ปั้นขายตรงสู่ฮับอาเซียน

รัฐจี้เอกชนเตรียมรับมือแข่งขันประเทศเพื่อนบ้าน

 

นายวิมล จันทร์จิราวุฒ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในงานสัมมนา “ทำธุรกิจขายตรงอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมาย” จัดโดยหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ว่า การทำธุรกิจขายตรงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีการขยายตัวมากที่สุด สวนกระแสภาวะเศรษฐกิจ สามารถสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศมากกว่าปีละหลายหมื่นล้านบาท และคาดว่าหากมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปลายปี 2558 แล้ว โดยเฉพาะในตลาดธุรกิจขายตรงจะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นประมาณ 1 แสนล้านบาท เนื่องจากตลาดธุรกิจขายตรงปัจจุบันคาดการณ์ว่าประมาณ 8 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะทิศทางตลาดดังกล่าวนั้น ยังคงมีการเติบโตต่อเนื่อง และมีผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อยจำนวนมากที่เริ่มหันมาสนใจธุรกิจนี้ และมีแผนขยายธุรกิจไปยังตลาดประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย

ทั้งนี้ในส่วนของภาครัฐที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้นโยบายและได้ดำเนินการอย่างจริงจังผ่านส่วนราชการในสังกัดต่างๆ เพื่อหาแนวทางยกระดับมาตรฐานธุรกิจตรงให้สูงขึ้น และปรับเปลี่ยนกฎหมายขายตรงเพื่อเอื้อแก่การทำธุรกิจ พร้อมทั้งหาแนวทางในการปราบปรามบุคคลที่ฉวยโอกาสหาผลกระโยชน์จากธุรกิจ จนทำให้ภาพลักษณ์ธุรกิจขายตรงต้องเสื่อมเสียในอนาคต

นายวิมล กล่าวว่า ในงานสัมมนาครั้งนี้ ผู้ประกอบการและประชาชนจะได้รับความรู้ ความเข้าใจ และแนวทางในการประกอบธุรกิจขายตรงให้ประสบความสำเร็จ ถูกต้องตามกฎหมายและยั่งยืน ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์สูงสุดและเพื่อความเป็นธรรมทั้งผู้ประกอบการ สมาชิกขายตรงและผู้บริโภค เป็นต้น ดังนั้นภาครัฐต้องการจะให้มีการทำงานอย่างบูรณาการทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้จะมีการปรับปรุงกฎหมายให้มีความเหมาะสม

0 ดีเอสไอเตือนระวังแชร์ลูกโซ่

พ.ต.อ.นิรันดร์ อดุลยาศักดิ์ ผู้บัญชาการสำนักงานคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวสัมมนาในหัวข้อ “แนวทางการป้องปรามแชร์ลูกโซ่” ว่า ทางดีเอสไอนั้นมีหน้าที่ช่วยเหลือคุ้มครองประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม ไม่เฉพาะคดีแชลูกโซ่เท่านั้น เราดูแลหลายเรื่อง เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น

สำหรับวิธีป้องกันการถูกหลอกจากแชร์ลูกโซ่ คือ อย่ารีบตัดสินใจ อย่าเดินตามเกมของผู้ชักชวน ที่ให้รีบตัดสินใจทันที โดยให้เราผลัดผ่อนไปก่อน รวบรวมข้อมูลทั้งหมดไปปรึกษาคนใกล้ชิดและผู้รู้ และต้องตั้งคำถามหลายๆ ข้อ แล้วแสวงหาคำตอบให้กระจ่าง เช่น บริษัทน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด จดทะเบียนถูกต้องหรือไม่อย่างไร และคนที่มาชักชวนมีความน่าเชื่อถือได้แค่ไหน ถูกหลอกมาหรือไม่ รวมทั้งผลตอบแทนที่บริษัทจะให้เป็นจริงแค่ไหน จ่ายได้ยาวนานแค่ไหน และในแง่การทำธุรกิจ ให้ผลตอบแทนมากขนาดนี้ ธุรกิจจะอยู่ได้หรือไม่อย่างไร ขณะที่ในด้านราคาสินค้า เมื่อเปรียบเทียบกับคุณภาพเหมาะสมหรือไม่ ต้นทุนสินค้าน่าจะอยู่ที่เท่าใด ขายแพงเกินจริงหรือไม่ ทั้งนี้ รวบรวมเอกสารทั้งหมด ไปตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน เช่น สคบ. และหน่วยงานอื่นๆ ในธุรกิจขายตรงต่อไป เพื่อพร้อมขับเคลื่อนภาคธุรกิจขายตรงให้สามารถแข่งขันที่ในเวทีการเปิด AEC อีก 2 ปีข้างหน้า

