มจธ.ผลิตคนสร้างมีเดียทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ รายแรกของไทย

 

มจธ. มหาวิทยาลัยรายแรกของไทยคลอด “หลักสูตรมีเดียทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์” ในรูปแบบใหม่พร้อมเตรียมเปิดคณะด้านครีเอทีฟมีเดีย ในปี 2557 หวังสร้างคนผลิตสื่อสร้างสรรค์ เข้าใจง่าย ชวนคิด ตอบโจทย์ตลาดงานมีเดียอย่างเหนือชั้นด้วยความคิดสร้างสรรค์ ตั้งเป้า 5 ปีเป็นผู้นำด้านมีเดีย และเป็นที่รู้จักในอาเซียน

ผศ.บุญเลี้ยง แก้วนาพันธ์ ประธานหลักสูตรมีเดียอาตส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่าตลาดงานด้านการผลิตสื่อของประเทศไทยกำลังเติบโตอย่างมาก มจธ.จึงเกิดแนวคิดที่จะผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญด้านสื่อออกสู่สังคมจึงจัดตั้งเป็นโครงการร่วมบริหารฯ ที่รวม 3 หลักสูตรเข้าด้วยกันอย่างหลักสูตรน้องใหม่แต่เก๋าวิชาอย่างหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขามีเดียทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ซึ่ง มจธ. เป็นมหาวิทยาลัยเจ้าแรกของไทยที่จัดตั้งการเรียนการสอนหลักสูตรนี้อย่างเต็มรูปแบบเมื่อปี 2553 เน้นการสร้างคนที่สร้างสรรค์สื่อทางการแพทย์และสาธารณสุข สร้างสื่อจากข้อมูลที่แพทย์ต้องการสื่อไปยังผู้ป่วยหรือให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไปอย่างเข้าใจง่าย และสวยงามด้วยการบูรณาการเทคโนโลยีของสื่อด้านเสียง กราฟฟิก ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว 2 และ 3 มิติ แอนิเมชั่น ตลอดจนแบบจำลองต่างๆ เข้ากับศาสตร์ทางด้านการแพทย์โดยมีกระทรวงสาธารณะสุขเข้ามาดูแลในเรื่องของหลักสูตร นักศึกษาที่เรียนสาขานี้จะต้องเรียนวิชาอนาโตมี สรีระ เนื้อเยื่อ โครงสร้างกล้ามเนื้อ และศัพท์ทางการแพทย์ จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรงทั้งในมหาวิทยาลัยและที่โรงพยาบาล แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือในต่างประเทศเทคโนโลยีด้านนี้ก้าวไกลไปมากและประเทศไทยเองก็ยังต้องการบุคคลากรด้านนี้พอสมควร เพราะนอกจากการเป็นผู้ช่วยด้านการสื่อสารของแพทย์ในโรงพยาบาลแล้ว ก็ยังมีบริษัทผลิตสื่อทางการแพทย์อีกมากที่ต้องการบุคคลากรด้านนี้

นอกจากนั้นยังมีหลักสูตรศิลปบัณฑิต สาขามีเดียอาตส์ และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีมีเดียในระยะเวลา 6 ปีที่จัดตั้งโครงการบริหารหลักสูตรนี้ขึ้นเรารับนักเรียนทั้งสายวิทย์และสายศิลป์ ปีละ 260 คน โดยคัดจากการสอบคัดเลือกตรง โดยเน้นรับผู้ที่มีทักษะการวาดภาพที่โดดเด่น และมีความคิดสร้างสรรค์ และมีผลงานสะสมย้อนหลัง ที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่สนใจ แล้วค่อยสัมภาษณ์ โดยขณะนี้มีบัณฑิตที่จบออกไปแล้ว 2 รุ่น ผลการตอบรับค่อนข้างดี แต่อย่างไรก็ตาม มจธ.ได้มีการปรับหลักสูตรเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดงานมีเดียอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังมีพันธมิตรจากอุตสาหกรรมมีเดียที่ให้ความร่วมมือในการให้ความรู้ และทดลองงานสำหรับนักศึกษาสาขาวิชาต่างๆ อย่างเข้มข้น

