ส.ป.ก. พลิกฟื้นผืนดินแห้งแล้ง ปั้นเกษตรกรเงินล้าน

จากการที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดราชบุรี ร่วมกับสำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต เขต 8 (ราชบุรี) ได้จัดทำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้งเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดราชบุรีขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำให้แก่เกษตรกลุ่มผู้ปลูกมะม่วงเพื่อการส่งออกในพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน ต.แก้มอ้น อ.จอมบึง จ.ราชบุรี จำนวน 120 ราย รวมพื้นที่ 1,500 ไร่ และประสบความสำเร็จ จนสามารถพลิกฟื้นที่ดินที่เคยแห้งแล้งจากการขาดแคลนน้ำติดอันดับของประเทศ กลายเป็นพื้นที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะสมในการปลูกพืชเชิงเศรษฐกิจ เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้, มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง มะม่วงพันธุ์ทองดำ มะม่วงพันธุ์มันขุนศรี มะม่วงพันธุ์แก้วลืมรัง มะม่วงพันธุ์อาร์ทู ส่งออกไปยังประเทศออสเตรีย มาเลเซีย สิงคโปร์ จีน ไต้หวัน ฯลฯ และยังได้ขยายการปลูกพืชเศรษฐกิจอีกหลายประเภท อาทิ ปลูกดอกมะลิเพื่อจำหน่ายในตลาดท้องถิ่นและปากคลองตลาด สามารถเก็บเกี่ยวสร้างรายได้สัปดาห์ละประมาณ 30,000 บาท สร้างรายได้หลักล้านต่อปี

นายบรรลือศักดิ์ ไกรโชค ปฏิรูปที่ดินจังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า “การดำเนินการครั้งนี้ ถือเป็นพื้นที่โครงการตัวอย่างของการพัฒนาพื้นที่การเกษตรเชิงบูรณาการ โดยการพัฒนานำน้ำบาดาลมาใช้ประโยชน์ เมื่อระบบต่างๆ เสร็จสมบูรณ์ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างชัดเจน เพราะเกษตรกรสามารถปลูกพืชชนิดต่างๆ ได้ตลอดปี ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็จะนำไปเป็นแบบอย่างในการพัฒนาพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งซ้ำซากในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินอื่นๆ ของประเทศต่อไป”

นายบันลือศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า นอกจาก ส.ป.ก.มีเป้าหมายในการส่งเสริมและพัฒนาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรมของเกษตรกรแล้ว ส.ป.ก.ยังทำหน้าที่ในส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการผลิตของเกษตรกรให้มีคุณภาพ เพื่อสร้างรายได้และอาชีพให้เกษตรกรอย่างยั่งยืนควบคู่กันอีกด้วย โดย ส.ป.ก.ราชบุรีได้เข้าไปอบรมเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย ให้สามารถผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับระบบตลาดสินค้าที่เกษตรกรรุ่นใหม่ควรทราบ เช่น การมุ่งลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพในการผลิต มาตรฐานสินค้า การแปรรูป รวมไปถึงการสนับสนุนเกษตรกรรวมกลุ่มผลิตและจำหน่าย เพื่อมุ่งสู่ระบบตลาดนำการผลิตไปจนถึงการเข้าใจระบบตลาดเสรี พร้อมที่จะแข่งขันในประชาคมอาเซียนที่จะมีขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้าอีกด้วย

ทั้งนี้ หนึ่งในเกษตรกรผู้ใช้น้ำจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้งเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดราชบุรี อย่าง นายชวน ชาวนาฟาง อายุ 54 ปี บ้านเลขที่ 59/2 หมู่ 6 ต.แก้มอ้น อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ก็ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการปลูกมะม่วงเพื่อการส่งออก หลังจากที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากในที่ดินทำกิน ว่า ได้รับที่ดินจาก ส.ป.ก.จำนวน 9 ไร่ เริ่มแรกปลูกอ้อย, มันสำปะหลัง และเกษตรผสมผสาน ประสบปัญหาการขาดทุนมาตลอด เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำรองรับการเพาะปลูก ต้องอาศัยน้ำฝนอย่างเดียวในการปลูกพืชที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ผลผลิตไม่มีคุณภาพ ส่งผลให้ราคาตกต่ำ ไม่เป็นที่ยอมรับของตลาด อีกทั้งประสบปัญหาศัตรูพืช ส่งผลให้ขาดทุนและไม่มีเงินทุน ล้มลุกคลุกคลาน

ดังนั้น เมื่อปี 2536 ได้มีการรวมกลุ่มปลูกมะม่วงเพื่อการส่งออก แต่ไม่สามารถแข่งขันกับผู้ปลูกมะม่วงรายอื่นได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง ทำให้ความสวยของมะม่วง ขนาด สู้รายอื่นไม่ได้เลย ซึ่งต้องยอมรับสภาพดังกล่าวไป ต่อมาเมื่อปี 2551 ทางเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.ราชบุรี ได้ประสานงานกับทาง ส.ป.ก.ส่วนกลาง จัดโครงการช่วยเหลือเกษตรกร ให้เงินกู้ยืมจากกองทุน ส.ป.ก.รายละ 50,000 บาท แต่การกู้ยืมมีเงื่อนไขที่ว่าจะต้องจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนก่อน จึงจะสามารถกู้เงินจากกองทุนฯ ได้ ดังนั้นจึงได้มีการรวมกลุ่ม โดยการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกมะม่วงเพื่อการส่งออก บ้านหนองปากชัฎ จ.ราชบุรี ปัจจุบันมีสมาชิก 15 ราย และอีก 100 ราย ยังไม่ได้ยื่นของเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ สำหรับเงินที่ได้จากการกู้ยืมนั้น เกษตรรายใหม่ที่ล้มเหลวจากการปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ได้นำเงินดังกล่าวไปซื้อกิ่งพันธุ์มะม่วงเพื่อขยายการปลูกมะม่วงเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน เกษตรกรบางรายได้ซื้อหมูมาเลี้ยงเพื่อให้มีรายได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับพันธุ์มะม่วงที่นำมาปลูก ได้แก่ มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง มะม่วงพันธุ์หนังกลางวัน มะม่วงพันธุ์ทองดำ มะม่วงพันธุ์มันขุนศรี มะม่วงพันธุ์แก้วลืมรัง มะม่วงพันธุ์อาร์ทู ส่งออกไปยังประเทศออสเตรีย มาเลเซีย สิงคโปร์ จีน ไต้หวัน เป็นต้น มีพื้นที่ปลูกมะม่วงทั้งหมดประมาณ 400 ไร่ ได้ผลผลิตประมาณ 700 ตัน

ในอนาคตคาดว่าจะมีการปลูกพืชสมุนไพร เช่น ไพร ดีปลี ขมิ้น ว่านชักมดลูก ตะไคร้ มะม่วงหาวมะนาวโห่ มะขามป้อม เพื่อสร้างได้ได้ให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่ง และจากการที่ ส.ป.ก.ให้การสนับสนุนการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลครั้งนี้ นับว่าเกษตรกรในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเหมือนเป็นการถูกหวย เพราะแหล่งน้ำมีความสำคัญกับการเพาะปลูกของเกษตรกรเป็นอย่างมากนั่นเอง

ด้าน นายสมชัย คำแก้ว หนุ่มใหญ่วัย 60 ปี หนึ่งในเกษตรกรชาวตำบลแก้มอ้นที่เข้ามาอาศัยทำกินในเขตปฏิรูปที่ดินโดยการหันมาปลูกดอกมะลิขายสร้างรายได้หลักล้านต่อปี เผยว่า เดิมตนเองปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด และเกษตรผสมสาน แต่ต้องประสบปัญหาขาดทุนทุกปี ทำให้เกิดความท้อแท้ และเงินเก็บที่มีนำไปลงทุนไปนั้นหดหายไปจนเกือบหมดตัว เนื่องจากผลผลิตที่ปลูกคุณภาพต่ำกว่า ได้ผลผลิตน้อย ส่งผลให้ราคาผลผลิตที่ได้ตกต่ำไปด้วย เพราะจากที่ดินที่ได้รับการจัดสรรที่ดินจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นพื้นที่ที่ต้องพึ่งพาน้ำฝนอย่างเดียว ปีไหนฝนไม่ตกก็ไม่สามารถปลูกพืชทำกินได้