พ.ต.ท.ดร.นิติพัฒน์ วุฒิบุญนสิทธิ์ พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) กล่าวว่า บทบาทและอำนาจหน้าที่ของ ปคบ.นั้น ต้องการที่จะให้ผู้ประกอบการขายตรงเข้าสู่ระบบกระบวนการในกฎหมายให้ถูกต้อง เพื่อที่จะไม่ให้เกิดปัญหาตามมา ที่ผ่านมาภาครัฐยังไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก จึงส่งผลทำให้เกิดปัญหาให้เห็นในปัจจุบัน ประกอบกับมี พ.ร.บ.ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจขายตรงมีมากกว่า 52 พ.ร.บ. ซึ่งขณะนี้ไม่สามารถบังคับได้เท่าที่ควร

0 สคบ.จับตาขายสินค้าผ่านสื่อดาวเทียม

นายสุวิทย์ วิจิตรโสภา ผู้อำนวยการส่วนขายตรงและตลาดแบบขายตรง สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวภายใต้หัวข้อ “การรักษาสถานภาพการเป็นผู้ประกอบการขายตรงอย่างยั่งยืนภายใต้กฎระเบียบ สคบ.ยุคใหม่” ว่า ที่ผ่านมามี พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 ที่ใช้บังคับอยู่ แต่เห็นว่าภายใต้กฎหมายดังกล่าวมีหลายเรื่องที่จะต้องดำเนินการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในเรื่องคำนิยามของธุรกิจขายตรง เนื่องจากในอดีตธุรกิจขายตรง คือ การทำตลาดสินค้าโดยมีตัวแทนเดินไปขายสินค้าตามบ้านเรือนของประชาชน แต่ในปัจจุบันคำนิยามของธุรกิจดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ไม่ต้องเดินขายสินค้าตามบ้านอีกต่อไปแล้ว

สำหรับการจะดำเนินธุรกิจขายตรงอย่างยั่งยืนนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย โดยต้องยื่นจดทะเบียนเพื่อขอใบอนุญาตก่อนดำเนินธุรกิจ หากยังไม่ได้รับใบอนุญาตแล้วเปิดดำเนินธุรกิจเลยทันทีจะถือว่าผิดกฎหมาย มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 1 แสนบาท และจะถูกคิดค่าปรับเป็นรายวันตลอดระยะเวลาที่ดำเนินธุรกิจโดยยังไม่ได้รับใบอนุญาต

ในส่วนของการยื่นขออนุญาตนั้น มองว่า ภายใต้การแข่งขันปัจจุบัน ไทยกำลังเข้าสู่การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จะต้องปรับปรุงกระบวนการทำงาน โดย สคบ.ยุคใหม่จะต้องปรับลดขั้นตอนการทำงานให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถแข่งขันเออีซีและต่างประเทศได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องปรับปรุง

อย่างไรก็ตาม จากต่อไปนี้จะต้องมีการบูรณาการหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายทุกแห่งเข้าด้วยกัน เพราะเพียงลำพังหน่วยงานเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาผู้บริโภคได้ ตนเห็นว่าเรื่ององค์ความรู้ การทำธุรกิจ เป็นเรื่องการแข่งขัน กำไรขาดทุน แต่จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคได้รู้เท่าทันว่า จะต้องดูอะไรบ้างในการซื้อสินค้า และเข้าร่วมธุรกิจ ต้องรู้ทั้งคุณและโทษ ดังนั้นหน่วยงานรัฐต้องให้องค์ความรู้ทุกด้าน ทุกมิติ

