กระทรวงเกษตรฯ เร่งแก้ปัญหายางราคาตก

ปรับโครงสร้างการผลิต แปรรูปยางเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออก

ยางพารา เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน โดยประเทศไทยถือว่าเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก จากสถานการณ์ที่ผ่านมาจนถึง ณ ปัจจุบัน ถือว่าไทยยังคงเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของยางพารา แต่ปัญหาที่สำคัญที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้เบ็ดเสร็จและเด็ดขาดได้คือ “ปัญหาราคายางตกต่ำ” ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลจะพยายามเข้ามาพยุงราคา หรือแม้แต่รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณเป็นจำนวนหลายหมื่นล้านบาท เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางพารามา 2 ระลอกแล้วก็ตาม แต่ราคายางก็ยังไม่กระเตื้องขึ้น และเป็นปัญหาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายกำลังระดมสมองกันเพื่อแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรอยู่ในขณะนี้

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัญหาราคายางในขณะนี้ขึ้นอยู่กับราคาตลาดยางโลก ประกอบกับเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยขณะนี้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และรัฐบาลได้วางแผนปรับโครงสร้างการผลิตยางพาราของเกษตรกรให้ชัดเจน และจากผลการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง โดยมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เสนอ เพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรในระยะเร่งด่วน ได้แก่

มาตรการที่ 1 อนุมัติงบประมาณเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยาง ที่มีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่ โดยจ่ายเป็นเงินสดเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ไร่ละ 1,260 บาท ให้เกษตรกรที่ทำการเปิดกรีดยางแล้ว จำนวน 9.8 แสนราย หรือ 80% ของผู้ปลูกยางทั้งประเทศ

มาตรการที่ 2 สนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์ นำยางจากเกษตรกร มาแปรรูปเพื่อช่วยเพิ่มมูลค่า โดยให้วงเงินกู้ 5,000 ล้านบาท จากสถาบันการเงินของรัฐ โดยรัฐบาลจะชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้

มาตรการที่ 3 สนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาง ทั้งยางล้อรถ ถุงมือยาง หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ให้ใช้วัสดุจากในประเทศ โดยมีการขยายโรงงานหรือปรับปรุงเครื่องจักร ให้วงเงินกู้ 15,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนดอกเบี้ย และให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน มาช่วยสนับสนุนในเรื่องนี้ด้วย

“กระทรวงเกษตรฯ ได้ให้สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง หรือ สกย.แจ้งให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิก ที่มียางอายุเกินกว่า 25 ปีขึ้นไป ซึ่งให้ผลผลิตต่ำ โค่นยางและทำการปลูกยางตามระเบียบของกองทุน สกย.ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 1 ล้านไร่ โดยให้ดำเนินการทันที ส่วนเรื่องราคายางนั้นให้เป็นไปตามกลไกตลาด ไม่ควรที่จะเข้าไปแทรกแซงราคา ซึ่งจะบิดเบือนตลาดและทำให้ราคายางไม่มีเสถียรภาพในระยะยาว และยังยืนยันที่จะใช้มาตรการตามที่ กยน.อนุมัติไว้ก่อน ซึ่งการช่วยเหลือในเรื่องของปัจจัยการผลิต จะโอนเงินสดเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง โดยไม่ผ่านตัวกลาง ซึ่งเป็นผู้รวบรวมยาง ก็น่าจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางในขณะนี้ได้” นายยุคล กล่าว

นายยุคล กล่าวต่ออีกว่า ในการประชุมคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการเก็บเงินเซสเป็นระยะเวลา 4 เดือน ซึ่งการยกเลิกการเก็บเงินเซส เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ 2 กันยายน 2556-สิ้นเดือนธันวาคม 2556 นี้ ซึ่งการงดเก็บค่าเงินเซสนี้ จะทำให้ตัวเกษตรกรได้รับเงินคืน จากผู้ประกอบการส่งออกยางกิโลกรัมละ 3 บาท ที่ได้หักเก็บไว้ทันที ซึ่งจะทำให้ตัวผู้ประกอบการสามารถตั้งราคาแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยไม่ต้องคำนึงการเก็บค่าเงินเซส ส่วนเรื่องการใช้ยางในสต๊อก 2 แสนตัน เพื่อการบริโภคภายในประเทศนั้น ขณะนี้ก็มีความชัดเจนแล้วว่าจะนำไปใช้ด้านการคมนาคมและซ่อมแซมถนน และขณะนี้เพื่อให้เกษตรกรได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดตั้งคณะกรรมการระดับตำบล เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบพื้นที่การปลูกสวนยางของเกษตรกร ตามบัญชีที่เกษตรกรได้ยื่นความจำนงเข้ารวมโครงการกับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยเกษตรอำเภอจะออกใบรับรองเกษตรกร เพื่อให้ไปรับเงินจาก ธกส.ต่อไป

สำหรับข้อเรียกร้องของเกษตรกรที่ให้ช่วยเหลือปัจจัยการผลิตจาก 10 ไร่เป็น 25 ไร่ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์นั้น จะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ หรือ กนย.และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เพื่อให้พิจารณาอย่างเร่งด่วนต่อไป

จรัส พิบูลย์ปุญญโชติ/ธนวันต์ บุตรแขก : เรื่อง-ภาพ

 

 

วันที่ 7/09/2556 เวลา 23:33 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

189

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน