ไทยเนื้อหอมยุ่นแห่ตั้งแบงก์
นางสาลินี วังตาล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีธนาคารระดับสหกรณ์ของประเทศญี่ปุ่น เข้ามาเปิดสำนักงานผู้แทนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยที่ ธปท.เองก็เข้าไปตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดก็เพิ่งได้รับอนุญาตให้เปิดทำการไปแห่งหนึ่ง ได้แก่ เซโตะ ชินกิ้น แบงก์ โดยเป็นสำนักงานตัวแทนที่มาจากเมืองนาโกยา อย่างไรก็ตาม เท่าที่รู้ในขณะนี้เห็นว่ายังมีธนาคารระดับท้องถิ่นจากญี่ปุ่นที่เตรียมตัวจะเดินทางเข้ามาในลักษณะดังกล่าวอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ ธปท.เตรียมที่จะให้ใบอนุญาตในการเปิดอีกแห่งหนึ่งที่ขอเข้ามา
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวของประเทศญี่ปุ่นนั้น มาจากการที่กลุ่มผู้ประกอการธุรกิจขนาดกลางจนถึงขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ของญี่ปุ่นมีความสนใจที่จะย้ายฐานการผลิต รวมทั้งทางด้านการบริการมาในไทยจำนวนมาก โดยเท่าที่รับทราบข้อมูลกลุ่มเอสเอ็มอีเหล่านี้จะเลือกอยู่ 3 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งต้องเรียนว่าประเทศไทยอาจจะมองว่ามีค่าแรงที่สูงกว่า แต่คุณภาพของแรงงาน และทางด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ค่อนข้างจะได้เปรียบ ดังนั้น กลุ่มเอสเอ็มอีจากญี่ปุ่นก็เลยสนใจที่จะมา นอกจากนี้ของประเทศจีนก็มีขออนุญาตเข้ามาเช่นเดียวกัน แต่จะเป็นธนาคารขนาดใหญ่ เพื่อตอบรับลูกค้านักธุรกิจของจีน และมีจำนวนไม่มากเท่าของญี่ปุ่น
สำหรับการดำเนินการของธนาคารท้องถิ่นญี่ปุ่นในลักษณะดังกล่าวที่เข้ามาขออนุญาตจัดตั้งในไทยนั้น เริ่มเห็นว่ามีจำนวนมากตั้งแต่ปีที่ผ่านมา หลังจากที่เริ่มฟื้นจากเหตุการณ์สึนามิก็ได้มีการเริ่มติดต่อ และทาบทามเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพราะญี่ปุ่นมองว่าการเข้ามาในไทยจะได้ประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากจะมีผู้ประกอบการขนาดใหญ่ตามเข้ามา อีกทั้งไทยยังถือว่าเป็นประตูไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ใหญ่อย่างประเทศพม่าอีกด้วย
“ปัจจุบันเวลานักลงทุนต่างชาติมองแนวโน้มของการลงทุน ก็จะมองไทยควบคู่ไปกับพม่า เพราะหากจะไปพม่าเลยจะค่อนข้างลำบาก ดังนั้น จึงต้องมาตั้งฐานที่ไทยก่อน ซึ่งก็ถือว่าเป็นผลดีกับไทย”
นอกจากนั้น ปัจจุบันมีสำนักงานตัวแทนจากประเทศต่างๆ เข้ามาขออนุญาตจัดตั้งในไทยประมาณ 40 แห่ง โดยมาจากประเทศญี่ปุ่นประมาณ 20 แห่ง ซึ่งแนวโน้มจากประเทศญี่ปุ่นในปีหน้าเข้าใจว่าจะมีขอเข้ามาอีกจำนวนมาก โดยการเข้ามาดังกล่าวจะเป็นผลดีกับไทยจากการที่นำพาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้ามา ไม่เช่นนั้นหากไม่มีสำนักงานตัวแทนเหล่านี้ก็จะมาได้ลำบาก เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่ยากมาก ไม่เหมือนกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่จะมีการเข้ามาสำรวจ หรือดูแลล่วงหน้าก่อนเข้ามา
วันที่ 12/10/2556 เวลา 8:59 น.