สภาผู้ส่งออกร้องรัฐลดต้นทุนขนส่ง
นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวในการสัมมนาเปิดโครงการ “การพัฒนามาตรฐานด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทย เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ว่า สภาผู้ส่งออกเห็นด้วยกับโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีเป้าหมายช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศลง 2% จากที่ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า มีต้นทุนสูงถึง 14.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หากคิดเป็น 100% จะแบ่งเป็นต้นทุนโลจิสติกส์ ด้านสินค้าคงคลัง 44% ด้านขนส่ง 47% และด้านบริหารจัดการ 9%
สำหรับเป้าหมายการส่งออกของสภาผู้ส่งออกปีนี้ ยังคงการเติบโตไว้ที่ 3% ซึ่งในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ การส่งออกของไทยขยายตัวเพียงร้อยละ 0.6 เท่านั้น หรือส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 18,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากจะทำให้ได้ตามเป้าหมายในช่วง 5 เดือนที่เหลือปีนี้จะต้องทำยอดส่งออกให้ได้เดือนละ 21,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ยากเพราะในประวัติการส่งออก 5 ปีที่ผ่านมา ยังไม่เคยทำได้มาก่อน ดังนั้น หากจะทำตัวเลขส่งออกต่อเดือนในช่วงที่เหลือ 5 เดือนปีนี้ ให้ลดลงมาเหลือเฉลี่ยเดือนละ 20,000 ล้านบาท จะได้ตัวเลขส่งออกปีนี้เติบโตทั้งปีที่ 1.37% และหากทำได้ลดลงเหลือเดือนละ 19,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปีนี้จะเติบโตเพียง 0.93% เท่านั้น สภาผู้ส่งออกจะพิจารณาตัวเลขส่งออกในช่วงเดือนสิงหาคม และกันยายน และอาจปรับประมาณการส่งออกทั้งปีใหม่
นางอนงค์ ไพจิตร ผู้อำนวยการสำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (ก.พ.ร.) กล่าวว่า ตามแผนแม่บทการพัฒนาโลจิสติกส์ภาคอุตสาหกรรม ปี 2555-2559 ภาคอุตสาหกรรมจะต้องลดต้นทุนลงให้ได้ 1% ของจีดีพี หรือคิดเป็นต้นทุนที่ลดให้ได้ในช่วง 5 ปีเท่ากับ 100,000 ล้านบาท หรือปีละ 20,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2555 ที่ผ่านมา ก.พ.ร.ดำเนินโครงการเพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ลงได้เท่ากับ 2,500 ล้านบาท และปีนี้คาดว่าจะลดได้ 3,000 ล้านบาท เพราะงบประมาณได้รับจำกัดเพียง 110 และ 130 ล้านบาท ตามลำดับเท่านั้น หากจะลดลงให้ได้ปีละ 20,000 ล้านบาท จำเป็นต้องมีงบประมาณดำเนินการในแต่ละปีปีงบประมาณละ 800-1,000 ล้านบาท
วันที่ 13/09/2556 เวลา 22:15 น.