สธ.ไทย-เมียนมาร์mouด้านสาธารณสุข 7 สาขาสกัดโรคระบาดข้ามแดน
วันที่20 ก.ย.56นพ. ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และศาสตราจารย์ พี เธท คิน ( Prof. Pe Thet Khin) รัฐมนตรีสาธารณสุขแห่งสหภาพเมียนมาร์ ร่วมประชุมความร่วมมือด้านสาธารณสุขไทย -เมียนมาร์ ณ โรงแรมมันฑะเลย์ ฮิล รีสอร์ท เมืองมัณฑะเลย์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ มีผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการจากกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 2 ประเทศ ร่วมประชุมประมาณ 60 คน
นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ได้มีพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือหรือเอ็มโอยู ด้านสาธารณสุข (MOU : Memorandum Of Understanding on Health Cooperation) ซึ่งเป็นความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกบันทึกความเข้าใจดังกล่าวมีอายุ 5ปี โดยมีความร่วมมือใน 7 สาขา ได้แก่1.การเฝ้าระวังโรค 2.การควบคุมมาตรฐานอาหารและยา 3. การแพทย์พื้นบ้าน 4. การควบคุมผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องสำอาง 5. การควบคุมโรคติดต่อและโรคติดต่ออุบัติใหม่ โดยเฉพาะโรคระบาดข้ามเขตแดน 6. การส่งเสริมสุขภาพ 7.การพัฒนาระบบบริการสุขภาพสำหรับแรงงานต่างด้าวและประชากรข้ามพรมแดน รูปแบบของความร่วมมือประกอบด้วย การแลกเปลี่ยนข้อมูล การพัฒนาบุคลากร เช่น การฝึกอบรม การศึกษาดูงาน และการศึกษาวิจัยร่วมกัน เช่นการแพทย์พื้นบ้านและสมุนไพร โดยจัดทำแผนปฎิบัติการร่วม(JointActionPlan) ตามข้อตกลงดังกล่าวระหว่างปี2556-2558 ซึ่งจะเป็นการเตรียมพร้อมประเทศเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี2558 สำหรับงบประมาณที่ใช้ตามแผนดังกล่าวประกอบด้วยงบประมาณของแต่ละประเทศและเงินสนับสนุนจากองค์กรและหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น กองทุนโลกเพื่อต่อสู้กับโรคเอดส์ วัณโรคและมาลาเรีย เป็นต้น โดยมีระบบและกลไกติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง
ด้านนพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า แผนปฏิบัติการความร่วมมือดังกล่าว ประกอบด้วย การเฝ้าระวังโรค การป้องกันควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่ชายแดน รวมทั้งโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยจะมีเฝ้าระวังการดื้อยาของเชื้อเอดส์ มาลาเรีย และวัณโรค และการจัดตั้งห้องปฏิบัติการอาหารและยาขนาดย่อยเพื่อตรวจสอบและเฝ้าระวังยาปลอมและยาที่ไม่ได้มาตรฐาน 4 แห่ง ที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก เมียวดี ทวาย และเกาะสอง การซ้อมแผนรับมือโรคระบาดและภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข การพัฒนาระบบรักษาพยาบาลและการส่งต่อผู้ป่วยข้ามพรมแดน โดยเน้นการพัฒนาการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของกลุ่มแรงงานต่างด้าวและประชากรข้ามเขตแดน ด้วยการจัดให้มีหลักประกันสุขภาพที่เหมาะสม เช่น บัตรประกันสุขภาพ โดยมีเป้าหมายเพิ่มความสำเร็จการรักษาผู้ป่วยวัณโรคหายขาดจากร้อยละ 85 เป็นร้อยละ 90 รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขของทั้ง 2ประเทศ และอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว สำหรับพื้นที่เป้าหมายจะดำเนินการร่วมกันใน 4 จังหวัดคู่แฝด ได้แก่ เชียงรายกับท่าขี้เหล็ก ตากกับเมียวดี กาญจนบุรีกับทวาย และระนองกับเกาะสอง โดยมีกรมควบคุมโรครับผิดชอบหลัก และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพร่วมดำเนินการ สาขาการแพทย์พื้นบ้านและสมุนไพร จะเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูล การพัฒนาบุคลากร เช่น การแลกเปลี่ยนศึกษาดูงานของบุคลากรสาธารณสุขและนักศึกษาด้านการแพทย์พื้นบ้าน การพัฒนาระบบการควบคุมคุณภาพและการผลิตสมุนไพรให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพี การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาและควบคุมคุณภาพยาสมุนไพร โดยมีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นหน่วยงานหลักสาขาอาหาร ยาและเครื่องสำอาง จะเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านระเบียบและกฎหมายอาหารและยา การพัฒนาบุคลากร โดยการฝึกอบรมและการแลกเปลี่ยนศึกษาดูงานของบุคลากร มีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นหน่วยงานหลัก สำหรับสาขาการส่งเสริมสุขภาพ จะมุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพนักเรียน วัยรุ่นและผู้สูงอายุ รวมทั้งการส่งเสริมด้านโภชนาการ จะมีการฝึกอบรมและแลกเปลี่ยนศึกษาดูงาน โดยมีกรมอนามัยเป็นหน่วยงานหลัก ที่ผ่านมาประเทศไทยมีความร่วมมือกับสหภาพเมียนมาร์ เพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขชายแดนมาตั้งแต่พ.ศ.2543 เน้นหนักเรื่องโรคมาลาเรีย เอดส์ วัณโรค พบว่ามีพัฒนาการดีขึ้นเป็นลำดับ โดยมีประชากรเมียนมาร์อาศัยตามแนวชายแดนประมาณ 1 ล้าน 6 แสนคน มีพื้นที่ติดต่อกับไทย 16จังหวัด(Township) ใน 4 รัฐ ได้แก่ รัฐฉาน (Shan) คะยา(Kayah) คะยิน (Kayin) มอญ (Mon) และเขตทะนินทะยี (Tanintharyi) มีโรงพยาบาลของเมียนมาร์อยู่ที่ชายแดน 2 แห่ง และคลินิก 1 แห่ง ขณะนี้คาดว่าจะมีชาวเมียนมาร์ประกอบอาชีพในประเทศไทย กว่า 1ล้านคน
จากการเฝ้าระวังการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มประชากรเมียนมาร์ในประเทศไทยล่าสุดในปี 2555 พบอัตราการติดเชื้อ 1 %ลดลงจาก 1.22 %ในปี2553 ส่วนโรคมาลาเรียชายแดนไทย-เมียนมาร์ ในภาพรวมมีแนวโน้มลดลง โดยในกลุ่มคนไทยลดจาก 14,431 รายในปี 2553 เหลือ 9,600 ราย ในปี2555 ในกลุ่มชาวต่างชาติลดจาก19,283 ราย เหลือ 8,367 ราย จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยมาลาเรียสูงสุดได้แก่ ตาก กาญจนบุรี และแม่ฮ่องสอน สำหรับวัณโรคนั้น ในปี 2554 พบผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มต่างด้าว 2,268 ราย และมีปัญหาเชื้อดื้อยา 1-4% ส่วนคนไทยพบปัญหาเชื้อดื้อยา 1.7% และจากรายงานผลการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมาร์ พบอัตราการติดเชื้อวัณโรคประมาณร้อยละ 0.2 %
วันที่ 20/09/2556 เวลา 16:13 น.