ผ้าทอนาหมื่นศรี…OTOP ห้าดาวเมืองตรัง
จังหวัดตรัง เป็นจังหวัดที่อุดมไปด้วยภูมิปัญญาพื้นถิ่น โดยหลายภูมิปัญญาได้มีการพัฒนาจนกลายเป็นสินค้าในระดับอินเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน ที่มีหมูย่าง และขนมเค้ก เป็นตัวชูโรง แต่หากพูดถึงเครื่องนุ่งห่มหรือประเภทผ้าทอแล้วละก็ “ผ้าทอนาหมื่นศรี” ถือว่าเป็นตัวชูโรงในระดับแนวหน้าของเมืองตรัง ทั้งนี้ผ้าทอนาหมื่นศรี ถือว่าเป็นภูมิปัญญาผ้าทอพื้นบ้านของชาวนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ที่มีมาแต่อดีตสืบทอดกันมานานกว่า 400 ปี เป็นผ้าที่ทำขึ้นด้วยกี่พื้นเมืองที่เรียกว่า “หูก” เป็นเครื่องมือพื้นบ้านที่ประดิษฐ์ขึ้นมาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน
ผ้าทอนาหมื่นศรีมีลวดลายงดงาม มีเอกลักษณ์เป็นของตนเองแบบศิลปะท้องถิ่น และได้มีการสืบทอดการทอผ้ามาอย่างต่อเนื่องหลายชั่วอายุคน ได้ปรากฏหลักฐานจากหอสมุดจดหมายเหตุว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ เมื่อ รศ.128 ได้ทอดพระเนตรผ้าทอที่เมืองตรังมีข้อความตอนหนึ่งว่า “ใต้ถุนเรือนใช้เป็นที่หัดทอผ้า มีผู้หญิงมาหัดทอมาก” เพราะว่าใต้ถุนเรือนไม้ของชาวบ้านทุกหลังจะมีหูก (กี่พื้นบ้าน) ตั้งอยู่ พร้อมมีอุปกรณ์ทอผ้าแขวนอยู่ และศักดิ์ศรีของหญิงสาวชาวนาหมื่นศรีในยุคก่อนอยู่ที่ความสามารถในการทำนา และทอผ้าสำหรับใช้ในครอบครัว ศิลปะการทอจึงถูกสืบทอดต่อกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า
ผืนผ้าที่มีลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์เกิดจากการทอด้วยวิธียกดอก หรือการสร้างลวดลายโดยการเพิ่มด้ายพุ่ง ซึ่งอาจทอด้วยกี่พื้นบ้านหรือกี่กระตุก ทำให้ได้ผืนผ้าตามวัตถุประสงค์การใช้งานที่หลากหลาย ซึ่งผืนผ้านั้นอาจทอจากผ้าย้อมสีธรรมชาติ หรือฝ้ายผสมเส้นใยสังเคราะห์ย้อมสีเคมี ทั้งนี้เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้นิยมใช้ผ้าทอมืออย่างกว้างขวาง
นายไพบูลย์ บูรณสันติ พัฒนาการจังหวัดตรัง เล่าว่ากลุ่มผ้าทอนาหมื่นศรี ถือว่าเป็นกลุ่มทอผ้าที่มีการพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์มาโดยตลอด ทั้งนี้ผ้าทอนาหมื่นศรีดั้งเดิมที่ค้นพบ มี 3 ลักษณะ คือ ผ้าพื้น ผ้าตา และผ้ายกดอก มีลายดั้งเดิมประมาณ 20 ลาย โดยมีลายที่พิเศษคือลายประสม ซึ่งจะต้องใช้ผู้ทอที่มีความชำนาญพิเศษ ส่วนลายอื่นๆ ที่นิยม เช่น ลายดาวล้อมเดือน ลายราชวัตร ลายเกสร ลายแก้วชิงดวง เป็นต้น
นายไพบูลย์ เล่าต่อไปว่าการรวมกลุ่มอาชีพทอผ้านาหมื่นศรี เกิดขึ้นเมื่อปี 2517 โดยมีพัฒนากรประจำตำบล และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดตรัง เป็นพี่เลี้ยง ต่อมาได้รับการสนับสนุนทางด้านวิทยากร และด้านอื่นๆ จากภาคีการพัฒนา ส่วนราชการต่างๆ หลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดตรัง อุตสาหกรรมจังหวัดตรัง และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง (มอ.ตรัง) เป็นต้น
