อินโดนีเซีย (30 ส.ค.-6 ก.ย. 56)
ชาวอินโดนีเซียประท้วงประกวดนางงาม
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวอินโดนีเซียหลายร้อยคนชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลระงับการจัดประกวดนางงามโลก (Miss World) ในวันที่ 28 กันยายนนี้เนื่องจากเห็นว่าเป็นการขัดต่อธรรมเนียมของศาสนาอิสลาม ทั้งนี้ ผู้ชุมนุมกว่า 200 ร้อยคน ได้เดินประท้วงหน้าอาคาร MNC ทาวเวอร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองประกวด เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการจัดการประกวดดังกล่าว
นายมูฮัมหมัด อัล คาทัต แกนนำผู้ประท้วง กล่าวว่า การประกวดนางงามโลก คือการนำเอาความเป็นสตรีเพศมาหาประโยชน์ ซึ่งขัดต่อขนบธรรมเนียมและประเพณีของชาวอินโดนีเซียอย่างชัดเจน แม้การชุมนุมจะเป็นไปโดยสงบ แต่ก็มีการตะโกนคำขวัญสาปแช่งการประกวดมิสเวิลด์ ให้ไปลงนรก และเรียกร้องรัฐบาลให้ยื่นมือเข้ามาระงับการจัดประกวดโดยด่วน
ทั้งนี้ การชุมนุมประท้วงมีขึ้นหลังจากที่เมื่อไม่กี่วันก่อน ผู้นำศาสนาอิสลามในอินโดนีเซียได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการจัดประกวดนางงามโลก เพราะการนำเอาสตรีเพศมาอวดประชันเนื้อหนังมังสา ซึ่งถือเป็นการขัดต่อหลักคำสอนในศาสนาอิสลามซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของอินโดนีเซียอย่างรุนแรง
แหล่งที่มา: thejakartaglobe.com และ mcot.com
อินโดนีเซียขอให้เฟดให้ความชัดเจนเรื่องทยอยยกเลิกคิวอี
นายชาติบ บาสรี (Chatib Basri) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอินโดนีเซีย เรียกร้องให้ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ให้ความชัดเจนว่าเมื่อใดจะทยอยยกเลิกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ
อินโดนีเซียและเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายประเทศประสบปัญหาเงินทุนต่างชาติไหลออกจำนวนมากนับตั้งแต่เฟดส่งสัญญาณครั้งแรกในเดือนพฤษภาคมว่า จะทยอยยกเลิกมาตรการซื้อทรัพย์สินเดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.63 ล้านล้านบาท) นายบาสรีให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ว่า กระบวนการทยอยยกเลิกคิวอีของเฟดยังไม่มีความโปร่งใส ผู้คนได้แต่คาดเดาว่าเฟดจะเริ่มในเดือนกันยายนนี้ ความไม่แน่นอนดังกล่าวทำให้รัฐบาลจาการ์ตามีปัญหาในการกำหนดนโยบาย
รัฐมนตรีคลังอินโดนีเซียกล่าวถึงเรื่องนี้ก่อนที่จะมีการประชุมสุดยอดกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำและเศรษฐกิจเกิดใหม่ (G20) ที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กของรัสเซียวันที่ 5-6 กันยายนนี้ คาดว่าประเด็นภาวะเศรษฐกิจที่แย่ลงในตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่จะเป็นเรื่องหลักในการประชุม.
แหล่งที่มา: mcot.net