สั่งจับตาการเมืองไทยปะทุ
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มมีความร้อนแรงมากขึ้น โดยมีนักการเมืองของพรรคฝ่ายค้านเริ่มเป่านกหวีดชุมนุมบนท้องถนนนั้น จะกระทบกับเศรษฐกิจหรือไม่ ว่า ถ้าสถานการณ์การเมืองไม่นิ่ง มีการชุมนุม มีความวุ่นวาย และยืดเยื้อ คงมีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจบ้าง
“ตอนนี้ ธปท. อยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์การเมืองว่าจะมีผลอย่างไรบ้างต่อตลาดเงิน หลังจากสถานการณ์การเมืองได้กดดันการลงทุนในตลาดหุ้นไทยวันนี้ให้ปรับลดลง ตอนนี้สถานการณ์ค่าเงินบาทยังค่อนข้างนิ่ง แต่ยอมรับว่าสถานการณ์ทางการเมืองอาจมีผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจบ้าง” นายประสาร กล่าว
นายประสาร กล่าวด้วยว่า ในปีนี้ ธปท. คาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ไว้ที่ 3.7% ลดลงจาก 4.2% ภายใต้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้ที่ 1% ลดลงจาก 1.1% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ 2.2% ลดลงจาก 2.3% เนื่องจากมองว่า การค้าและการใช้จ่ายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีจะปรับดีขึ้นมากกว่าไตรมาสอื่นๆ เนื่องจากเป็นช่วงที่การใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาล และการส่งออกน่าจะขยายตัวตามปัจจัยทางฤดูกาล
อย่างไรก็ตาม การจะเติบโตระดับนี้ได้จะต้องไม่มีปัจจัยความเสี่ยงทางการเมืองเข้ามากระทบ โดย ธปท.ประเมินเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าปีนี้ ไม่ว่าสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และเอเชีย โดยรวมน่าจะโตที่ 3.4% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 3.3%
ด้าน น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจเดือน ก.ย.56 และไตรมาส 3/56 ว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า โดยการบริโภคภาคเอกชนสะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่หดตัว -19.4% ในเดือน ก.ย.56 และ -7.3% ต่อปี ในช่วงไตรมาส 3/56 ตามการหดตัวของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานสูงของปีก่อน
สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรส่งสัญญาณชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าเช่นกัน สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือน ก.ย.56 และไตรมาส 3/56 หดตัว -12.7% และ -7.9% ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้างยังคงขยายตัวได้ดี โดยยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ ขยายตัว 3.4% และ 3.0% ต่อปี ตามลำดับ สะท้อนภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีการเติบโตและกลับเข้าสู่ระดับปกติ ภายหลังจากที่มีการเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 55 เช่นเดียวกับภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ขยายตัว 12.6% และ 22.0% ต่อปี
ด้านการส่งออกมีสัญญาณชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าเช่นกัน โดยการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือน ก.ย.56 หดตัว -7.1% ต่อปี ในหลายตลาด เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกบางรายการมีการฟื้นตัวดีขึ้น อาทิ สินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น ขยายตัว 4.4% และ 1.0% ตามลำดับ จากสินค้าข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และไก่แปรรูป เป็นสำคัญ สอดคล้องกับการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ที่ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง
ทั้งนี้ แม้ไตรมาส 3/56 การส่งออกสินค้าหดตัว -1.7% ต่อปี แต่มูลค่าการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐและสหภาพยุโรปกลับมาขยายตัว 0.7% และ 8.5% ต่อปี อีกทั้งตลาดอาเซียนในภาพรวมที่ยังคงขยายตัวได้ดี สอดคล้องกับเมื่อพิจารณาเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่ายังคงขยายตัวได้ 1.5% ต่อไตรมาส
ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ย.56 อยู่ที่ 1.4% ลดลงจากเดือนก่อนหน้า และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.6% ทำให้ไตรมาส 3/56 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.7% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.5% สำหรับอัตราการว่างงานในเดือน ก.ค.56 อยู่ที่ 0.8% ของกำลังแรงงานรวม และสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ณ สิ้นเดือน ส.ค.56 อยู่ที่ 44.6% อยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกิน 60% ส่วนเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้
“แนวโน้มเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังยังชะลอตัว โดยคาดว่าจะฟื้นตัวในปี 57 ทั้งภาคการส่งออก การบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนภาคเอกชน ต้องเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะของสหรัฐ ส่วนการชุมนุมทางการเมือง คาดว่าจะเป็นช่วงระยะสั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และภาพรวมของเศรษฐกิจ ซึ่ง สศค.พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด” น.ส.กุลยา กล่าว
วันที่ 31/10/2556 เวลา 11:12 น.