เอ็น.ซี.ซี.ฯ ฉลอง 5 ปี แห่งความสำเร็จ
“เอ็น.ซี.ซี.ฯ ฉลอง 5 ปี แห่งความสำเร็จของศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี หาดใหญ่” คณะผู้บริหารศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี นำคณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมและเสวนาในประเด็นหาดใหญ่เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคใต้และ ICCH : One of Thailand’s MICE Destination ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี โชว์ความสำเร็จ 5 ปี ของการบริหาร พร้อมรองรับงานทุกรูปแบบอย่างครบวงจรของธุรกิจไมซ์ ตอกย้ำความเป็น MICE Destination ของภาคใต้
รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยผู้สร้างศูนย์การประชุมนานาชาติฯ หาดใหญ่แห่งนี้ขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน เปิดเผยว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นของศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี แห่งนี้ เดิมทีทางมหาวิทยาลัยฯ มีแนวคิดที่จะสร้างศูนย์ประชุมขนาดใหญ่มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 แต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นเสียก่อน ทางมหาวิทยาลัยจึงได้ชะลอโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมไว้ก่อน ต่อมา มีการจัดสร้างศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของจังหวัดและได้รับอนุมัติงบประมาณในปี 2551
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จึงได้สร้างศูนย์ประชุมฯ แห่งนี้ให้เป็นศูนย์ประชุมชั้นนำที่มีขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุดในภาคใต้ เนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยออกแบบศูนย์ประชุมฯ ให้เป็นแนวราบเพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายอย่างสะดวก จัดกิจกรรมได้อย่างหลากหลาย ตัวอาคารมีความยืดหยุ่น เวทีออกแบบตามกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อสามารถจัดงานได้กับทุกกิจกรรม รองรับคนได้ตั้งแต่ 1,000-4,000 คนต่องาน
ทั้งนี้ มองความต้องการให้ศูนย์ประชุมฯ แห่งนี้ เป็นสถานที่สร้างความรู้และเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ให้ประชาชน เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ และยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนชาวใต้ ตลอดจนจะช่วยพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและความเป็นอยู่ เป็นการกระจายรายได้ไปสู่จังหวัดและภูมิภาคอย่างเป็นระบบ ด้วยการสร้างความเติบโตให้แก่ภาคธุรกิจอื่นๆ ที่ต่อเนื่อง อาทิ โรงแรม การขนส่ง แหล่งช็อปปิ้ง สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร
สำหรับในอนาคตมองว่าศูนย์ประชุมฯ แห่งนี้จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาคใต้ในรูปแบบอุตสาหกรรมไมซ์ ซึ่งไม่ใช่การจัดเลี้ยงสังสรรค์เหมือนในโรงแรมทั่วไป แต่ศูนย์ประชุมฯ แห่งนี้จะเน้นจัดกิจกรรมด้านวิชาการและการแสดงสินค้า โดยมีแผนที่จะปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสมกับกิจกรรมมากขึ้น ปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม สร้างสถานที่จอดรถเพิ่มและจัดระบบการจราจรให้เชื่อมโยงกับบริเวณรอบๆ มอ. เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดในช่วงที่มีการจัดงานใหญ่ รวมทั้งซ่อมแซมและปรับปรุงในส่วนที่ยังเป็นจุดบกพร่อง เช่น ระบบเสียง เป็นต้น
ทั้งนี้ ในการบริหารศูนย์ประชุมฯ แห่งนี้ มอ.ได้มอบหมายให้ บริษัท เอ็น.ซี.ซี.แมนเนจเม้นท์แอนด์ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ทีมผู้บริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เป็นผู้บริหารศูนย์ประชุมฯ แห่งนี้ เนื่องจากประสบการณ์และความสำเร็จจากการบริหารศูนย์ฯ สิริกิติ์ ตลอดจนความเชี่ยวชาญในการบริหารศูนย์อื่นๆ ทั้งในระดับภูมิภาค และต่างประเทศที่ผ่านมา ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับ มอ. เป็นอย่างมา กว่าบริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ จะสามารถสร้างความเติบโตให้กับศูนย์ประชุมฯ แห่งนี้ได้
นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างเครือข่ายในการส่งต่อกิจกรรมที่จัดขึ้นที่ศูนย์สิริกิติ์มาที่หาดใหญ่ เพื่อให้ชาวใต้ได้มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์การจัดงานที่ยิ่งใหญ่ระดับชาติมากขึ้น ซึ่งการบริหารร่วมกันระหว่าง มอ.และบริษัท เอ็น.ซี.ซี.ประสบความสำเร็จดีเกินคาด จากตอนแรกที่คาดว่าต้องใช้เวลาถึง 10 ปี จะถึงจุดคุ้มทุน แต่ตอนนี้ผ่านมา 5 ปี ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจมาก
ที่ผ่านมาศูนย์ประชุมฯ สามารถรองรับการจัดงานหลายรูปแบบทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ทั้งยังมีผู้สนใจจัดกิจกรรมที่นี่มากขึ้นเป็นลำดับ โดยศูนย์ประชุมแห่งนี้มีพื้นที่ใช้สอยขนาด 15,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้เข้าร่วมประชุมได้มากถึง 4,000 คน ซึ่งพื้นที่ของศูนย์ประชุมประกอบด้วย Convention Hall ขนาด 3,000 ตารางเมตร Conference Hall ขนาด 960 ตารางเมตร ห้องสัมมนาขนาดเล็ก จำนวน 8 ห้อง ลานกิจกรรมกลางแจ้งขนาด 3,100 ตารางเมตร พร้อมระบบภาพและเสียงที่ทันสมัย
ในปีนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีการเปิดสอนสาขาวิชาการจัดการประชุม นิทรรศการและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล ซึ่งเป็นหลักสูตรของคณะวิทยาการจัดการ เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจศูนย์ประชุม และผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการทำงานด้านธุรกิจศูนย์ประชุม ทั้งนี้จากการจัดงานต่างๆ ในระบบของธุรกิจไมซ์ ได้ทำให้เกิดการกระจายรายได้และการสร้างงานในหลากหลายภาคส่วน
ด้วยความพร้อมที่สามารถตอบโจทย์การจัดงานทุกรูปแบบ อีกทั้งยังตั้งอยู่ในเมืองหาดใหญ่ ซึ่งเป็นเมืองที่มีกำลังซื้อสูง มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นศูนย์กลางการคมนาคม การท่องเที่ยว ที่ตอบสนองทุกความต้องการของธุรกิจไมซ์ได้เป็นอย่างดี ศูนย์ประชุมฯ แห่งนี้จะช่วยสร้างความเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจของภาคใต้ได้อย่างแน่นอน
นายศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี.แมนเนจเม้นท์แอนด์ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ในฐานะผู้บริหารศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี กล่าวว่า ในนามผู้บริหารของบริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ รู้สึกภูมิใจและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติให้เป็นผู้บริหารศูนย์ประชุมแห่งนี้ ซึ่งเป็นศูนย์ประชุมที่มีความงดงามทางสถาปัตยกรรมและประติมากรรม นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์ประชุมที่จัดสรรพื้นที่ได้อย่างลงตัวเพื่อการจัดงานหลากหลายประเภท
โดยมีจำนวนงานตั้งแต่เปิดดำเนินการตั้งแต่ปีแรก จนถึงปัจจุบันเพิ่มขึ้นกว่า 400% และมีตัวเลขของผลประกอบการในธุรกิจเพิ่มขึ้นทุกปีเฉลี่ย 150-200% ในแต่ละปี โดยสามารถแบ่งสัดส่วนของจำนวนการจัดงานแต่ละประเภท ตั้งแต่ศูนย์เปิดดำเนินการจนถึงปัจจุบัน ออกเป็นการจัดประชุม สัมมนา 56% การจัดนิทรรศการ แสดงสินค้า 17% งานเลี้ยง งานแต่งงาน 10% คอนเสิร์ต งานแสดง 8% และอื่นๆ 8% โดยงานที่จัดขึ้นเป็นงานระดับภูมิภาคและระดับประเทศราว 88% และเป็นงานระดับนานาชาติ 12%
การบริหารศูนย์ประชุมแห่งนี้ บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ได้ใช้หลากหลายกลยุทธ์การตลาดผสมผสานกัน เพื่อให้เกิดการจัดงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ศูนย์แห่งนี้มีบริการที่ตอบสนองผู้จัดงานอย่างครบวงจร การใช้ความสัมพันธ์ที่ดี ในการเชิญร่วมงานและผู้จัดงานที่ประสบความสำเร็จ มาจัดงานที่ศูนย์ประชุมแห่งนี้ เพื่อเป็นการขยายโอกาสธุรกิจ ณ ที่ๆ มีตลาดและกำลังซื้อที่ดี อย่างเช่น งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่เป็นงานหนึ่งที่จัดขึ้นที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์อย่างต่อเนื่องและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในทุกๆ ปี
ในปีนี้ก็ได้ให้เกียรติมาจัดที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฯ หาดใหญ่เป็นปีแรก ในชื่องานสัปดาห์หนังสือภาคใต้ ครั้งที่ 1 ซึ่งก็มีผู้สนใจเข้าร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก หรืองานไทยเที่ยวไทยของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่เป็นอีกงานที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี ปีนี้ก็ได้มาจัดที่ศูนย์ประชุมแห่งนี้ ในชื่องาน เทศกาลเที่ยวไทย 5 ภาค เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รวมถึงการให้ความสำคัญในการจัดฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างทีมงานที่มีความเป็นมืออาชีพ ตลอดจนการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ตอบแทนให้สังคม อาทิ การเป็นศูนย์รับบริจาคสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย การมอบตู้ยาและสื่อการเรียนการสอนแก่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตลอดจนการสนับสนุนพื้นที่สำหรับการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ
ปัจจุบันไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 3 ของเอเชียในการจัดงานตามแบบอุตสาหกรรมไมซ์ รองจากสิงคโปร์และฮ่องกง ซึ่งธุรกิจไมซ์เปรียบเสมือนการเจรจาการจัดงานต่างๆ เพื่อให้เกิดการซื้อขายและช่วยประชาสัมพันธ์ให้นักธุรกิจได้รู้จักความเป็นชาวใต้มากขึ้น โดยก่อนที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติฯ ขึ้น ทางเอ็น.ซี.ซี.ฯ ได้มีการปรึกษาหารือกับผู้บริหาร มอ.เพื่อนำ Keys Success Factors มาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบก่อสร้าง เพื่อสร้างให้หาดใหญ่กลายเป็น Destination ของภาคใต้ตอนล่าง เพื่อให้เกิดการค้าขายแบบ Business to Business ที่จะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับภาคใต้ได้เป็นอย่างดี
ในช่วงปีแรกๆ ที่มีการเปิดศูนย์ประชุมฯ แห่งนี้ ผู้คนเข้าใจว่าศูนย์ประชุมเป็นเพียงแค่โครงสร้างพื้นฐานที่แต่ละมหาวิทยาลัยต้องมีเป็นของตัวเอง ยังไม่รู้จักว่าธุรกิจไมซ์คืออะไร แต่เมื่อเวลาผ่านมากว่า 5 ปีแล้ว ศูนย์ประชุมฯ แห่งนี้ได้สร้างความแตกต่างในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในละแวกนี้ให้เติบโตได้ประมาณ 30-60% และกลายเป็นสถานที่จุดหมายที่ถูกเลือกให้จัดงานสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งในตอนแรกที่มีการเปิดศูนย์ประชุมทุกคนยังไม่รู้จักว่าธุรกิจของการทำศูนย์ประชุมคืออะไร จัดในโรงแรมก็ได้
แต่ในวันนี้ทุกคนรู้แล้วว่าการจัดงานในศูนย์ประชุมกับการจัดงานในโรงแรมมีความแตกต่างกัน สิ่งที่บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ เอามาจากกรุงเทพฯ อย่างเช่นงานนิทรรศการมันนี่เอกซโป หรืองานแสดงสินค้าเทคโนโลยีต่างๆ เขาไม่รู้ว่าจัดมาเพื่ออะไร ใครได้ประโยชน์ แต่เมื่อมาถึงจุดนี้คนที่มาลงทุนในด้านตลาดทุน ตลาดหุ้น และตลาดซื้อขายสินค้า มาเจอผู้ประกอบการตัวจริงที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นจริงๆ ก็เริ่มรู้ว่างานนิทรรศการต่างๆ ดีอย่างไร เริ่มมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาสู่พื้นที่โดยตรง ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องเดินทางไปกรุงเทพฯ การซื้อขายจับจ่ายใช้สอยต่างๆ ก็เกิดจากงานที่จัดที่ศูนย์ประชุมฯ แห่งนี้
ผู้ประกอบการเริ่มรู้ว่าการทำนิทรรศการเป็นมาร์เก็ตติ้งแชนแนลอย่างหนึ่ง ที่จะพัฒนาศักยภาพของธุรกิจให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น ต้องร่วมออกงานนิทรรศการเพื่อเพิ่มช่องทางในการพบปะเจรจากับลูกค้ารวมถึงพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น การจัดงานสัปดาห์หนังสือก็สามารถเปิดช่องทางให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการกระตุ้นยอดขายจากการจัดโปรโมชั่นในงานนี้ให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งยังเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ลูกค้าหันมาจับจ่ายซื้อหนังสือเพิ่มมากขึ้น
สำหรับความถี่ในการจัดงานที่ศูนย์ประชุม ในปีแรกที่เปิดศูนย์ประชุมฯ บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ตั้งเป้าหมายร่วมกับอธิการบดี มอ.ไว้ที่ 30% แต่ในความเป็นจริงทำได้แค่ 20% แต่หลังจากนั้นช่วงปีที่ 3 จนถึงขณะนี้ ทำได้ถึง 60% แล้ว ซึ่งขณะนี้สามารถขายได้ 40 สัปดาห์แล้ว ถ้ามีงานแทบทุกอาทิตย์ได้ก็จะยิ่งดี ก็จะทำให้ศูนย์ประชุมของที่นี่เป็นศูนย์กลางของภาคใต้ได้
ซึ่งรายได้หลักๆ ของศูนย์ประชุมฯ อยู่ที่การจัดงานนิทรรศการประมาณ 60% ส่วนการจัดงานสัมมนาอื่นๆ ประมาณ 40% ซึ่ง 8 เดือนที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้เกือบ 500 ล้านบาท สิ้นปีตั้งเป้ารายได้ 500 ล้านบาท/ปี โดยจุดแข็งของศูนย์ประชุมแห่งนี้คือ 1.มีโครงสร้างที่เหมาะสม สร้างตามหลักของศูนย์ประชุม 2.โลเคชั่น 3.มีมืออาชีพในการเข้ามาบริหารจัดการ ที่ศูนย์สิริกิติ์มีอะไรที่นี่ก็มีเช่นกัน
ในปีนี้เตรียมเสนอแผนปรับปรุงซ่อมแซมพื้นที่และอุปกรณ์ต่างๆ เช่น การเปลี่ยนพรมใหม่แทนผืนเดิมที่ใช้มากว่า 5 ปี แล้วโดยใช้งบประมาณกว่า 3 ล้านบาท และปรับปรุงห้องนิทรรศการต่างๆ เพื่อที่จะรองรับงานที่ขยายตัวมากขึ้น ใช้งบประมาณอีกกว่า 3.5 ล้านบาท สำหรับการปรับปรุงระบบเสียงระบบแสงต่างๆ
ด้านนายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมฯ มีภารกิจที่จะนำสังคมไทยไปสู่ความเจริญด้วยหนังสือ เพราะหนังสือถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่ง ซึ่งสังเกตได้จากการที่เศรษฐกิจตกต่ำธุรกิจหนังสือไม่ได้ตกต่ำไปด้วย คนยังให้ความสนใจการอ่านหนังสือเพื่อผ่อนคลายความเครียดหรือความทุกข์ใจ จากการจัดงานใน 3 วันที่ผ่านมาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเกินคาด
เนื่องจากทางจังหวัดเองก็ให้การสนับสนุน โดยกลุ่มธุรกิจขายหนังสือในท้องถิ่นและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มั่นใจการจัดงานในครั้งต่อไปจะได้รับการสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น เหตุผลหลักของการเลือกจัดงานสัปดาห์หนังสือที่ศูนย์ประชุมฯ แห่งนี้ เนื่องด้วยความพร้อมของสถานที่ทั้งการรองรับผู้คนและความสะดวกในการเดินทาง นอกจากนี้ทางสมาคมฯ และบริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ เคยเป็นพันธมิตรกันมาก่อน ประกอบกับทางสมาคมฯ ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจัดงานจาก TCEP (สสปน.) การจัดงานในศูนย์ประชุมนานาชาติฯ จะช่วยยกระดับหนังสือให้ดูดีขึ้น ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้มีประมาณ 250 กว่าบูธ 120 สำนักพิมพ์ และมีบูธของท้องถิ่นชื่อว่า ชมรมร้านหนังสือภาคใต้อีก 1 บูธใหญ่ ซึ่งช่วยให้พวกเขามีรายได้จากการจัดงานในครั้งนี้ด้วย
เนื่องจากการจัดงานสัปดาห์หนังสือย่อมส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ประกอบการร้านหนังสือที่นี่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับยอดผู้มาเข้าชมตลอดงานคาดว่าน่าจะประมาณ 50,000 คนขึ้นไป เม็ดเงินสะพัดกว่า 50-70 ล้านบาท เฉลี่ย 300-500 บาทต่อใบเสร็จ ขณะที่ตลาดหนังสือในปัจจุบันซบเซาลงประมาณ 10% ตามสภาพเศรษฐกิจของประเทศเนื่องจากกำลังซื้อของคนก็น้อยลงไปด้วย เนื่องจากหนังสือไม่ใช่สิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต คนจะคิดถึงหนังสือเป็นที่พึ่งทางใจสุดท้าย
สำหรับประเด็นเรื่องหนังสือราคาแพง ต้องยอมรับว่ามีคนพูดถึงหลายครั้ง แต่ถ้าเทียบหนังสือของไทยกับหนังสือของฝรั่งของไทยถูกกว่ามาก ในแง่ราคาหนังสือแพงบางครั้งมันคือการอุปทานของผู้ซื้อเอง หนังสือบางเล่มไม่ได้แพงเลยถ้าเทียบกับสิ่งที่เราได้จากหนังสือเล่มนั้น ถ้าเล่มไหนที่เราชอบเราก็ซื้อ ถ้าเล่มไหนแพงก็รอซื้อช่วงเซล