จากปัญหาดังกล่าว ทาง ส.ป.ก.จึงเข้าให้การช่วยเหลือจัดทำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรขึ้น จนพื้นที่มีน้ำกิน น้ำใช้ในการเพาะปลูกที่อุดมสมบูรณ์ จากนั้นตนจึงได้พลิกผันหันมาปลูกมะลิแทนการปลูกพืชไร่ หลังจากได้รับคำแนะนำจากเพื่อนบ้านว่าปลูกมะลิไม่ยากอย่างที่คิด และมีรายได้ใช้จ่ายภายในบ้านทุกวัน จึงเริ่มสนใจไปซื้อกิ่งพันธุ์มาจาก จ.นครนายก ปลูกในพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรจาก ส.ป.ก.จำนวน 3 ไร่ ได้ผลผลิตภายใน 2 เดือน ระยะแรกปริมาณผลผลิตมะลิที่ได้ยังไม่มากเท่าที่ควร แต่มะลิจะให้ผลผลิตได้ดีมีปริมาณมากขึ้น การปลูกจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี และหลังจาก 2 ปีไปแล้วผลผลิตที่ได้จะมากถึง 10 กิโลกรัมหรือมากกว่าต่อไร่ มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 3 หมื่นบาทต่อสัปดาห์ หรือเฉลี่ยปีละล้านกว่าบาท

นายสมชัย ยังได้เผยถึงเทคนิคในการปลูกมะลิที่สามารถสร้างรายได้ให้กว่าล้านบาทต่อปีด้วยว่า มีเคล็ดลับง่ายโดยให้น้ำแบบระบบน้ำหยด โดยปกตินั้น มะลิจะต้องการน้ำปานกลาง อาจจะให้น้ำวันละ 1-2 ครั้ง ระวังอย่าให้น้ำขัง ส่วนการใส่ปุ๋ย ให้ใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 อัตรา 1-3 ช้อนแกงต่อต้น ขึ้นอยู่กับขนาดทรงพุ่ม ใส่เดือนละครั้ง โดยหว่านและรดน้ำตาม และให้ปุ๋ยคอกเรื่อยๆ โรค และแมลงศัตรูที่สำคัญที่ต้องระวังในการปลูกมะลิ ได้แก่ โรครากเน่า, โรคแอนแทรกโนส, โรครากปม, หนอนเจาะดอก, หนอนเจาะใบ, หนอนเจาะลำต้น และเพลี้ยไฟ

“ขอบคุณ ส.ป.ก. ที่เห็นความเดือนร้อนของเกษตรกร และได้นำสิ่งดีๆ มามอบให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินของตำบลแก้มอ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค โดยเฉพาะการพัฒนาแหล่งน้ำที่ทำให้ผลผลิตด้านการเกษตรมีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดอีกด้วย และสามารถยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินให้มีอาชีพและรายได้มั่นคงต่อไปในอนาคต” นายสมชัย กล่าวทิ้งท้าย

จะเห็นว่าปัจจุบันบทบาทของ ส.ป.ก.ใช่เพียงมีภารกิจจัดหาที่ดินทำกินให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังมีภารกิจหลักในการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ ให้สามารถเพียงพอต่อการทำเกษตรกรรมของเกษตรกรอีกด้วย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรที่อาศัยในเขตปฏิรูปที่ดินให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนั่นเอง

จรัส พิบูลย์ปุญญโชติ/ธนวันต์ บุตรแขก : รายงาน

 

วันที่ 17/10/2556 เวลา 7:31 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

344

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน