รัฐบาลดันสุดลิ่มพรบ.กู้2ล้านล.
“รัฐบาล” เทหมดหน้าตัก หวังดัน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้าน ล. ผ่านสภาฉลุย สั่งเลื่อนถก ครม.สัญจรไร้กำหนด กำชับ รมต.-ทุกหน่วยงานรัฐ หอบข้อมูลรับมือฝ่ายค้าน ขณะที่ “ปู” อ้อนฝ่ายค้านอย่าเล่นเกมยื้อ ยันทุกโครงการ โปร่งใสตรวจสอบได้ ไม่ขัด รธน. ชี้ทำตาม กม.ทุกขั้นตอน อ้างเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชาติ ด้าน “ฝ่ายค้าน” ตั้งป้อมงัดมุขเดิมป่วนตีรวนยืดเยื้อ อ้างแปรญัติ 100 กว่าคน 2 วันไม่พอ ขออภิปราย 1 สัปดาห์ถึง 1 เดือน ขู่ปิดปาก-รวบรัดลงมติ ยื่นศาล รธน. ลั่นตั้งเป้าถล่ม ขัด รธน.-ส่อทุจริต ซัด กม.สร้างหนี้ชาติ 5 ล้านๆ ผ่อน 50 ปี แขวะใช้แบงก์พันพันรอบโลกได้ถึง 8 รอบ ส่วน “40 ส.ว.-ปชป.” แท็กทีมยื่น ศาล รธน. โมฆะ-ชะลอโหวต วาระ 3 แก้ รธน.ที่มา ส.ว.แล้ว ฉะกระบวนการมิชอบ หวังทำลายระบบถ่วงดุลตรวจสอบ ขณะที่ “ขุนค้อน” ไม่สนยันเดินหน้าโหวตวาระ 3 ตามกรอบกฎหมาย อ้างอำนาจรัฐสภา ศาลแทรกแซงไม่ได้ ไม่หวั่น ปชป.ยื่นถอดถอน เสียงแข็งทำหน้าที่ถูกต้อง ปัดรวบรัด-ปิดปาก
รัฐบาลเลื่อน ครม.สัญจรรับมือ 2 ล้าน ล.
เมื่อวันที่ 17 ก.ย. นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจะเลื่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรพื้นที่ 4 จังหวัดภาคกลาง คือ ลพบุรี, อ่างทอง, สิงห์บุรี และชัยนาท ในระหว่างวันที่ 19-20 ก.ย.นี้ออกไปไม่มีกำหนด เพื่อให้รัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. …วงเงิน 2 ล้านล้านบาทต่อสภาฯ ในวันที่ 19-20 ก.ย.นี้ หลังนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานให้ ครม.ทราบ ว่าจะใช้เวลา 2 วัน อีกทั้งมีหลายหน่วยงาน อาทิ สภาพัฒน์ สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ต้องเตรียมข้อมูลชี้แจง จึงทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเตรียมการชี้แจง ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงตัดสินใจเลื่อนการประชุม ครม.สัญจรที่ จ.ลพบุรี นั้นออกไปอย่างไม่มีกำหนด นอกจากนี้ นายวราเทพ ยังได้แจ้งให้ที่ประชุม ครม.ทราบด้วยว่าในวันอังคารที่ 24 ก.ย. ช่วงบ่าย จะเป็นการแถลงผลงาน 1 ปีของรัฐบาล ต่อสภาผู้แทนราษฎรด้วย อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในที่ประชุม ครม.ว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาทนั้น ถือว่าเป็น พ.ร.บ.ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างประเทศ จึงอยากให้ทุกหน่วยงานอยู่คอยชี้แจงหากถูกซักถาม
ปูวอนสภาฯ ผ่าน กม.กู้เงิน 2 ล้าน ล.
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวว่า ที่พรรคประชาธิปัตย์เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญนั้น ต้องให้ฝ่ายกฎหมายว่าไปตามขั้นตอน เพราะทุกอย่างเราทำตามขั้นตอนของรัฐสภาอยู่แล้ว ส่วนความพร้อมในการชี้แจง ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทในวาระ 2 ต่อสภาฯ ในวันที่ 19-20 ก.ย.นี้นั้น เป็นวาระที่จะเกี่ยวข้องกับกรรมาธิการฯ ซึ่งทางกรรมาธิการฯ ก็พร้อมชี้แจงและให้ข้อมูลต่อสภาฯ อย่างไรก็ตามรัฐบาลก็อยากขอความร่วมมือ เพราะเราก็อยากเห็นประเทศมีแผนการลงทุนที่ชัดเจน เป็นประโยชน์ และช่วยทำให้เศรษฐกิจของเราได้ขับเคลื่อนไปได้ โดยเฉพาะช่วงนี้ที่เศรษฐกิจต่างๆ ต้องการการเติบโต ถ้ามีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานก็จะทำให้ทุกอย่างเดินได้ การลงทุนครั้งนี้อาจจะดูว่าเป็นตัวเลขที่สูง แต่จริงๆ แล้วการใช้วงเงินต่างๆ จะมีการใช้ตามความเป็นจริง ซึ่งจะใช้ระยะเวลาถึง 7 ปีในโครงการนี้ ที่สำคัญรัฐบาลคำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง ยึดกรอบเรื่องหนี้สาธารณะว่าต้องไม่เกิน 50% เป็นหลัก ส่วนที่ฝ่ายค้านยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตีความว่า พ.ร.บ.กู้เงินขัดรัฐธรรมนูญนั้น รัฐบาลได้ให้กฤษฎีกาเป็นผู้ร่างกฎหมายฉบับนี้ และทำตามขั้นตอนต่างๆ เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.เงินกู้อื่นๆ ยืนยันว่าเราใช้ข้อมูลจากกฤษฎีกา และผู้ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการไปตามขั้นตอนทุกอย่าง
มั่นใจไม่ขัด รธน.
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งนี้ หาก พ.ร.บ.กู้เงินฉบับนี้ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ เราถือว่าทำเต็มที่แล้วให้กับประเทศ แต่เสียดายโอกาสมากกว่า ดังนั้นเราก็จะพยายามทำอย่างเต็มที่ในสิ่งที่รัฐบาลทำได้ แต่โอกาสที่จะทำให้ประเทศเราสามารถที่จะแข่งขันไปข้างหน้าก็จะไม่เกิดขึ้น ความมั่นใจจากนักลงทุนที่เห็นว่าประเทศไทยประกาศการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เราจะเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงอาเซียนก็คงจะเกิดได้ยาก ดังนั้นอาจจะทำให้โอกาสที่เราควรจะได้ไปอยู่ที่อื่น ซึ่งดิฉันก็หวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และทุกๆ ท่านจะเข้าใจ และช่วยกันทำให้โครงการนี้เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดความภูมิใจให้กับลูกหลานของเรา เพราะจริงๆ แล้ว เม็ดเงินจากกฎหมายนี้คือการลงทุนสำหรับการสร้างรายได้ในระยะยาว ก่อให้เกิดการจ้างงาน พัฒนาเศรษฐกิจ ถ้าเราไม่ลงทุนเลยใน 7-8 ปี ก็ไม่รู้ว่าเราจะแข่งขันกับประเทศอื่นได้อย่างไร” เมื่อถามย้ำว่าถ้ากฎหมายฉบับนี้ไม่ผ่านเห็นชอบถึงขั้นต้องยุบสภาหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ตอบคำถามใดๆ ก่อนเลี่ยงเดินขึ้นรถทันที
ยันโปร่งใสตรวจสอบได้
นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 ของสภา ในวันที่ 19-20 ก.ย.นี้ ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพระเป็นเรื่องของกรรมาธิการ (กมธ.) และจะมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องร่วมชี้แจง เชื่อว่าไม่น่ามีปัญหา และการออกเป็น พ.ร.บ.ก็มีความรอบคอบที่สามารถตรวจสอบได้ และทำให้การใช้งบประมาณเป็นไปตามเป้าหมาย การกู้เงินดังกล่าวก็ไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ และทุกคนยังเห็นตรงกันว่าควรนำงบดังกล่าวไปใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศซึ่งมีความจำเป็น
ฝ่ายค้านจี้ถ่ายสดถกกู้ 2 ล้าน ล.
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมหารือกรณีที่สภาผู้แทนราษฎร จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท วาระ 2 ในวันที่ 19-20 ก.ย.นี้ โดยพรรคประชาธิปัตย์มี ส.ส.และผู้ที่เป็นกรรมาธิการเสียงข้างน้อยสงวนคำแปรญัตติทั้งหมด 115 คน ซึ่งขอเรียกร้องให้ถ่ายสดการประชุมด้วย เพราะเป็นร่างกฎหมายที่มีวงเงินจำนวนมาก ซึ่งฝ่ายค้านมีความเป็นห่วง 3 เรื่อง คือ 1.ภาระหนี้ในอนาคต 2.ความไม่พร้อมของโครงการทั้งหมด และ 3.ความไม่โปร่งใส ซึ่งขอให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้ผู้สงวนคำแปรญัตติและสงวนความเห็นได้อภิปราย อย่าปิดอภิปรายเหมือนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะจะทำให้ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มีปัญหาลักษณะเดียวกันกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ตั้งแง่ขอเวลาถก 1 สัปดาห์-1 เดือน
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน สร้างหนี้ให้ประเทศ 5 ล้านล้าน ผ่อนชำระกัน 50 ปี 2 วันคงไม่เพียงพอ เพราะในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์จะมีผู้สงวนคำแปรญัตติ กว่า 100 คน ที่ประสงค์จะได้มีการอภิปรายแสดงความเห็นหลักการและเหตุผล ในส่วนที่เราไม่เห็นด้วยกับการสร้างหนี้ให้ประเทศ และเชื่อว่าหนี้ก้อนนี้จะอยู่กับประเทศไทยไปตลอดกาล การกู้หนี้ในลักษณะของปริมาณแบงก์พัน ที่สามารถพันรอบโลกได้ถึง 8 รอบ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลกำลังจะพาประเทศไทยโดดลงปากเหว เพราะเป็นการกู้เงินที่ไม่มีรายละเอียด ว่าจะทำตรงไหนอะไรไม่มีรายละเอียด แถมยังต้องเสียดอกเบี้ยฟรี การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ดังกล่าว ฝ่ายค้านขอเวลาเป็นสัปดาห์ หรือถ้าจะต้องใช้เวลาเป็นเดือนเพื่ออภิปรายเรื่องนี้ก็ควรให้โอกาส แต่ถ้าใช้วิธีปิดปากเสนอปิดอภิปรายก็เจอกันที่ศาลรัฐธรรมนูญ และตนรู้สึกเสียใจที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะไม่อยู่ร่วมพิจารณา แต่ไปประชุม ครม.สัญจรที่ จ.ลพบุรี ทั้งที่เป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร แต่ผู้นำฝ่ายบริหารไม่อยู่ฟังการอภิปราย โดยทิ้ง รมต.ไว้ 3 คน คือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม และ นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รมช.เกษตร ให้ชี้แจงในสภา จึงอยากถามว่าจะให้สามคนนี้หารกันใช้หนี้แทนประชาชนคนละสองล้านล้านได้หรือไม่ เพราะเป็นการกู้สร้างหนี้ให้ประชาชน 50 ปี
จี้ปูเข้าสภาฟังถกกู้ 2 ล้าน ล.
นายชวนนท์ กล่าวด้วยว่า การที่นายกไปประชุม ครม.นอกพื้นที่ ต้องถามว่าท่านเห็นประชาชนและรัฐสภาเป็นอะไร เพราะเงินที่ใช้ไม่ได้เป็นเงินส่วนตัวของรัฐบาล แต่เป็นเงินแผ่นดิน ตนรับไม่ได้กับพฤติกรรมเช่นนี้ จึงขอเสนอให้เลื่อนการพิจารณา พ.ร.บ.เงินกู้สองล้านล้านออกไป หรือไม่ก็เลื่อนการประชุม ครม.สัญจรออกไป เพราะที่ผ่านมาก็ไม่เคยประชุมพฤหัส ศุกร์ แต่จงใจเลือกให้ตรงกับการประชุมเพื่อพิจารณา พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน จึงขอให้ประชาชนช่วยกันเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีมาทำงานในสภา นายกฯ จะไม่อยู่ไม่ได้เพราะเป็นนโยบายที่สร้างหนี้ อยากถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ละอายใจจนไม่กล้าสู้หน้าประชาชนใช่หรือไม่ ว่ากำลังสร้างความเสียหายให้กับประเทศจึงไม่กล้ามารับฟัง พรรคประชาธิปัตย์รับพฤติกรรมของนายกรัฐมนตรีเช่นนี้ไม่ได้
ส.ว.ยื่นศาล รธน.ระงับโหวดวาระ 3
วันเดียวกัน ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา นายคำนูณ สิทธิสมาน และนายสุรจิต ชิรเวทย์ ส.ว.สุมทรสงคราม ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้ ส.ว. 200 คนมาจากการเลือกตั้ง และให้ยุบ 6 พรรคร่วมรัฐบาลที่ ส.ส.ในสังกัดร่วมลงชื่อเห็นชอบกับการแก้ไข และสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารของ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเป็นเวลา 5 ปี พร้อมขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวฉุกเฉิน สั่งประธานรัฐสภา และเลขาธิการรัฐสภาให้ระงับการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 โดยการยื่นคำร้องครั้งนี้ได้นำเอกสารที่เป็นคำแนะนำของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ที่มี นายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ซึ่งระบุว่า กระบวนการนี้เป็นการทำลายการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐ มาเสนอต่อศาลด้วย
ชี้แก้ รธน.กระบวนการมิชอบ
พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า เหตุที่ต้องมายื่นคำร้องเนื่องจากเห็นว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.ของรัฐสภาไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวบรัด ตัดตอน ที่สำคัญการแก้ไขคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็น ส.ว.โดยไม่ห้ามการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง การเป็นสามี-ภรรยา กับ ส.ส. หรือการไม่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง ทำให้วุฒิสภามีฐานทางการเมืองเหมือนกับ ส.ส. ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้วุฒิสภาเป็นองค์กรตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจรัฐ จึงถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครอง และเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ส่วนที่ ส.ส.เสียงข้างมากระบุว่าจะเดินหน้าลงมติวาระ 3 ไม่สนอำนาจศาลรัฐธรรมนูญหากคำสั่งระงับนั้น ที่ผ่านมาฝ่ายเสียงข้างมากพูดตลอดว่าอยู่บ้านเมืองปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แล้วเมื่อกติกาบ้านเมืองเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่รับอำนาจของศาล จะพูดได้ว่าเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร
ปชป.ยื่นโมฆะแก้ รธน.
ขณะเดียวกัน นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา ในฐานะทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้ายื่นคำร้องจำนวน 47 หน้า ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นเดียวกัน โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. แต่ไม่ได้ขอให้สั่งยุบ 6 พรรคร่วมรัฐบาลและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค ซึ่งนายวิรัตน์ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ดังกล่าวประเด็นแก้ไขที่เห็นว่าร้ายแรง ก็คือการให้ ส.ว.สรรหาไม่ต้องลาออกมาลงสมัครรับเลือกตั้ง หากลงแล้วไม่ได้รับเลือกตั้งก็กลับมาเป็น ส.ว.สรรหาต่อไปได้ การให้ ส.ว.เลือกตั้งสามารถเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ เป็นสามี-ภรรยา ของ ส.ส. ได้ ตรงนี้จะทำให้การเป็นองค์กรตรวจสอบถ่วงดุลถูกทำลาย จึงอยากให้มี ส.ว.สรรหาต่อไป ถ้าจะมาจากการเลือกตั้งก็ต้องมาจากสาขาวิชาชีพต่างๆ เช่น แพทย์ ทนายความ เอ็นจีโอ ซึ่งถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้สำเร็จ ผลที่จะตามมา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง คณะกรรมการ ป.ป.ช จะหายไป เราเข้าใจดีว่ารัฐสภามีอำนาจเต็มที่จะยกร่างกฎหมาย แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ 50 และเมื่อทำอย่างไรแล้วก็ต้องไม่ปิดกั้นองค์กรอื่นในการตรวจสอบ
“ขุนค้อน” เมินศาล ลุยโหวตวาระ 3 ต่อ
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้ลงมติวาระ 3 คงต้องดูคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่าจะออกมาอย่างไร ถ้าศาลมีคำสั่งชะลอการลงมติวาระ 3 คงต้องดูเหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญก่อน จึงมาพิจารณาว่าจะเรียกประชุมรัฐสภาว่า จะดำเนินการอย่างไรกับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ แต่การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ดำเนินการตามคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้แก้เป็นรายมาตรา เราก็ให้เกียรติคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งที่แล้ว แต่ไม่รู้ว่าครั้งนี้จะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยหรือไม่ โดยหลักการแล้ว เรื่องมาตรา 68 เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นคนละกรณีกับการที่สมาชิกรัฐสภาใช้อำนาจขอแก้ไขแก้รัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ซึ่งเป็นอำนาจที่รัฐสภาทำได้และเป็นอำนาจโดยตรงของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่เกี่ยวกับกรณีมาตรา 68 ดังนั้นตามข้อกฎหมายแล้ว เมื่อครบกำหนด 15 วันในวันที่ 27 ก.ย. จะต้องเดินตามกรอบกฎหมายคือ ให้ลงมติวาระ 3 ต่อไป จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ แต่จะเป็นวันใดก็ต้องไปหารือกัน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม เพราะกฎหมายระบุชัดเจนว่า เป็นอำนาจของรัฐสภา ศาลจะมาแทรกแซงไม่ได้
ไม่หนักใจ ปชป.ยื่นถอดถอน
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนที่กรณีพรรคประชาธิปัตย์เตรียมยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่ง กรณีทำผิดข้อบังคับและรัฐธรรมนูญ ปิดโอกาสไม่ให้ฝ่ายค้านได้แสดงความเห็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ไม่รู้สึกหนักใจ เพราะทำหน้าที่อย่างถูกต้อง ไม่ได้ปิดกั้น หรือรวบรัด ตนทำอะไรก็ผิดทุกเรื่อง เขาทำอะไรถูกหมด ขนาดไปลากแขนขาประธานก็ยังถูกเลย ขอชี้แจงว่า การที่ตนให้ที่ประชุมลงมติปิดการอภิปรายมาตรา 10 นั้น เนื่องจากมีการพูดวนเวียนซ้ำซาก ดูแล้วมีเจตนายื้อการอภิปราย ดังนั้นเมื่อมีผู้เสนอขอปิดอภิปราย จึงต้องขอมติที่ประชุมว่า จะให้ปิดอภิปรายหรือไม่ ที่ประชุมก็มีมติให้ปิดอภิปราย ตนไม่ได้ไปวินิจฉัยให้ปิดอภิปรายเอง เป็นคนละกรณีกับการวินิจฉัยมาตรา 4 ที่ตอนนั้นมี ส.ว.เสนอให้ลงมติมาตรา 4 เลย โดยไม่ต้องอภิปราย เพราะมีเนื้อหาสอดรับกับมาตรา 3 ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบไปแล้ว ตนจึงวินิจฉัยว่า จะไปลิดรอนสิทธิการอภิปรายของสมาชิกไม่ได้ ดังนั้นจะเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะมาตรา 10 มีการอภิปรายไปแล้ว แต่มาตรา 4 ยังไม่มีการอภิปราย ส่วนที่วิจารณ์ว่า ตนกับนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา มีคำวินิจฉัยไม่ตรงกันก็ไม่ถูกต้อง เพราะตนยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยในกรณีที่นายนิคมตัดสินไปเลย แต่เมื่อพรรคประชาธิปัตย์อภิปรายวนเวียนซ้ำซาก แปรญัตติเหมือนกันทุกคน แสดงว่ามีเจตนายื้อการอภิปราย เชื่อว่าเจตนารมณ์ของข้อบังคับการประชุมก็ไม่มีเจตนาให้พูดกี่วันก็ได้ หรือยื้อจนออกกฎหมายไม่ได้ ตนยึดตามเจตนารมณ์ในข้อบังคับทุกอย่าง แต่ยังมากล่าวหาตนอีก ดูแล้วไม่ต่างอะไรจากนิทานอีสปเรื่องสุนัขจิ้งจอกกับแกะ ที่หมาป่าหาเรื่องจะกินลูกแกะ โดยบอกว่าลูกแกะทำให้น้ำขุ่น ทั้งที่ลูกแกะกินน้ำอยู่ปลายน้ำ แต่หมาป่ากินน้ำอยู่ที่ต้นน้ำ
วันที่ 18/09/2556 เวลา 0:57 น.