มาเลเซีย (7-12 ก.ย. 56)

มาเลเซียทุ่มเงิน 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ปฏิรูประบบรถไฟฟ้า

รัฐบาลมาเลเซียเตรียมจัดสรรงบประมาณกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.6 ล้านล้านบาท) เพื่อปฏิรูประบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงทั่วประเทศ ที่รวมไปถึงการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมมาเลเซีย-สิงคโปร์ ซึ่งวางแผนว่างจะสร้างเสร็จในอีก 7 ปีข้างหน้า หรือในปี 2020

นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้ยืนยันถึงแผนการอนุมัติงบประมาณดังกล่าวในที่ประชุมการรถไฟโลก (Global rail conference) พร้อมทั้งชี้ว่า อุตสาหกรรมรถไฟของมาเลเซียจะฟื้นตัวและได้รับความนิยมจากประชาชนในอนาคตอันใกล้นี้

ทั้งนี้ ระบบการขนส่งมวลชนของมาเลเซียในปัจจุบันยังคงพึ่งพาเส้นทางการเดินทางบนท้องถนนอยู่มาก ขณะที่เส้นทางรถไฟฟ้าคิดเป็นอัตราส่วนเพียงร้อยละ 4 ของระบบขนส่งมวลชนทั้งหมดเท่านั้น แผนงานดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยการปรับปรุง รถไฟเอ็มอาร์ที (MRT) และขยายรถไฟเป็นรางคู่ ระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร จึงน่าจะตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ในภาวะที่การจราจรติดขัดและต้นทุนน้ำมันกำลังแพงขึ้นเรื่อย ๆ ได้เป็นอย่างดี

แหล่งที่มา: channelnewsasia.com

รัฐบาลมาเลเซียประกาศมาตรการช่วยเหลือคนภูมิบุตร

รัฐบาลมาเลเซียของนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรี เตรียมประกาศมาตรการให้ความช่วยเหลือพิเศษแก่ชาวภูมิบุตร หรือชาวมาเลเซียเชื้อสายมาเลย์ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ  ซึ่งครอบคลุมเรื่องสัดส่วนการถือหุ้น การทำธุรกิจ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สังคม และเศรษฐกิจ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งสถาบันของรัฐที่ทำหน้าที่ส่งเสริมบทบาททางเศรษฐกิจของคนเชื้อสายมาเลย์

อย่างไรก็ดี นโยบายดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายที่เห็นว่า นายนาจิบได้กลับคำพูดจาที่เคยให้สัญญาไว้ก่อนการเลือกตั้งว่า จะลดสิทธิประโยชน์เฉพาะกลุ่มเชื้อชาติลง โดยนายซาอิด อิบรอฮีม (Zaid Ibrahim) อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ได้วิพากษ์วิจารณ์แนวนโยบายดังกล่าวว่า รัฐบาลไม่ควรให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษแก่คนเชื้อสายมาเลย์อีกแล้ว เพราะพวกเขาเคยทำไปแล้วในอดีต และตอนนี้ก็ถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องทำเพื่อชาวมาเลเซียทั้งหมด

ทั้งนี้ มาเลเซียเคยใช้นโยบายให้สิทธิประโยชน์แก่เชื้อสายมาเลย์ที่เรียกว่า The New Economic Policy (NEP) มาตั้งแต่ปี 1971 โดยเป้าหมายหลักเพื่อให้สิทธิประโยชน์แก่ชาวมาเลเซียเชื้อสายมาเลย์ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ทว่ากลับยากจนและมักอาศัยอยู่ตามชนบท ภายใต้นโยบายนี้ชาวมาเลย์จะได้โควตาการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย การรับราชการ การรับรองสิทธิขั้นต่ำในการเป็นเจ้าของธุรกิจ ซึ่งช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างชาติพันธุ์ในมาเลเซียได้จริง ทว่าก็มีเสียงวิจารณ์ว่านโยบายดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติ ส่งเสริมประโยชน์ของคนรวยเชื้อสายมาเลย์มากกว่าคนจน และนำไปสู่ความขัดแย้งเชิงโครงสร้างทางสังคมมาเลเซียในเวลาต่อมา

แหล่งที่มา: nst.com.my และ themalaymailonline.com

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ aseanwatch.org ดูทั้งหมด

309

views
Credit : aseanwatch.org


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน