สกย.ร่วมกับ ศูนย์ผู้นำธุรกิจเพื่อสังคมแห่ง ม.เกษตรฯ เดินหน้าพัฒนาครูยาง (Smart Farmer)

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการ เสริมความคิดธุรกิจครูยาง เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาครูยางของ สกย.ร่วมกับ ม.เกษตรศาสตร์ โดยมีครูยางจากทั่วประเทศ 1,200 คน ร่วมพัฒนาเป็น Smart Rubber Farmer ณ ห้องแกรด์ไดมอนด์ บอลรูม ศูนย์ประชุมอิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในฐานะประธานเปิดงานครั้งนี้ว่า ครูยาง เป็นผู้แทนประสานงานแนวคิด หรือนโยบายจากภาครัฐ สู่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง ในขณะเดียวกัน ครูยางจะเป็นผู้ที่วางกรอบแนวทาง หรือความคิดในการพัฒนาอาชีพการทำสวนยางด้วย ซึ่งสถานการณ์ยางพาราในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า การผลิตและการใช้ยางพาราในโลกไม่มีความสมดุล เพราะมีการผลิตมากกว่าการใช้ยางพารา ทำให้มีผลต่อราคายางพารา ทางรัฐบาลพยายามเร่งแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ ครูยางเป็นหัวใจสำคัญที่จะต้องศึกษาและนำไปสร้างความเข้าใจแก่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางในประเด็นปัญหาสถานการณ์โลกว่าเป็นอย่างไร ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางสามารถแข่งขันในสภาวะที่ประเทศเพื่อนบ้านมีการผลิตยางพาราเพิ่มขึ้นเช่นกันได้ ดังนั้น การจัดสัมมนาในการเสริมความคิดการทำธุรกิจยางในประเทศไทยให้กับครูยาง จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ตราบใดที่ประเทศไทย ยังมีการส่งออกผลผลิตยางทั้งหมดของประเทศเกือบ 90% นับเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ไทยพยายามเพิ่มผลผลิตยางภายในประเทศ ซึ่งปริมาณการผลิตยางในประเทศเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 3.6 ล้านตัน และมีการส่งออก 3.2 ล้านตัน เพราะฉะนั้น ครูยาง จะเป็นบุคคลสำคัญที่จะเป็นแกนหลักในการช่วยเพิ่มคุณภาพการผลิตยางภายในประเทศ ดังนั้น การที่ สกย.ร่วมกับ ม.เกษตรศาสตร์จัดงานสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ขึ้น จึงเป็นการสนับสนุนการทำธุรกิจยางในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น

“หากเราสามารถเพิ่มการใช้ยางในประเทศ เพิ่มอุตสาหกรรมในประเทศ และเพิ่มมูลค่ายางในประเทศได้ จะช่วยให้ไม่จำเป็นต้องไปพึ่งราคายางจากต่างประเทศ ความเสี่ยงที่จะเกิดการผันผวนราคายาง ก็จะลดน้อยลง” นายยุคล กล่าว

นายประสิทธิ์ หมีดเส็น รองผู้อำนวยการ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง กล่าวว่า สกย.เป็นองค์กรที่มีภารกิจหลักในการให้ความช่วยเหลือดูแลเกษตรกรชาวสวนยางให้มีการพัฒนาในทุกมิติอย่างครบวงจร โดยกำหนดยุทธศาสตร์ให้เกษตรกรชาวสวนยางเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา จึงได้กำหนดให้จัดตั้งกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านจนถึงระดับประเทศ และเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายชาวสวนยาง ซึ่งการพัฒนาสิ่งต่างๆ เหล่านี้ให้ได้รับผลสำเร็จ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาผู้นำทุกระดับช่วยขับเคลื่อนภารกิจร่วมกับเจ้าหน้าที่ สกย. ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยางพาราประมาณ 18.46 ล้านไร่ เกี่ยวข้องกับเกษตรกรชาวสวนยางประมาณ 1.2 ล้านครัวเรือน ซึ่งนับว่าเป็นไปได้ยากที่ สกย.จะเข้าไปดูแลเกษตรกรชาวสวนยางอย่างทั่วถึง ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สกย.จึงได้ดำเนินการจัดตั้งครูยางขึ้น ด้วยการคัดเลือกจากผู้มีจิตอาสาและจิตสาธารณะที่พร้อมจะทำงานเพื่อส่วนรวม โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ มาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ของ สกย. ซึ่งเบื้องต้นได้กำหนดเป้าหมายให้มีครูยางตั้งแต่ปี พ.ศ.2553-2556 รวมทั้งสิ้น 12,000 คน เพื่อให้ครูยาง 1 คน สามารถติดตามและดูแลให้คำแนะนำแก่เพื่อนเกษตรกรชาวสวนยางรายอื่นๆ ประมาณ 100 คน เป็นการช่วยเสริมศักยภาพให้สามารถดูแลเกษตรกรชาวสวนยางได้อย่างครอบคลุม ทั่วถึงและยังส่งผลดีต่อการพัฒนาเกษตรกรชาวสวนยางต่อไปในอนาคต

“เพื่อให้การพัฒนาครูยางและเกษตรกรชาวสวนยางได้รับความรู้ ความสามารถในทุกมิติ รวมถึงเป็นการเตรียมความพร้อมของผู้นำเกษตรกรชาวสวนยางในการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) สกย.จึงได้ร่วมกับ ม.เกษตรศาสตร์ โดยศูนย์ผู้นำธุรกิจเพื่อสังคมแห่ง ม.เกษตรศาสตร์ จัดสัมมนาวิชาการ เสริมความคิดธุรกิจครูยาง ประจำปี 2556 ขึ้น”

นายประสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วัตถุประสงค์ในการจัดสัมมนาครั้งนี้ เพื่อพัฒนาแนวคิดครูยางในการเพิ่มมุมมองการพัฒนาศักยภาพของตนเองทางด้านการแปรรูป การผลิตการตลาดผลิตภัณฑ์ยางพารา เพื่อพัฒนาศักยภาพให้มีความรู้ทางด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การผลิต การตลาด การบริหารจัดการเพื่อต่อยอดและเพิ่มมูลค่าผลผลิต ตลอดจนผลิตภัณฑ์ยางพาราในเชิงธุรกิจ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับกลุ่มธุรกิจหรือองค์กรที่ทำการผลิตผลิตภัณฑ์ยางพาราและศึกษาจากตัวอย่างองค์กรที่ประสบความสำเร็จ ที่สำคัญเป็นการเตรียมความพร้อมครูยางในการจัดตั้งธุรกิจการผลิตและการตลาดที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ยางพารา และนอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเก็บข้อมูลเพื่อต่อยอดงานวิจัยในโครงการพัฒนาธุรกิจชาวสวนยางด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.สิรี ชัยเสรี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจหลักของ ม.เกษตรกรฯ คือ การให้บริการวิชาการแก่สังคม รวมหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ มีความมุ่งมั่นที่จะผลิตบัณฑิตที่มีศักยภาพ ตลอดจนมุ่งมั่นที่จะพัฒนา นวัตกรรม ผลงานวิจัย และถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ทั้งด้านเทคโนโลยีและด้านนวัตกรรมทางการเกษตรสู่สังคม เพื่อจะเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างการพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้มีความเจริญเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยฯ ที่ว่า “ม.เกษตรศาสตร์ มุ่งสร้างศาสตร์แห่งแผ่นดิน เพื่อความกินดีอยู่ดีของชาติ” และการจัดสัมมนาวิชาการหัวข้อ เสริมความคิดธุรกิจครูยาง ประจำปี 2556 เป็นการตอบสนองต่อปณิธานของ ม.เกษตรศาสตร์ โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาเกษตรกรชาวสวนยางให้มีขีดความสามารถและมีความรู้ทางด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การผลิต การตลาด การบริหารจัดการเพื่อต่อยอดและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางพาราในเชิงธุรกิจ รวมถึงเตรียมความพร้อมของผู้นำเกษตรกรชาวสวนยางในการจัดตั้งองค์กรธุรกิจการผลิต การตลาดที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ยางพารา รวมถึงสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายของเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ที่จะถึงนี้

 

 

 

วันที่ 26/09/2556 เวลา 6:32 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

207

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน