เบรกโหวตวาระ 3 ปชป.ยื่นศาลโมฆะ ล้มแก้ รธน.
“ปชป.” ลั่นสัปดาห์หน้า ยื่นศาลรธน. โมฆะแก้ รธน. ที่มา ส.ว. 2ปม พร้อมขอคุ้มครองชั่วคราวชะลอโหวตวาระ 3 ชี้กระบวนการมิชอบด้วยกฎหมาย ขัดมาตรา 68 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองซัดทำอำนาจ 3 สถาบัน บริหาร-นิติบัญญัติ-ตุลาการ เสียสมดุล พร้อมพ่วงถอดถอน “ขุนค้อน” พ้นเก้าอี้ ปธ.รัฐสภาด้วย ซัดใช้อำนาจเกินขอบเขต ตัดสิทธิผู้สงวนคำแปรญัตติ ขณะที่ “นิคม” ไม่หวั่น เชื่อศาล รธน.ไร้อำนาจตีความ อ้างรัฐธรรมนูญไม่เปิดช่อง พร้อมมั่นใจ 27 ก.ย.โหวตวาระ 3 ฉลุย ด้าน “รัฐบาล” ตีปิ๊บ ยันพร้อมแถลงผลงาน 25 ก.ย.นี้ คุยฟุ้งเวทีปฏิรูปฯ คืบ คาดนัดถก 3 กลุ่มย่อย ภายในเดือน ก.ย.นี้ ก่อนนัดประชุมใหญ่เดือน ต.ค.
“ปชป.” ยื่นศาลโมฆะแก้ รธน.
เมื่อวันที่ 13 ก.ย.56 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวว่า ที่ประชุมวิปฝ่ายค้านมีความเห็นร่วมกันที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญในสัปดาห์หน้า เพื่อให้วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว.ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ และจะขอให้ศาลมีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการลงมติของรัฐสภาในวาระที่ 3 ด้วยจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยออกมา ประเด็นสำคัญที่ฝ่ายค้านเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะส่งผลให้ดุลยภาพระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และ ตุลาการ เสียไปโดยเฉพาะการทำหน้าที่ขององค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญ
อัดกระบวนมิชอบด้วยกฎหมาย
ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ขณะเดียวกันกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภายังไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ ดังนี้ 1.การเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากได้แก้ไขให้ ส.ว.เลือกตั้งในปัจจุบันสามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว.ได้ติดต่อกันทันที ทั้งที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดให้เว้นวรรคชั่วคราวก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการยึดโยงทางการเมือง ที่อาจมีผลต่อการทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลางของ ส.ว. 2.การเปิดโอกาสให้บุพการีและคู่สมรสของสมาชิกรัฐสภาและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงสมัคร ส.ว.ได้รวมไปถึงการให้ ส.ว.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่สามารถลงสมัครเลือกตั้ง ส.ว.โดยไม่ต้องลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นการสร้างความได้เปรียบเหนือกว่าคนอื่นที่ไม่มีตำแหน่ง 3.การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความขัดแย้งกันเอง เพราะในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้กำหนดให้ ส.ว.สรรหาพ้นสภาพทันทีที่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขมีผลบังคับใช้ แต่ในมาตราอื่นๆ ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่รัฐสภาไม่ได้แก้ไขได้บัญญัติว่าหากในกรณีที่มี ส.ว.สรรหาพ้นจากตำแหน่งจะต้องให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการสรรหา ส.ว.เข้ามาดำรงตำแหน่งที่ว่างต่อไป จึงทำให้เกิดความสงสัยว่าถ้ารัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขใหม่ออกมาเป็นลักษณะนี้จะให้ยึดถือตามบทบัญญัติไหน 4.ความมิชอบด้วยองค์ประชุมของรัฐสภา เนื่องจากการประชุมรัฐสภาที่มีการพิจารณาร่างแก้ไขในชั้นรับหลักการวาระที่ 1 เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์ที่องค์ประชุมไม่ครบแต่ประธานในที่ประชุมรัฐสภากลับมีคำสั่งให้คณะกรรมาธิการประชุมทันที ทั้งที่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการกำหนดวันแปรญัตติอยู่ ถือได้ว่าการดำเนินการลักษณะนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะในเมื่อการพิจารณาในวาระที่ 1 ยังไม่สมบูรณ์จะดำเนินการในวาระต่อไปไม่ได้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องทำทีละวาระตั้งแต่วาระที่ 1 ถึงวาระที่ 3 ไม่ใช่รวบรัดข้ามขั้นตอนแบบนี้
