ซึ่งจะเป็นบริการแบบพรีเมียม ไม่ใช่ราคาต่ำ ซึ่งในขณะนี้กลุ่มไลออน กำลังศึกษาถึงแผนการสั่งซื้อเครื่องบินลำตัวกว้างมาให้บริการในเส้นทางบินระยะไกลในปี 2559 อาทิ โบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์ แอร์บัส A350 เพราะมองว่าเส้นทางบินระยะไกล (เกิน 7 ชั่วโมง) ไม่เหมาะที่จะทำการบินแบบราคาต่ำ เพราะผู้โดยสารจะรู้สึกไม่สะดวกสบาย
ตอกย้ำความั่นใจด้วยศูนย์ฝึกนักบิน
นอกจากนี้ เรามีศูนย์ฝึกบิน Angkasa เป็นโรงเรียนการบินฝึกนักบิน ตั้งอยู่ใกล้สนามบินจาการ์ตา ฝึกด้วยเครื่องจำลองเสมือนจริง หรือซิมูเลเตอร์ (Simulator) ศูนย์จำลองได้รับการรับรองโดยคณะกรรมการการบินพลเรือนของอินโดนีเซีย และกรมการบินพลเรือนของประเทศไทย โดยมีการฝึกเต็มเวลา อาจารย์ที่สอนมี 5 คนสำหรับเครื่อง 737 และ 1 คนสำหรับเอทีอาร์ ส่วนใหญ่มาจากยุโรปและอเมริกาเหนือ เรายังมีนักบิน 32 คนที่ได้รับการรับรองให้เป็นอาจารย์สอน โดยเราได้จัดให้เป็นศูนย์ฝึกที่มีที่พักไว้รองรับ เป็นไลออน ซิตี้
นายรุสดี กล่าวว่า ที่สำคัญคือ เรามีกัปตันวรวุฒิ วงศ์โกสิตกุล รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการบินของไทยไลออน แอร์ ซึ่งเป็นนักบินที่มีประสบการณ์สูง เป็นผู้รับผิดชอบการฝึกฝน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้รับบริการมีความปลอดภัยและเราปฏิบัติตามมาตรฐานสากล
ทั้งนี้ กัปตันวรวุฒิ วงศ์โกสิตกุล เป็นคนสัญชาติไทยที่ได้ทำงานในอุตสาหกรรมการบินเป็นเวลา 35 ปี และเริ่มอาชีพนี้กับสายการบินไทย ในฐานะผู้ดูแลเที่ยวบินก่อนที่จะเป็นนักบิน เป็นผู้ฝึกอบรม เขาได้บิน McDonnell ดักลาส DC-10s, โบอิ้ง 737s, แอร์บัส และ โบอิ้ง A300s 747-400s สำหรับ การบินไทย ตำแหน่งสุดท้ายของเขาคือ เป็นกัปตัน 747-400 จากนั้นเขาก็เข้าทำงานกับสายการบินเกาหลี เป็นกัปตัน 747-400 และเขาตัดสินใจที่จะกลับมาที่ประเทศไทยอีกครั้ง หลังจากที่เขาเปลี่ยนไปฝึกอบรมนักบิน โดยการเข้าร่วมให้คำปรึกษาด้านการบินและการฝึกอบรมขององค์กรการบิน จากนั้นเขาเข้าร่วมกับเป็นผู้ตรวจสอบเที่ยวบิน เป็นอาจารย์ฝึกนักบินเพื่อขับเครื่องจำลองการบิน ประสบการณ์อันยาวนานของเขาสายการบิน จะมีประโยชน์กับการฝึกฝนนักบินของเราอย่างมาก
วันที่ 4/11/2556 เวลา 12:17 น.