ถึงจะเป็นการเรียนเทคโนโลยีแต่วิชาจิตวิทยา ปรัชญา ก็ถูกผนึกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน เพื่อนำไปสู่การผลิตผลงานที่เข้าถึงและตอบโจทย์ความต้องการของผู้เสพสื่อได้ งานทุกชิ้นที่ออกมาต้องผ่านกระบวนการระดมสมอง สเก็ตความคิดออกมาเป็นรูปร่าง ตัวหนังสือ หรือตัวเลข เราเน้นการสร้างคนผลิตสื่อสร้างสรรค์ สื่อที่ทำให้คนไทยเข้าใจข้อมูลการสื่อสาร และคิดตามมากขึ้น ไม่เน้นเรื่องสื่อมอมเมา ไม่เน้นสื่อการค้ามาก แต่เราปลูกฝังให้เค้าเริ่มคิดงานจากพื้นฐานทางสังคม หากจะสร้างภาพยนตร์ซักเรื่องต้องมองมุมกลับนอกจากบทที่สนุกสนานแล้ว อีกมุมหนึ่งของสังคมเรื่องจริงของชีวิตก็ต้องพูดถึง”ผศ.บุญเลี้ยงกล่าว

เพื่อให้โครงการร่วมบริหารทั้ง 3 หลักสูตร ได้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ดังนั้น มจธ. จึงได้จัดนิทรรศการและงานสัมมนาสื่อสร้างสรรค์ (Creative Media exhibition and seminar)ปีที่ 2 โดย ‘น้องเฟอรารี่’ น.ส.ดวงหทัย โสตถิเสาวภาคย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรมีเดียอาตส์ สาขาแอนิเมชั่น กล่าวว่าสำหรับเธอแล้วสิ่งสำคัญที่สุดของการจัดงานนี้คือเป็นโอกาสการที่บริษัทตลอดจนอุตสาหกรรมมีเดียต่างๆ จะได้รู้จักเรามากขึ้นผ่านผลงานที่นำมาแสดง

ส่วน ‘อิ๊บ’ น.ส. อรณิชา ชั่งภู่ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรเทคโนโลยีมีเดีย สาขาพัฒนาเกมส์กล่าวเพิ่มเติมว่าในงานนี้นอกจากบริษัทต่างๆ แล้วยังได้มีการเชิญชวนนักเรียนระดับมัธยมในโรงเรียนรอบๆ มหาวิทยาลัยเข้ามาสัมผัสกับความเป็นมีเดียและเข้าใจความเป็นมีเดียมากขึ้น

“มีเดียคือการนำศาสตร์ทุกอย่างมารวมกัน มีเดียอาตส์เน้นการนำเสนอและการทำให้งานมันสวยงามมากขึ้น ส่วนเทคโนโลยีมีเดียจะเน้นกระบวนการคิดและการนำศิลปะมาประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยี”

ล่าสุด ผศ.บุญเลี้ยง กล่าวว่า“ โครงการร่วมบริหารหลักสูตรมีเดียอาตส์ เทคโนโลยีมีเดีย และมีเดียทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์อยู่ระหว่างการจัดตั้งเป็นหน่วยงานระดับคณะ คาดว่าจะเสร็จสิ้นในเร็วๆนี้ อย่างไรก็ตามโครงการได้มุ่งพัฒนาบัณฑิตตามนโยบายของมหาวิทยาลัย คือมุ่งสร้างบัณฑิตที่ ดีและเก่ง โดยมีเดียอาตส์ ได้ยึดหลักสี่ข้อถือปฏิบัติ คือเก่งคิดสร้างสรรค์ ขยัน รับผิดชอบ ตอบแทนสังคม

 

 

วันที่ 7/09/2556 เวลา 11:38 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

217

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน