ธปท.ตามกลิ่นปั่นค่าบาท
ธปท.-กลต.-คลัง ผนึกกำลังจัดระเบียบซื้อขายทองคำ เตรียมออกมาตรการดูแลโบรกเกอร์-ร้านค้าทอง หลังพบปริมาณซื้อ-ขายทองคำพุ่ง-เทรดผ่านออนไลน์ไม่มีการส่งมอบจริง ส่อเค้านักลงทุนใช้เป็นช่องเก็งกำไรค่าเงินบาท ผวาผู้บริโภคไม่ได้รับการคุ้มครอง
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้ทาง ธปท.อยู่ระหว่างหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นทางกระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อวางกติกาเกี่ยวกับการซื้อขายทองคำของร้านค้าทอง หรือ บริษัทที่เป็นนายหน้า (โบรกเกอร์) ในการซื้อขายทองคำ ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า มีปริมาณการซื้อขายทองคำเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก และส่วนใหญ่เป็นลักษณะที่ไม่ได้มีการส่งมอบกันจริง อีกทั้งยังมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนด้วย
ทั้งนี้ การวางกติกาซื้อขายทองคำดังกล่าวจะเกี่ยวข้องใน 2 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับอัตราแลกเปลี่ยน และส่วนที่เป็นการซื้อขายสัญญาซื้อขายทองคำที่มีการชำระราคาในทันที
“เราพบว่ามีปริมาณการซื้อขายทองคำเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก และส่วนใหญ่เป็นลักษณะที่ไม่ได้มีการส่งมอบกันจริง อีกทั้งยังมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยน” นายประสาร กล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ธปท.ได้ติดตามดูการซื้อขายทองคำของร้านค้าหรือบริษัทที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง โดยดูว่าตัวเลขที่มีการซื้อขายเมื่อหักกลบกันแล้วเป็นอย่างไร โดยมีการนำตัวเลขต่างๆ มาดู ทั้งตัวเลขการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ และตัวเลขการซื้อขายทองคำ ซึ่งปรากฏว่าตัวเลขการซื้อขายเงินตราต่างประเทศมีมากกว่าการซื้อขายทองคำค่อนข้างมากแบบมีนัยสำคัญ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า การซื้อขายในส่วนนี้ คงมีเรื่องการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาเกี่ยวข้อง
“เราเอาตัวเลขเงินตราต่างประเทศที่เขาบอกว่า ขอแลกเพื่อไปซื้อทองคำ มาดูเทียบกับตัวเลขที่มีการซื้อขายทองคำกันจริงๆ ปรากฏว่าตัวเลขการขอแลกเงินตราต่างประเทศมันสูงกว่า ดังนั้น คงมีเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้อย่างแน่นอน” นายประสาร กล่าว
นอกจากนั้น ธปท.ยังพบว่า ระยะหลังคนไทยซื้อทองคำในลักษณะที่เป็นการเทรดมากขึ้น และมากกว่าการซื้อเพื่อเก็บสะสม ประกอบกับร้านค้าทองได้ขยายการให้บริการไปสู่การเป็นโบรกเกอร์มากขึ้น มีการซื้อขายผ่านทองคำทางออนไลน์ ซึ่งไม่ได้มีการส่งมอบทองคำกันจริง จึงต้องดูกติกาและการคุ้มครองผู้บริโภค หากต้องการทองคำแล้วไม่มีของจะชดเชยอย่างไร ที่สำคัญ โบรกเกอร์เหล่านี้มีเงินกองทุนเพียงพอหรือไม่
นายประสาร กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ ทาง ธปท.ได้เชิญผู้ประกอบการร้านค้าทองมาหารือเป็นระยะๆ เนื่องจากให้ความสนใจมาตั้งแต่ช่วงที่ปริมาณการซื้อขายทองคำไม่มาก เพียงแต่ตอนนั้นยังเป็นแค่การขอความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน
“ตอนนี้คงเป็นโจทย์ว่า เราจะวางกติกาต่างๆ ได้อย่างไร เพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น ตอนนี้ก็อยู่ในชั้นการปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่” นายประสาร กล่าว
นอกจากนั้น ธปท.ไม่กังวลว่าการนำเข้าทองคำจะทำให้ประเทศขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เพราะเห็นว่าผู้ประกอบการอัญมณีในประเทศนำทองคำเข้ามาเป็นวัตถุดิบผลิตเครื่องประดับเพื่อส่งออก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลของทาง ธปท. ระบุว่า ปริมาณการนำเข้าทองคำ 7 เดือนแรกปี 56 มีจำนวน 10,858.64 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 8.2% ของปริมาณการนำเข้ารวม 131,058.21 ล้านดอลลาร์ ถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านๆ มา หรือมีอัตราการขยายตัวสูงมาก
ทั้งนี้ ในปี 2555 มีการนำเข้าทองคำ 12,378.60 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 5.63% ของการนำเข้ารวม 219,860.33 ล้านดอลลาร์ หากหักมูลค่าการนำเข้าทองคำออกในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ จะส่งผลทำให้ประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด จำนวน 4,793 ล้านดอลลาร์ แต่ถ้านับรวมทองคำเข้าไปด้วย จะทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 5,000 ล้านดอลลาร์
นายประสาร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ ของธนาคารพาณิชย์ไทย อยู่ที่ร้อยละ 2.4-2.5 ซึ่งเป็นระดับกลางใกล้เคียงกับ 5 ประเทศในอาเซียน การเปรียบเทียบส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิต้องมีความระมัดระวัง เนื่องจากแต่ละประเทศมีปัจจัยแวดล้อมที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้การเทียบค่าเฉลี่ยไม่สะท้อนข้อเท็จจริง
วันที่ 24/09/2556 เวลา 10:33 น.