“ต่อมาได้ถ่ายทอดความรู้ และฝึกความชำนาญให้สตรีในหมู่บ้าน จากเดิมที่ทอผ้าเพื่อเป็นเครื่องนุ่งห่มในครอบครัว นำมาสู่การจำหน่ายสู่ตลาดในชุมชน ในเมืองตรัง จนพัฒนาก้าวเข้าเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP จนปัจจุบันได้มีการพัฒนาจนสามารถยกระดับเป็นสินค้า OTOP ระดับ 5 ดาวของจังหวัดตรังไปแล้ว และยังขยายตลาดออกไปได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในโอกาสที่ประเทศไทยจะก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ทางจังหวัดได้มีการเตรียมความพร้อมให้ผ้าทอนาหมื่นศรี ออกไปเปิดตลาดในประเทศสมาชิกทั้งหมดของกลุ่มประชาคมอาเซียนให้ครอบคลุมทั้งหมดด้วย” นายไพบูลย์ กล่าว
นายไพบูลย์ กล่าวต่อไปว่ากลุ่มทอผ้านาหมื่นศรีมีการดำเนินงานในรูปกลุ่ม ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2517 โดยกลุ่มจัดซื้อด้าย และอุปกรณ์อื่นๆ จากโรงงานในนามกลุ่ม และให้สมาชิกรับด้าย (วัตถุดิบ) จากกลุ่มไปทอผ้า (มีที่ทอผ้าที่กลุ่ม/ที่บ้าน) ทางกลุ่มได้จัดกิจกรรมเพิ่มรายได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งด้วยการฝึกอบรม ให้ผลิตของใช้จากการนำผ้าขาวม้าไปตัดเสื้อ ผลิตภัณฑ์ขันหมาก กระเป๋า แฟ้มเอกสาร และของที่ระลึกอื่นๆ ซึ่งเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้แก่ครอบครัวสมาชิก
“ปัจจุบันกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี มีคณะกรรมการบริหารจัดการกลุ่ม และสมาชิก จำนวน 128 คน โดยมีนางกุศล นิลละออ เป็นประธานกลุ่ม มีระเบียบข้อบังคับของกลุ่ม มีการประชุมคณะกรรมการกลุ่มอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ประชุมสมาชิกปีละ 1 ครั้ง มีแผนธุรกิจเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารกลุ่ม” นายไพบูลย์ กล่าว
จากลักษณะอันโดดเด่นของผ้าทอนาหมื่นศรี ที่มีลายผ้าเป็นของตนเอง มีการสืบทอดภูมิปัญญากันมาสู่รุ่นต่อรุ่น และได้คิดพัฒนาต่อยอดเป็นลายต่างๆ อีกมากมาย เนื้อผ้าดูแลรักษาง่าย จึงส่งผลให้ผ้าทอนาหมื่นศรี เป็นสินค้าโอท็อป ระดับ 5 ดาว ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดผ้าไทย ประเภทผ้าฝ้ายมาแล้วมากมายหลายรางวัล และรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่จะก้าวเดินต่อไปนั่นคือการนำผ้าทอนาหมื่นศรีไปวางบนแผงสินค้า ของกลุ่มประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน ในอีกปีเศษๆ ที่จะถึงนี้
ทองขาล กันหาจันทร์/ตรัง
วันที่ 12/10/2556 เวลา 8:54 น.