ฉะนั้นเรื่องหนังสือแพงจึงเป็นเรื่องอุปทานที่ทุกคนพยายามจะพูดถึง ถ้าจะให้หนังสือถูกลงก็กระตุ้นให้คนอ่านหนังสือมากขึ้น และระบบการตลาดเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังสือราคาสูง ซึ่งเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ แต่ทำนองเดียวกันถ้าไปซื้ออีบุ๊ค อีบุ๊คก็ไม่ใช่ว่าถูก ราคาพอๆ กับเป็นเล่ม สู้ซื้อเป็นเล่มดีกว่า
สำหรับความคาดหวังของการจัดงานในครั้งนี้จะช่วยสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับคนในท้องถิ่น โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนซึ่งมีจำนวนมากที่สุดเพราะเป็นอนาคตของคนรุ่นใหม่ เราหวังไว้กับคนรุ่นหน้าแต่เหนือสิ่งอื่นใดเราต้องการให้หนังสือสร้างความเข้าใจอันดีให้แก่ชาติ ลดความขัดแย้งของคนในชาติ
ขณะที่นายภาณุ วรมิตร ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจังหวัดสงขลา กล่าวว่า หาดใหญ่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลักของภาคใต้ตอนล่างที่มีความเจริญมาก มีนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เกาหลี และจีนเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก โดยในสิ้นปีนี้จะมีสายการบินบางกอกแอร์เวย์สจะเปิดเส้นทางการบินกรุงเทพฯ -สงขลาขึ้น เพื่อเชื่อมโยงให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเที่ยวที่หาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น
สำหรับธุรกิจไมซ์ในการจัดประชุมสัมมนาที่ศูนย์ประชุมฯ ช่วยเพิ่มช่องทางให้นักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจได้ทำความรู้จักกับหาดใหญ่และสงขลาเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นสมควรที่จะผลักดันให้มีการพัฒนาด้านการเรียนภาษาเพิ่มมากขึ้น เพื่อชิงการเป็นศูนย์กลางการบินและการท่องเที่ยวของภาคใต้และประเทศใกล้เคียงเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยในปีนี้ ททท.สงขลาเตรียมเนรมิตกิจกรรมใหญ่ในช่วงเทศกาลกินเจที่จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม
คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 3,000 คน ประมาณ 20-30% จากช่วงเวลาปกติ รายได้เฉลี่ยต่อหัวสำหรับการใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 25-30% จากปีที่แล้ว และสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมต่อเนื่องทุกเดือนเพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาพักผ่อนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการจัดกิจกรรมต่างๆ ถือเป็นจุดขายสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวในหาดใหญ่และสงขลา นอกจากนี้แหล่งช็อปปิ้งก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาช็อปปิ้ง
นอกจากนี้ยังมีสถานบันเทิงที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียได้เป็นอย่างมาก พร้อมกันนี้เตรียมขยายพื้นที่สนามบินและปรับปรุงการให้บริการเพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาร์เตอร์ไฟลท์ให้สามารถบินต่อไปประเทศในอาเซียนได้ ทั้งยังเจรจาให้มีสายการบินอื่นๆ บินมาลงที่หาดใหญ่และสงขลาเพิ่มขึ้นเพื่อให้เป็นสนามบินนานาชาติอย่างแท้จริง รวมถึงพัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลให้มีความสวยงาม ส่วนแหล่งช็อปปิ้งและสถานบันเทิงก็มีมาตรการดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวอย่างเข้มงวด ในส่วนของการจัดประชุมแบบไมซ์มั่นใจว่าหาดใหญ่มีศักยภาพพร้อมรองรับการประชุมทุกรูปแบบ สามารถเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภาคใต้ได้อย่างแน่นอน
บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี แห่งนี้ เชื่อมั่นว่าก้าวต่อไปของศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี แห่งนี้ จะเป็นก้าวที่มั่นคง สร้างความเติบโตให้กับภาคเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งของ MICE Destination ที่ทำให้ประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์ในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างแท้จริง
วันที่ 7/09/2556 เวลา 22:17 น.