พ่วงถอดถอน “ขุนค้อน” พ้นเก้าอี้
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ที่สำคัญการแก้ไขครั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า รัฐสภาเร่งดำเนินการด้วยความรวบรัดเพราะมีข้อผิดพลาดให้เห็นหลายประการ โดยเฉพาะการปิดโอกาสไม่ให้สมาชิกรัฐสภาในฐานะผู้เสนอแก้ไขถ้อยคำ และความเห็นในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อภิปรายทั้งที่รัฐธรรมนูญได้คุ้มครองเอาไว้ เพียงเพราะต้องการให้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมีผลบังคับใช้ให้ทันกับการเลือกตั้ง ส.ว.ในเดือน มี.ค.2557 ที่ ส.ว.เลือกตั้งชุดปัจจุบันจะสามารถลงสมัครอีกครั้งได้เท่านั้น เมื่อวิปฝ่ายค้านได้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วก็ขึ้นอยู่กับว่า ศาลจะมีความเห็นออกมาอย่างไร โดยคิดว่าประเด็นที่ฝ่ายค้านดำเนินการทั้งหมดนี้ มีความแตกต่างกับคำร้องของ นายบวร ยสินทร แกนนำกลุ่มราษฎรอาสาปกป้อง 3 สถาบัน ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีความเห็นยกคำร้องไปก่อนหน้านี้ เพราะฝ่ายค้านได้รวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาของรัฐสภาเอาไว้ทั้งหมด เพื่อให้ศาลเห็นว่าการแก้ไขครั้งนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญอย่างไร ส่วนการดำเนินการถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ออกจากตำแหน่ง ทางวิปฝ่ายค้านจะประชุมหารือเพื่อกำหนดประเด็นในสัปดาห์หน้าต่อไป
จวกขุนค้อนใช้อำนาจเกินขอบเขต
นายชวนนท์ อินทรโกมาลสุตย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ภายหลังจากที่สภาฯ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นในวาระ 2 เรียบร้อยแล้ว ทาง ปชป.จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อชี้ให้เห็นว่า การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. …เกี่ยวกับที่มา ส.ว. ไม่ได้ดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากประธานรัฐสภาใช้อำนาจเกินขอบเขตในการตัดสิทธิ์ผู้สงวนคำแปรญัตติ และมีการเพิ่มเติมเนื้อหาจากการพิจารณาวาระที่ 1 โดยให้ครอบครัว ส.ส. สามี ภรรยา บุตร สามารถลงเลือกตั้งสมัครเป็น ส.ว.ได้ ซึ่งคิดว่าน่าจะเข้าข่ายผลประโยชน์ขัดกัน และจะทำให้กระบวนการพิจารณากฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นโมฆะ
“นิคม” มั่นใจวาระ 3 ผ่านฉลุย
นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา เปิดเผยว่า เมื่อการประชุมรัฐสภาได้พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่มาของ ส.ว.เป็นรายมาตราในวาระที่ 2 เสร็จแล้วจะต้องเว้นไว้ 15 วัน เพื่อลงมติในวาระที่ 3 ซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 27 ก.ย. ส่วนที่จะมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์และ ส.ว.บางกลุ่มไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เพิกถอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในระหว่างนี้นั้น ก็ถือเป็นสิทธิ์ที่ทำได้แต่ขึ้นอยู่กับว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร ตนมองว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้เปิดช่องให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้ดุลยพินิจวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญไว้สำหรับการวินิจฉัยว่า มีบทบัญญัติใดของร่าง พ.ร.บ.หรือกฎหมายอื่นที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น ทั้งนี้ หากในระหว่างนี้ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งออกมาให้รัฐสภาต้องระงับการลงมติในวาระ 3 ออกไปก่อนตนเองจะประสานงานกับนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ให้เปิดการประชุมรัฐสภาเพื่อยืนยันสิทธิ์ของรัฐสภาในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป ขณะเดียวกัน ได้ส่งคำร้องของ พล.ต.อ.ยุทธนา ไทยภักดี ส.ว.สรรหา และคณะไปยังคณะรัฐมนตรีแล้วเพื่อขอให้ร่วมประชุมกับวุฒิสภาในการอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 ซึ่งขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะประสานงานมายังวุฒิสภาว่าจะสะดวกในช่วงเวลาไหนเพื่อที่วุฒิสภาจะได้กำหนดวันเปิดประชุมทันที
รัฐโต้มุ่งแก้ รธน.เมินช่วย ปชช.
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแถลงผลงานรัฐบาล มีการเสนอเรื่องเข้าไปยังรัฐสภานานแล้ว เป็นเรื่องที่สภาจะบรรจุวาระ รัฐบาลพร้อมเสมอที่จะเข้าไปแถลงผลงาน แต่ถ้าดูรัฐบาลชุดก่อนๆ หลังจากทำผลงานเสร็จเสนอเข้าไป ก็ใช้เวลาพอสมควรก่อนแถลงไปดูได้เลย ไม่ได้มีความแตกต่างกัน ยืนยันว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เหมือนกฎหมายต่างๆ ที่เสนอเข้าไปบางครั้งก็รอคิวนาน ส่วนที่ฝ่ายค้านมองว่า รัฐบาลเร่งแก้รัฐธรรมนูญมากว่าแก้การศึกษาและปากท้อง ครองชีพนั้นมองว่าทุกอย่างต้องแก้พร้อมๆ กัน ไม่ได้เร่งแก้อะไรเป็นเรื่องสภาพิจารณากันเอง ไม่ใช่รัฐบาลเสนอเข้าไป และการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ใช้เวลา 10 กว่าวันแล้ว คงไม่ใช่การเร่งรัดหลายท่านอาจมองว่าเราเสียเวลามากไปหรือเปล่า ถ้าอภิปรายเนื้อหาตรงๆ คงใช้เวลากระชับกว่านั้นได้
ยันพร้อมแถลงผลงาน 25 ก.ย.นี้
ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแถลงผลงานรัฐบาลต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 25 ก.ย.นี้ ยืนยันว่า รัฐบาลมีความพร้อมเต็มที่ในการชี้แจง และถือเป็นโอกาสที่ดีในการอธิบายกับประชาชนว่ารัฐบาลได้ดำเนินการเรื่องใดแล้วบ้างในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน
เวทีปฏิรูปถกใหญ่ต้น ต.ค.
ส่วนความคืบหน้าเวทีสภาปฏิรูปประเทศ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้มีการเสนอคณะทำงานย่อย คือการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมเข้ามาแล้ว ฝ่ายเลขาฯ รวบรวมและกำลังดูว่าในด้านไหนที่เป็นด้านย่อยลงไปอีก เช่น เศรษฐกิจ หรือสังคม จะมีด้านย่อยหลายด้าน ก็ดูว่ามีผู้รอบรู้มีประสบการณ์เพียงพอหรือยัง เมื่อมีการนัดประชุมคณะทำงานย่อยแล้ว จะมีการเชิญใครเพิ่มเติมหรือไม่ก็จะได้เตรียมชื่อเสนอที่ประชุม ซึ่งน่าจะประชุม 3 ส่วนภายในเดือนนี้ ส่วนการประชุมชุดใหญ่น่าจะเป็นต้นเดือน ต.ค. ส่วนนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะผู้ประสานงานเวทีปฏิรูป กำลังเดินสาย และทราบว่าจะไปพบพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนตนกับนายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รมช.เกษตรฯ จะนัดพบนายบรรหารเกี่ยวกับการนัดประชุมกับ 3 กลุ่มย่อย ส่วนที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ยังมองเวทีปฏิรูปเป็นการเล่นเกมทางการเมืองนั้น รัฐบาลไม่ได้เล่นเกมการเมือง รัฐบาลมองอนาคตประเทศ อยากเชิญชวนทุกฝ่ายทุกกลุ่มมาร่วมหากมาร่วมจะเป็นประโยชน์ที่สุด แต่หากไม่สะดวกใจเข้าร่วมก็ไม่เป็นไร ตนเชื่อว่าบางกลุ่มอาจมีคนไม่สะดวกใจมาร่วม แต่มีคนในกลุ่มนั้นเข้ามาร่วมอยู่
“มาร์ค” ตอกแม้วเหยื่อตัวเอง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเหยื่อทางการเมืองนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเหยื่อของการกระทำของตัวเองมากกว่า เพราะพยายามสร้างปัญหาโดยการรวบอำนาจต่างๆ ไม่ยอมรับการตรวจสอบ แล้วก็สุดท้ายพอมีพฤติกรรมที่ถูกจับได้ ไล่ทัน มีคำพิพากษา ก็เลยกลายเป็นเหยื่อ เป็นคนรับผล รับเคราะห์ แต่ต้องถามว่ามาจากไหน อย่างไรก็ตามในวันที่ 16 ก.ย. เวลา 15.00 น. ที่นายบรรหาร ศิลปอาชา ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา จะมาพบตนที่พรรคประชาธิปัตย์นั้น ตนจะสอบถามนายบรรหารให้ว่าจะขัดข้องหรือไม่หากจะมีสถานีโทรทัศน์ต้องการถ่ายทอดสดการหารือดังกล่าว
“ยิ่งลักษณ์” ร่วมมือธุรกิจในอิตาลี
วันเดียวกันนี้ นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เขียนข้อความผ่านทวิตเตอร์ ผู้ใช้?@teeratr ว่า วันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะอยู่ระหว่างการเยือนสาธารณรัฐอิตาลี กงสุลกิตติมศักดิ์ในอิตาลีจาก 6 เมือง เข้าพบนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อกงสุลในอิตาลีว่า จากการหารือกับนายกรัฐมนตรีอิตาลี อยากเห็นการพัฒนาใน 3 ด้าน คือ อาหาร การออกแบบ และแฟชั่น ซึ่งอยากให้เน้นความร่วมมือระหว่างไทยกับอิตาลี ในเรื่องของอาหาร และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีฝากให้กงสุลในอิตาลี หาทางทำงานร่วมกันในการผลิตสินค้า โดยใช้วัตถุดิบจากไทย ออกแบบโดยอิตาลี เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ขณะที่อุตสาหกรรมการบริการที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ สามารถผสานกับอุตสาหกรรมบริการในอิตาลีได้ ส่วน SMEs อิตาลี ที่อาจจะไม่กล้าไปลงทุนในไทยเพียงลำพัง รัฐบาลจะพยายามจัดทำเป็นโซน เพื่อต้อนรับการรวมกลุ่ม SMEs ที่สนใจไปไทย
อัลเบอร์โต เวอร์จิลลิโอ กงสุลประจำมิลานบอกว่า จะเร่งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนไทยในอิตาลี สร้างความสัมพันธ์การค้าที่ใกล้ชิดระหว่างกัน จะทำให้คนไทยที่อาศัยอยู่ในอิตาลีมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทยและปลอดภัย รวมถึงทำให้คนอิตาลีเข้าใจประเทศและสถานการณ์ในไทย
“สุรพงษ์” ปัดเว้นวีซ่ามอนเตฯ ช่วยแม้ว
ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาวิจารณ์ถึงการลงนามข้อตกลงยกเว้นการตรวจลงตรา หรือวีซ่าว่าด้วยผู้ถือหนังสือเดินทางราชการและการทูตระหว่างไทยกับประเทศมอนเตเนโกร ในระหว่างการเดินทางเยือนประเทศมอนเตเนโกร ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ถือหนังสือเดินทางมอนเตเนโกร เพื่อเดินทางกลับไทยว่า การลงนามข้อตกลงดังกล่าวเป็นไปตามขั้นตอนปกติในการเดินทางเยือนประเทศต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ซึ่งโดยปกติจะดำเนินการใน 2 เรื่อง คือ 1.การยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับหนังสือเดินทางราชการและการทูต และ 2.การยกเลิกภาษีซ้ำซ้อนระหว่างกัน ซึ่งในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใน 2 ปี 8 เดือน ได้มีการเดินทางเยือนทั้งนายอภิสิทธิ์ และนับรวมกับนายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.การต่างประเทศ เดินทางเยือนต่างประเทศ 34 ครั้ง ได้ยกเว้นวีซ่าหนังสือราชการและการทูตให้กับ 3 ประเทศ คือ กัมพูชา สเปน และฝรั่งเศส ส่วนในสมัยรัฐบาลปัจจุบัน รวม 2 ปี 1 เดือน น.ส.ยิ่งลักษณ์ และตน ได้เดินทางเยือนต่างประเทศแล้ว 55 ประเทศ ได้ทำข้อตกลงยกเว้นวีซ่าหนังสือราชการและการทูตให้กับ 5 ประเทศ คือ ศรีลังกา โมซัมบิก ทาจิกิสถาน ปากีสถาน และมอนเตเนโกร
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า สำหรับการยกเว้นวีซ่าดังกล่าวระหว่างไทยและมอนเตเนโกร ที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการช่วยเหลือพ.ต.ท.ทักษิณ ให้เดินทางกลับประเทศไทยนั้น ขอเรียนว่า ขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ถือหนังสือเดินทางไทย ส่วนหนังสือเดินทางมอนเตเนโกรที่มีอยู่ ก็เป็นหนังสือเดินทางแบบธรรมดา ไม่ใช่หนังสือเดินทางราชการหรือทางการทูต การยกเว้นวีซ่าครั้งนี้จึงไม่เกี่ยวกัน อีกทั้งหาก พ.ต.ท.ทักษิณ จะเดินทางกลับประเทศไทย ก็ต้องกลับอย่างมีเกียรติ ภายใต้
กระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมอย่างแท้จริงเท่านั้น การที่มีข่าวเช่นนี้ทำให้คนไทยเข้าใจผิดตลอดเวลา ไม่อยากให้ฝ่ายค้านเล่นการเมืองแบบเดิม จึงขอให้ฝ่ายค้านปรับปรุงพฤติกรรมเสียใหม่ และพยายามใช้คำแนะนำของนายโทนี แบลร์ อดีตผู้นำอังกฤษ ที่เสนอว่าการเมืองของไทยควรเป็นไปอย่างสร้างสรรค์
แจงกลุ่มคนไทยในสวิสประท้วงปู
นายสุรพงษ์ กล่าวถึงกรณีคลิปเหตุการณ์คนไทยในสวิตเซอร์แลนด์มาประท้วงการเดินทางเยือนของนายกรัฐมนตรี ที่กล่าวหาว่าเป็นการไปท่องเที่ยวมากกว่าไปทำงานนั้น ว่า การเดินทางของนายกฯ ไปในแต่ละประเทศ ไม่ได้ไปท่องเที่ยวใดๆ เลย มีแต่ทำงานจนแทบไม่มีเวลาหายใจด้วยซ้ำไป ซึ่งเป็นไปตามที่กระทรวงต่างๆ ได้เตรียมกำหนดการไว้ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ นายเฉลิมพล ทันจิตต์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบิร์น ก็ได้เข้าไปสอบถามกลุ่มคนไทยดังกล่าว จึงทราบว่าได้ทราบข่าวจากสื่อต่างๆ ที่พยายามกล่าวหานายกฯ ว่าเดินทางต่างประเทศเพื่อท่องเที่ยว สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน โดยหลังเอกอัครราชทูตไทยได้ชี้แจงคนไทยดังกล่าวก็แสดงความเข้าใจ และแยกย้ายกันกลับไปโดยดี ทั้งนี้อยากให้คนไทยใช้สิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล อย่าใช้จินตนาการ อย่างไรก็ดีตนอยากให้รอการชี้แจงแถลงผลการดำเนินงานของรัฐบาลในรอบปีที่ผ่านมาต่อรัฐสภา ที่คาดว่าจะมีขึ้นในปลายเดือนกันยายนนี้ ก็จะทราบว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้ทำอะไรไปมากเมื่อเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้กำลังจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเตรียมเผยแพร่
“ผมพร้อมจะชี้แจงค่าใช้จ่ายในการเดินทางเยือนต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีในแต่ละครั้งอย่างละเอียด ก็เพื่อยืนยันว่า การนำภาคธุรกิจของไทยไปต่างประเทศ ก็มุ่งแสวงหาโอกาสให้กับนักลงทุนไทย ที่ไม่ใช่แค่เดินทางไปประชุมทั่วไป เช่น ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ประชุมเอเปก อาเซียน เหมือนที่ฝ่ายค้านที่บริหารประเทศ อยู่ในวังวนเดิมๆ ไม่มีอะไรสร้างสรรค์ และไม่ใช่ความภาคภูมิใจของรัฐบาลชุดนี้ แต่เราจะต้องเข้าไปลุกตลาดใหม่” นายสุรพงษ์ กล่าว
นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า สมเด็จพระสันตะปาปามีแผนเดินทางเยือนประเทศในแถบเอเชียในปี 2557 ซึ่งในโอกาสที่ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาครั้งที่ผ่านมา จึงได้กราบทูลฯ เชิญให้เสด็จเยือนประเทศไทยด้วย ซึ่งท่านก็ตอบตกลงโดยจะประสานรายละเอียดการเยือนต่อไป
วันที่ 14/09/2556 เวลา 10:01 น.