นายสุวิทย์ กล่าวต่อว่า สคบ.ยุคใหม่จะเน้นย้ำให้ความสำคัญกับการโฆษณาสินค้า โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ผ่านช่องทางทีวีดาวเทียม เนื่องจากปัจจุบันถือว่าเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการอย่างเข้มงวด โดยในเร็วๆ นี้ สคบ.จะลงพื้นที่เพื่อสำรวจและตรวจสอบสถานีทีวีดาวเทียมต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยการขายสินค้าผ่านทีวีดาวเทียมที่มีการส่งมอบสินค้าไปให้ผู้บริโภคตามบ้านเรือนผ่านมาไปรษณีย์ และมีการโอนชำระค่าสินค้าผ่านทางระบบธนาคาร เข้าข่ายลักษณะเป็นธุรกิจตลาดแบบตรง ซึ่งจะต้องมีการจดทะเบียนกับทาง สคบ.ก่อน ถึงจะดำเนินการดังกล่าวได้

ทั้งนี้ สคบ.อยากฝากไปยังผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ดำเนินรายการ กรณีที่ขายอาหารเสริม การโฆษณาต้องได้รับอนุญาต จาก อย ผ่านการเซ็นเซอร์ แต่ปัญหาคือผู้ดำเนินรายการ หรือบางครั้งแขกรับเชิญ มักพูดนอกสคริปต์ที่ได้เขียนเอาไว้ ซึ่งตรงนี้ตนเห็นว่าต้นน้ำในฐานะเจ้าของผลิตภัณฑ์ ควรต้องกำชับดูแลในเรื่องการโฆษณาอาหาร จะต้องไม่เน้นสรรพคุณไปในทางยา เพราะถ้าโฆษณาเป็นเท็จ หรืออวดอ้างสรรพคุณรักษาโรคครอบจักรวาล ถือว่าหลอกลวง โทษจำคุก 3 ปี และหากไม่ได้รับอนุญาต โทษปรับ 5,000 บาท อย.กำลังปรับเพิ่มโทษให้สูงขึ้นอยู่

“อยากให้ทางผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง สมาคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขายตรง ช่วยกันดูแลสมาชิกให้ปฏิบัติตามระเบียบ จดทะเบียนไปแล้วก็ต้องทำธุรกิจให้เป็นไปตามแผน อย่าไปบิดเบือนต่อไป สคบ.จะลงพื้นที่สำรวจ และตรวจสอบอย่างเข้มงวด และบ่อยขึ้น เราจะเน้นในเรื่องส่งเสริมธุรกิจขายตรงเป็นหลัก แต่เด็กเกเรเราก็ต้องกำจัดออกไป พวกที่จดทะเบียนแต่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข และพวกที่อยู่นอกระบบ แล้วมาทำให้ธุรกิจขายตรงโดยรวมมัวหมอง” นายสุวิทย์ กล่าว

0 สรรพากรแนะเสียภาษีให้ถูกต้อง

นายสมชาย ชูเกตุ ผู้อำนวยการศูนย์บริการข้อมูล กรมสรรพากร กล่าวในหัวข้อ “หลักเกณฑ์ในการเรียกเก็บภาษีเงินได้แต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร” ว่า ภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ประกอบด้วยภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาวะเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ทั้งนี้ ผู้จ่ายเงินคือบริษัทขายตรง หรือผู้ที่รับค่าคอมฯ จากบริษัท โดยผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย คือผู้จ่ายเงินทุกราย ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ผู้มีหน้าที่เสีย PIT ส่วนอัตราภาษีที่หัก ณ ที่จ่าย คำนวณเช่นเดียวกับผู้รับเงินเดือน

“ให้นำเงินได้เป็นตัวตั้ง หักออกด้วย ค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน เหลือจำนวนเงินได้สุทธิ นำเงินได้สุทธิไปคำนวณภาษีตามบัญชีอัตรา PIT” นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวว่า ส่วนบุคคลธรรมดาที่ได้รับเงิน เกณฑ์เงินสด คือ เงินได้ที่ได้รับจริงในปีภาษี มาคำนวณภาษี ได้ 2 วิธี เหมือนแบบหัก ณ ที่จ่าย และอีกวิธีได้ค่านายหน้ามากกว่าหกหมื่น ก็คูณพันละห้าบาท วิธีไหนมากกว่าให้จ่ายตัวที่มากกว่า แต่หากค่านายหน้าไม่เกินหนึ่งล้านบาทก็ไม่ต้องคำนวณวิธีที่สอง ส่วนค่าลดหย่อนก็เหมือนทั่วๆ ไป เช่น ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา กองทุนแอลทีเอฟ อาร์เอ็มเอฟ เป็นต้น ส่วนวิธียื่น มกราคมถึงมีนาคม กรณีไม่ยื่นเสียค่าปรับ 1.5% ต่อเดือน

ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) มีรายรับเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องเสียแวต ต้องจดทะเบียนแวต มีรายรับต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ขดจดทะเบียนแวตได้ ยื่นแบบเสียแวตเป็นรายเดือนภาษี ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปทุกเดือน ไม่ว่าเดือนนั้นจะมีรายรับหรือไม่ ภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย ขอคืนเป็นเงินสดหรือเครดิตภาษี หากไม่เสียเบี้ยปรับ 2 เท่า หรือ 200% โทษแรง เพราะหลักคิดเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้ใช้บริการ

0 อย.จ่อเพิ่มโทษคนทำผิด

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวสัมมนาในหัวข้อ “กฎระเบียบ อย. ต่อการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ในธุรกิจขายตรง” ว่า ธุรกิจขายตรงปัจจุบันโฆษณาแล้วผลหลังใช้ไม่เหมือนกัน คุณภาพไม่ตรงกับตอนให้ข้อมูล เลยมีข้อแนะนำ ก่อนตัดสินใจซื้อขายอะไร อย่าหลงเชื่อง่าย สอบถามผู้รู้ อ่านฉลาก และต้องกล้าปกป้องสิทธิ์ของตนเอง

ทั้งนี้ ตัวผลิตภัณฑ์ที่มักมีปัญหา เช่น ผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนัก วิตามิน อาหารเสริม เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า ครีมบำรุงผิว และบำรุงผม และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งสินค้าที่กำลังจับตามองและได้รับความสนใจมาก คือที่นอนแม่เหล็ก เครื่องนวดผิวหน้า เครื่องนวดเหล่านี้มักได้รับการร้องเรียนค่อนข้างเยอะ

สำหรับภารกิจของ อย. มีปัญหา 2 ประการ คือ ตัวผลิตภัณฑ์ ขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ มีคุณภาพ มาตรฐาน ปลอดภัยหรือไม่ รวมถึงดูการส่งเสริมการขาย การโฆษณา หลักการต้องขออนุญาตก่อน ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องมือแพทย์ ต้องขออนุญาตโฆษณาก่อน วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง ไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องโฆษณาไม่เป็นเท็จ ทั้งในเรื่องของแหล่งกำเนิด คุณภาพ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการต้องทดลองเปรียบเทียบการโฆษณากับคุณสมบัติที่อยู่ข้างกล่องหรือขวด หากไม่ตรงจะต้องสอบถามผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ทั้งนี้การโฆษณาอาหาร หากดูแล้วว่าเป็นเท็จ มีโทษอาญาจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีที่เป็นการโฆษณาฝ่าฝืน ราชการสามารถให้ระงับการโฆษณาได้ ส่วนการส่งเสริมการขายที่มักมีปัญหา จะมีการให้สาธิต บริการการใช้ เราถือว่าเป็นการส่งเสริมการขายทั้งสิ้น รวมถึงวัตถุอันตรายต่างๆ เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า ผลิตภัณฑ์ลบคำผิด

0 TSDA แนะใช้ประโยชน์โซเชียล

นายสมชาย หัชลีฬหา นายกสมาคมพัฒนาการขายตรงไทย (TSDA) กล่าวในหัวข้อ “ในภาคอุตสาหกรรมขายตรงไทยทำอย่างไรถึงจะอยู่รอดในยุคปัจจุบัน” ว่า สมาคมมุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรม ให้ความรู้ความเข้าใจ เพื่อสนับสนุนธุรกิจ และทำงานร่วมกับภาครัฐในด้านต่างๆ

ทั้งนี้ สมาคมฯ เป็นการร่วมมือกันของผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจ โดยมุ่งเน้นทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการที่อาจยังขาดความเข้าใจ เราประชุมกันทุกเดือน แลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน ให้เข้าใจปัจจุบันว่าจะสามารถปรับตัวอย่างไร ปัจจัยเสี่ยงเป็นอย่างไร และมีการจัดอบรม ให้องค์ความรู้ สร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ประกอบการอาชีพธุรกิจอิสระอย่างถูกกฎหมาย

 

วันที่ 1/11/2556 เวลา 8:31 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

213

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน