“นิธิศ สถาปิตานนท์”
หากพูดว่าอาชีพสถาปนิกถ่ายทอดผ่านทางดีเอ็นเอคงไม่ผิด สำหรับหนุ่มสถาปนิกนักบริหารวัย 38 ปี “โต้ง-นิธิศ สถาปิตานนท์”
เพราะเขาอยู่ในแวดวงนี้มาตั้งแต่เกิด ต้นตระกูลเป็นสถาปนิก ตั้งแต่รุ่นคุณตา คุณยาย คุณพ่อ คุณแม่ นามสกุล “สถาปิตานนท์” จึงเป็นนามสกุลพระราชทานมาตั้งแต่สมัยคุณทวด เขาเป็นทายาทคนเดียวของ นิธิ สถาปิตานนท์ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (แบบร่วมสมัย) และเจ้าของผู้ก่อตั้งบริษัทสถาปนิก 49 จำกัด บริษัทออกแบบสร้างสรรค์งานสถาปัตย์ที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของเมืองไทย และมีคุณแม่ รศ.เลอสม สถาปิตานนท์ เป็นรองอธิการบดีจุฬาฯ และอดีตคณบดีสถาปัตย์จุฬาฯ จะพูดว่าจากความผูกพัน คุ้นเคยกับงานสถาปัตย์มาตั้งแต่ยังวัยเยาว์ ส่งผลให้เขาตกหลุมรักวิชาชีพนี้คงไม่ผิด และไม่ลังเลที่จะเลือกเดินบนเส้นทางสายสถาปัตย์ที่ฝังอยู่ในสายเลือดในเวลาต่อมา
“นิธิศ” สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะสถาปัตย์ที่ University of Florida และระดับปริญญาโทที่ Columbia University “คุณพ่อไม่ได้บังคับว่าต้องเรียนสถาปัตย์นะครับ แค่พูดถึงข้อเสียของแต่ละวิชาชีพให้ฟัง สรุปว่าสถาปนิกดีสุด จนในที่สุดผมจึงตัดสินใจเลือกเรียนสถาปัตย์ หลังจากเรียนจบกลับมาเมืองไทยก็มาเริ่มงานที่บริษัทสถาปนิก 49 จำกัด เลย ทั้งๆ ที่ตอนแรกตั้งใจจะไปหาประสบการณ์ที่อื่นก่อน แต่เมื่อคุยกับพี่ๆ หลายคน เขาก็แนะนำว่าในเมื่อที่นี่เป็นศูนย์รวมคนเก่งที่สุด มีแหล่งข้อมูลเยอะมาก การไปทำที่อื่น จะทำให้เก่งสู้ที่นี่ได้อย่างไร ทุกคนจึงบอกให้ผมมาเริ่มงานที่นี่จะได้เก่งเร็วที่สุด ซึ่งก็จริง”
“…ผมเริ่มต้นการทำงานกับบริษัทฯ ในฐานะพนักงานทั่วไป ค่อยๆ ไต่เต้าจากการเป็นเทรนนี และพิสูจน์ความสามารถจนได้รับความไว้วางใจ กว่าจะขึ้นมาถึงตำแหน่ง Executive Director ก็หืดขึ้นคอเหมือนกันครับ ช่วงเริ่มงานใหม่ๆ ก็กดดันนะ แต่ถ้าผมเอาความกดดันมากดดันตัวเองทุกวันก็คงตาย ผมคิดแค่ว่าต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างงานออกแบบสถาปัตย์ บางโปรเจกต์ทำไปเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วหรือบางโปรเจกต์ออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดนล้มโครงการก็มี มันมีหลายแฟคเตอร์ที่ทำให้งานไม่เกิด ส่วนใหญ่เป็นเพราะปัญหาด้านเศรษฐกิจ ถามว่าท้อไหม ตอบเลยว่าไม่ เพราะเราไม่ได้ทำเพื่อ Achieve เป้าหมายเพียงอย่างเดียว เราได้ Learning ได้ประสบการณ์ สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างทางก็สำคัญไม่แพ้เป้าหมาย”
นิธิศ นับเป็นสถาปนิกรุ่นใหม่ ที่มีเป้าหมายในการออกแบบอาคารหรือสถาปัตยกรรมที่มีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อมบนโลกใบนี้ให้น้อยที่สุด เพราะเขาคิดว่า “สถาปนิกที่ดี” ต้องรับผิดชอบต่อโลกและสังคม เช่น ถ้าเราได้พื้นที่ไซด์งานมาแล้วมีต้นไม้ ก็พยายามหาโซลูชั่นที่ไม่ตัดต้นไม้หรือตัดให้น้อยที่สุด หรือหาวิธีย้ายไปปลูกที่อื่นแทน มันเป็นนโยบาย “49 Go green” ที่เน้นการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด
เมื่อถามถึงแนวโน้มและคอนเซ็ปต์ออกแบบอาคารที่ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดปี’56 นี้เป็นอย่างไร สถาปนิกหนุ่ม เล่าว่า “…เราไม่ใช่แค่ออกแบบตึก เรารักที่จะให้ตึกของเราดูแลสภาพแวดล้อมด้วยตัวเอง ในการสร้างเมือง เวลาได้แต่ละโจทย์มา นอกจากกรีนแล้ว ต้องตอบโจทย์ในแง่เมืองกับสังคมโซนนั้น เราต้องดูสภาพแวดล้อมและสังคมโดยรวมแถวนั้นด้วย แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับลูกค้าด้วย ในวงการอสังหาฯ การจะทำให้โลกอยู่อย่างยั่งยืนได้หรือไม่ ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับนักลงทุนให้ความสำคัญ บางคนอยากได้อาคารกรีน บางคนไม่ได้คิดถึงเลย บางคนเห็นชอบด้วย แต่พอเช็คราคาแล้วค่อนข้างสูงเพื่อจะทำให้เป็นกรีน แล้วไม่รู้จะคืนทุนเมื่อไหร่ เขาก็ไม่กล้าเสี่ยง เราก็พยายามโยนไอเดียให้ลูกค้าเห็นชอบมากที่สุดเท่าที่จะทำได้”
“…สำหรับด้านการใช้ชีวิต ไลฟ์สไตล์วันว่างผมชอบขี่จักรยาน ผมมองว่าเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่ง ปกติผมแทบไม่มีเวลาออกกำลังกายเลย ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ นอกจากให้เวลาเต็มที่กับครอบครัวและลูกแล้ว ก็พยายามออกกำลังกาย วิ่งบ้าง ขี่จักรยานบ้างจาก เคยขี่จากเอกมัย ทองหล่อ ไปพระโขนง เส้นทางนี้ผมรู้ทุกซอยหมดแล้ว เป็นอะไรที่สนุกดี เวลาขี่จักรยานเราได้ยิน ได้เห็น ได้กลิ่น แต่ขับรถนี่ไม่ได้เก็บอะไรเลย อย่างเวลาขี่เข้าไปในซอย เรามองเห็นอะไรที่ไม่เคยมอง อย่างบ้านนี้เพิ่งซักผ้าเสร็จ บ้านนี้มีเด็ก บ้านนั้นเลี้ยงสุนัข บ้านนี้มะม่วงสุก เพราะว่าสปีดมันช้า จึงเก็บรายละเอียดได้มาก”
เมื่อถามถึงหลักการบริหารของผู้บริหารรุ่นใหม่ โต้ง ตอบว่า “…ผมได้เรียนรู้จากคุณพ่อเยอะ ข้อแรกผมมองว่าทุกปัญหาแก้ได้ บางอย่างปล่อยเวลามันเดิน มันก็แก้เอง ข้อสอง อย่าใจร้อน อย่าวู่วาม นิ่งๆ ไว้จะสุดยอดมาก เมื่อไหร่ที่คุณนิ่งไตร่ตรองอย่างมีสติ คุณจะแก้ปัญหาได้ ข้อสาม ต้องเดินทางสายกลางบาลานซ์ทุกๆ เรื่อง ถ้างานสำเร็จแต่ชีวิตครอบครัวล้มเหลว ผมว่ามันไม่ใช่นะ และข้อสุดท้ายสำคัญมากที่ผมเน้นย้ำกับทีมงานเสมอ คือ ต้องซื่อสัตย์ทั้งต่อลูกค้าและองค์กร”
เนื่องจากในปีนี้บริษัทสถาปนิก 49 จำกัด จะครบรอบ 30 ปี เราจึงมี Vision ว่าเราจะเป็นบริษัทสถาปนิกชั้นนำของอาเซียนเทียบเท่าสิงคโปร์ให้ได้ ในแง่ Vision เราต้อง Aim High ไว้ก่อน มองย้อนกลับไป 30 ปีก่อน ความก้าวหน้าด้านสถาปัตย์ของสิงคโปร์ยังตามหลังเราอยู่เลย มาวันนี้เขานำเราไปไกลแล้ว เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีงานที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกอย่างน้อยหนึ่งงานให้ได้ภายในเวลา 2 ปี และในโอกาสที่บริษัทฯ ครบรอบ 30 ปีในปีนี้ เราจึงเตรียมจัดงานฉลองครบรอบระหว่างวันที่ 16-20 ตุลาคมนี้ ณ ลานอีเดน ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยจะจัดแสดงเอ็กซิบิชั่นภายใต้แคมเปญ “Building Cities” เพื่อเปิด Vision Bangkok 2049 แสดงผลงานสถาปัตยกรรมระดับมาสเตอร์พีซมากมายที่เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมสร้างเมืองตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมาของเรา รวมทั้งผลงานที่คว้ารางวัลระดับประเทศและระดับนานาชาติ อาทิ ที่ทำการกระทรวงการต่างประเทศ ถนนศรีอยุธยา, อาคารศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย, ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, ตึกเพชร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น นอกจากนั้นยังจัดสัมมนางานสถาปัตย์แนวใหม่ แนะเทรนด์งานออกแบบสร้างสรรค์จากวิทยากรชาวไทยและต่างชาติชื่อดังในแวดวงสถาปัตย์ อาทิ Mok Wei Wei ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท W Architects Pte. Ltd. จากประเทศสิงคโปร์ หรือ กุลภัทร ยันตรศาสตร์ สถาปนิกชาวไทยผู้ก่อตั้งบริษัท wHY Architecture ที่ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ในวันที่ 19 ตุลาคมนี้ ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์แอทเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
วันนี้สถาปนิกที่ชื่อ “นิธิศ” ไม่ขอนิยามว่าตัวเองประสบความสำเร็จในชีวิตแล้วหรือยัง แค่ตั้งเป้าทำให้บริษัทสถาปนิก 49 ดำเนินต่อไปได้แม้ในวันที่เขาเกษียณแล้ว อืมม!! มาตรวัดความสำเร็จของสถาปนิกจับต้องได้จริงๆ
วันที่ 23/09/2556 เวลา 11:29 น.