นู สกิน ปูพรมธุรกิจขายตรงรับเออีซี

โชว์แกร่งเวียดนามปีแรกทะลุ 450 ล้าน

 

นู สกิน เดินหน้าขยายธุรกิจขายตรงสู่สาขาที่ 53 พร้อมชักธงรบบุกตลาดเวียดนามแบบเต็มรูปแบบ ชูกลยุทธ์สร้างโอกาสทางธุรกิจด้วยผลิตภัณฑ์ต่อต้านความเสื่อมชรา เร่งสร้างฐานผู้ทำธุรกิจรองรับการขยายตัวขายตรงและการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่กำลังจะมาถึง พร้อมคาดการณ์ นู สกิน เวียดนามปีแรกยอดขายกระฉูด 450 ล้านบาท

นางภคพรรณ ลีวุฒินันท์ ประธานกรรมการบริหาร นู สกิน เอ็นเตอร์ไพร์ส ประเทศไทย และเวียดนาม เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจขายตรงในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีมูลค่าทางการตลาด 310,000 ล้านบาท โดยตลาดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับหนึ่งได้แก่ ประเทศมาเลเซีย, ไทย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงค์โปร์ และเวียดนาม ในขณะที่ประเทศเวียดนามซึ่งมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ด้วยปัจจัยที่มีประชากรประมาณ 90 ล้านคน ซึ่งมากเป็นอันดับ 13 ของโลก

และมูลค่าอุตสาหกรรมขายตรงของเวียดนามในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 8,500 ล้านบาท มีการเติบโต 12% เมื่อเทียบกับปี 2554 ซึ่งนับว่าเติบโตสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี และนับเป็นการเติบโตสูงสุด ติด 1ใน 10 ของอุตสาหกรรมขายตรงโลก ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีบริษัทยื่นขอจดทะเบียนเปิดดำเนินการในเวียดนามจำนวน 78 บริษัท และเปิดดำเนินการอยู่ในปัจจุบันจำนวน 54 บริษัท แบ่งเป็นแบรนด์ท้องถิ่น 83.3% และแบรนด์ต่างชาติ 16.7%

โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มียอดขายสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 51% รองลงมาได้แก่ ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเครื่องสำอาง 27% และผลิตภัณฑ์กลุ่มโฮมแคร์ 9% โดยช่องทางการจำหน่ายใช้วิธีการขายผ่านบุคคลต่อบุคคล 100% เพราะยังถือว่าเวียดนามยังคงเป็นตลาดเปิดใหม่สำหรับขายตรง และมีกฎระเบียบที่เข้มงวด ดังนั้นช่องทางการขายแบบปากต่อปากจึงเป็นช่องทางหลักที่มีศักยภาพสูงในปัจจุบัน

นู สกิน เริ่มเข้ามาเปิดดำเนินธุรกิจในประเทศเวียดนามอย่างเป็นทางการช่วงปลายไตรมาส 3 ของปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นสาขาประเทศที่ 53 ของ นู สกิน ทั่วโลก และนับเป็นการประกาศศักยภาพที่แข็งแกร่งของ นู สกิน ในการเปิดตลาดที่ 7 ในกลุ่มประเทศอาเซียนจากทั้งหมด 10 ประเทศ ต่อจาก ไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน สำหรับภาวะการแข่งขันในกลุ่มธุรกิจขายตรงในประเทศเวียดนามยังไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับ ไทย หรือ มาเลเซีย เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างใหม่ ประกอบกับธุรกิจขายตรงที่จะเข้าไปดำเนินธุรกิจในเวียดนามนั้น จะต้องได้รับการยอมรับและผ่านการตรวจสอบโดยรัฐบาลอย่างเข้มงวด ดังนั้นบริษัทขายตรงที่จะเข้าไปดำเนินธุรกิจในเวียดนามต้องดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบของจรรยาบรรณ และต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการปรับทัศนคติของผู้บริโภค และให้ความรู้กับคนในประเทศเวียดนาม เปิดรับธุรกิจขายตรงมากขึ้น

สำหรับกลยุทธ์ในการรุกตลาดเวียดนามช่วงเปิดตลาดใหม่ จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้แทนจำหน่าย โดยมีกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่อต้านความเสื่อมชรา แบรนด์เอจล็อกเป็นตัวขับเคลื่อนตลาด ภายใต้กลยุทธ์ “ageLOC Opportunity” ซึ่งสอดคล้องกับปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ของคนในประเทศ และด้านพฤติกรรมผู้บริโภค ที่คาดการณ์ว่าตัวเลขของประชากรวัย 40 ปีขึ้นไป จะเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มเดียวกันกับทั่วโลก ซึ่งในขณะนี้สัดส่วนของยอดขายผลิตภัณฑ์กลุ่มเอจล็อกอยู่ที่ 65% ของยอดขายทั้งหมดของบริษัทฯ และสัดส่วนระหว่างผลิตภัณฑ์ดูแลผิวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอยู่ที่ 70 : 30

