“ปู” ถกนักธุรกิจเอเปคสหรัฐ
นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่าก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิค หรือ เอเปค จะเริ่มขึ้นที่บาหลี อินโดนีเซีย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้พบหารือกับ กลุ่มนักธุรกิจเอเปคสหรัฐ หรือ US – APEC Business Coalition กลุ่มนักธุรกิจเอเปคสหรัฐ หรือ US – APEC Business Coalition ซึ่งประกอบไปด้วยผู้บริหารระดับสูงของบริษัทสหรัฐชั้นนำ เช่น ไมโครซอฟต์ กูเกิ้ล เฟด-เอ็กซ์ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน พร็อคเตอร์แอนด์แกมเบิ้ล ออราเคิล อีเบย์ ไทม์วอร์เนอร์ มาสเตอร์คาร์ด ฯลฯ เพื่อสรุปภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและลู่ทางการลงทุนให้นักธุรกิจสหรัฐได้รับทราบ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สร้างความมั่นใจกับนักธุรกิจสหรัฐว่าขณะนี้รัฐบาลได้พยายามอย่างเต็มที่ในการสร้างเสถียรภาพให้กับการเมืองไทย เพื่อทำให้ภาคธุรกิจมั่นใจและสามารถวางแผนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลไทยได้ส่งเสริมระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยซึ่งเป็นระบอบที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจที่สุด และยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมดูแลการลงทุนของภาคเอกชนภายใต้กฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นธรรม ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับนักธุรกิจสหรัฐว่าเศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เงินเฟ้อต่ำ เห็นได้จากการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 โดยรัฐบาลไทยเตรียมที่จะให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติมให้กับนักลงทุนที่ลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร รวมถึงพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียน นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวว่ารัฐบาลกำลังปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยครั้งสำคัญด้วยการประกาศใช้เกษตรโซนนิ่ง ที่จะทำให้อุปสงค์ อุปทานสอดคล้องกันตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้กับภาคธุรกิจไปพร้อมๆ กับช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้นจากการปลูกผลผลิตที่ตรงกับความต้องการของตลาด ขณะเดียวกันได้ช่วยเหลือภาคเอกชนให้ต้นทุนลดลงจากการลดภาษีนิติบุคคล และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่มูลค่า 2 ล้านล้านบาทในช่วง 7 ปีต่อจากนี้ ซึ่งเม็ดเงินจากการลงทุนจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเมื่อโครงการลงทุนแล้วเสร็จ จะเป็นการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้กับผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี นายโธมัส โดนาฮิว ประธานของ US – APEC Business Coalition กล่าวกับนายกรัฐมนตรีว่าปีนี้เป็นปีที่ไทยและสหรัฐฉลองความสัมพันธ์ 180 ปีระหว่างกันที่แน่นแฟ้น ดังนั้นเมื่อทราบว่าไทยจะมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ บริษัทในสหรัฐจึงสนใจจะมีส่วนร่วมในโครงการลงทุนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่ายินดีต้อนรับภาคเอกชนสหรัฐเข้ามาร่วมลงทุนในบางโครงการในลักษณะของการเป็นพันธมิตรระหว่างรัฐและเอกชน หรือ Private Public Partnership (PPP) และย้ำว่าการลงทุนครั้งนี้ไทยจะรักษาวินัยการเงินการคลังให้หนี้สาธารณะไม่เกิน 50% ของจีดีพี รวมทั้งมั่นใจว่าเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคอาเซียนได้อย่างสะดวก นักธุรกิจสหรัฐได้สอบถามนโยบายของรัฐบาลไทยว่าให้ความสำคัญกับการเปิดเสรีการค้าอย่างไร ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าไทยพร้อมในการเจรจาเปิดเสรีการค้าในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นแบบทวิภาคี พหุภาคี รวมถึงการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ TRANS PACIFIC PARTNERSHIP หรือ TPP ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบถามความเห็นจากทุกภาคส่วน ขณะเดียวกันไทยยังคงให้ความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อจะได้ผลิตบุคลากรตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน โดยได้ร่วมมือกับทาง กสทช. เพื่อพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมให้ทั่วถึง เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการเรียนรู้และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมอีกด้วย ประธาน US – APEC Business Coalition กล่าวในตอนท้ายของการหารือว่ายินดีที่ได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรี เพราะได้รับฟังแนวทางในการพัฒนาประเทศไทย โดยนักธุรกิจสหรัฐจำนวนมากมีความมุ่งมั่นในการลงทุนต่อเนื่องในประเทศไทย และดียิ่งขึ้นถ้านายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปพบปะกับนักธุรกิจในสหรัฐอเมริกาด้วยตนเอง เพื่อสรุปภาพรวมเศรษฐกิจ รวมถึงลู่ทางการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีรับปากว่าจะหาโอกาสไปเยือนสหรัฐอเมริกาพร้อมร่วมหารือกับนักธุรกิจในโอกาสต่อไป
วันที่ 7/10/2556 เวลา 13:52 น.