เนื่องจากการทำตลาดในระยะนี้ยังถือเป็นช่วงเปิดตลาดใหม่ๆ จึงเป็นช่วงที่บริษัทฯ ต้องการสร้างฐานสมาชิกผู้ทำธุรกิจเป็นหลัก และจากข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค 57% ของประชากรในประเทศ เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง มองหาโอกาสทางการทำงานใหม่ๆ เสมอ อีกทั้งทุ่มเทกับการทำงานหนัก เราจึงจะเน้นไปที่การพิสูจน์ให้ชาวเวียดนามเห็นว่าเราแตกต่างจากบริษัทอื่น ไม่ว่าจะเป็นด้านวิสัยทัศน์ของบริษัท โอกาสทางธุรกิจ และคุณภาพผลิตภัณฑ์ ซึ่งผู้ทำธุรกิจ นู สกิน สามารถประสบความสำเร็จได้จริงจากกลยุทธ์การตลาดที่เราวางไว้นี้

จึงคาดการณ์ว่าภายในปี 2556 จะมีจำนวนสมาชิก 30,000 บัญชีรายชื่อ และตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 450 ล้านบาท โดยปัจจุบันมีศูนย์บริการผู้แทนจำหน่ายจำนวน 2 สาขาที่เมืองโฮจิมินห์ และเมืองฮานอย และจะขยายเพิ่มเติมในอนาคต เพื่อรองรับการให้บริการที่ครอบคลุมทั่วประเทศยิ่งขึ้น

“ตอนนี้ตลาดขายตรงของเวียดนามเติบโตอย่างมาก แต่ก็ยังเป็นช่วงการเปิดตลาดใหม่ของเรา เราต้องสร้างฐานตลาดเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดที่มีคนรุ่นใหม่กว่า 57% ต้องการโอกาสทำธุรกิจตัวเอง หาโอกาสทางการทำงานใหม่ๆ และผู้คนต้องการสินค้าที่มีคุณภาพและมีแบรนด์มากขึ้น จึงเหมาะที่จะขยายฐานได้ แต่ก็ยังมีประเด็นเรื่องข้อห้ามเรื่องขายตรงที่เวียดนามเข้มงวดมาก เรื่องขายตรงก็ยังใหม่มาก”

นางภคพรรณ กล่าวอีกว่า ทุกครั้งที่ นู สกิน ไปเปิดดำเนินการที่ประเทศใดก็ตาม บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องการทำธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฏระเบียบข้อบังคับของแต่ละประเทศ ปลูกฝังด้านจรรยาบรรณของผู้แทนจำหน่าย และสิ่งที่ นู สกิน คำนึงถึงตลอดเวลาคือการตอบแทนคืนกลับสู่สังคม สำหรับในเวียดนาม เราได้เริ่มช่วยเหลือเด็กผู้ป่วยโรคหัวใจภายในการโครงการ SEA Children’s Heart Fund โดยร่วมมือกับองค์กรการกุศล East Meet West ซึ่งภายในระยะเวลา 1 ปีที่ นู สกิน เวียดนามเปิดดำเนินการ เราช่วยเหลือด้านการผ่าตัดเด็กผู้ป่วยโรคหัวใจไปแล้ว จำนวน 5 ราย

อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทฯ วางกลยุทธ์สร้างการเติบโตผ่านการเปิดดำเนินธุรกิจ นู สกิน เพิ่มขึ้นในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเออีซีนั้น มีวัตถุประสงค์หลักคือ การส่งเสริมการทำงานให้กับผู้ทำธุรกิจ นู สกิน ได้มีโอกาสขยายธุรกิจได้กว้างไกลยิ่งขึ้น ซึ่งนู สกิน เป็นเพียงบริษัทเดียวที่สามารถสร้างเครือข่ายขยายการทำงานและมีรายได้จากทุกประเทศที่ นู สกิน เปิดดำเนินการ กรณีการเปิดที่เวียดนาม ผู้ทำธุรกิจ นู สกิน ที่เป็นคนไทยเอง ก็มองเห็นโอกาสที่บริษัทเตรียมพร้อมไว้ให้ ซึ่งมีผู้ทำธุรกิจมากมายที่ประสบความสำเร็จแล้วในขณะนี้

“สำหรับ นู สกินแล้ว เรามองว่าเมื่อเกิดเออีซี จะเป็นโอกาสอันดีสำหรับธุรกิจและนักธุรกิจไทย ก็สามารถเข้าไปขยายธุรกิจในเวียดนามได้ โดยผ่านตัวแทนจำหน่ายเวียดนามในประเทศไทย แล้วเมื่อตัวแทนจำหน่ายที่เป็นชาวเวียดนามกลับประเทศไปบุกตลาดในเวียดนาม นั้นก็หมายความว่านักธุรกิจไทยได้เพิ่มโอกาสการขยายธุรกิจไปยังประเทศเวียดนามด้วย นั่นเอง” นางภคพรรณ กล่าว

วันที่ 4/10/2556 เวลา 12:24 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

273

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน