CAT ปรับกลยุทธ์รับยุคสิ้นสัมปทาน
บมจ.กสท ปรับแผนธุรกิจหวังกระตุ้นรายได้หลังสิ้นยุคสัมปทาน เน้นลงทุนระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ ยึดเป็นหลักระยะยาว มองโอกาสดาต้าคอมเติบโตสูง พร้อมเดินหน้าขยายตลาดในประเทศเพื่อนบ้านรับเออีซี เล็งขยายพันธมิตรทั่วโลก
น.ส.ธัญวดี วงศ์ธีรฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกลยุทธ์องค์กร บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รายได้รวมตลอด 7 เดือนของปี 56 ที่รวมสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่มีมูลค่าอยู่ที่ 3.02 หมื่นล้านบาท กำไร 1.07 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 55 ที่ผ่านมาเล็กน้อย ส่วนรายได้ที่ไม่รวมสัมปทานอยู่ที่ 8.94 พันล้านบาท ขาดทุน 2.25 พันล้านบาท ถือว่าขาดทุนน้อยกว่าแผนที่วางไว้ที่ 3.33 พันล้านบาท
ขณะที่แผนการดำเนินงานโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3จี เอชเอสพีเอ มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท ที่ผ่านจากที่ประชุมคณะกรรมการแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งนี้ หากโครงการดังกล่าวได้รับการอนุมัติ จะทำให้รายได้บริษัทเพิ่มขึ้น 1.9 หมื่นล้านบาท คิดเป็นกำไร 407 ล้านบาท จะส่งผลให้สิ้นปี 56 บมจ.กสท จะมีรายได้รวม 4.06 หมื่นล้านบาท กำไร 1.2 หมื่นล้านบาท แต่ถ้าไม่รวมรายได้เอชเอสพีเอ จะทำให้สิ้นปี 56 มีรายได้อยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท
นายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ บมจ.กสท กล่าวเสริมว่า เราได้ปรับกลยุทธ์ดำเนินธุรกิจโทรคมนาคมอย่างต่อเนื่องหลังสิ้นสุดสัมปทาน โดยเน้นการลงทุนระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศเพื่อสร้างรายได้หลักระยะยาว ซึ่งมองว่าโอกาสกลุ่มบริการสื่อสารข้อมูล หรือ ดาต้าคอม (Datacom) มีโอกาสเติบโตค่อนข้างมาก และในปี 57 จะขยายไฟเบอร์ออพติกทั่วประเทศ หวังเจาะกลุ่มลูกค้ารายย่อยทั้งโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต ซึ่งมองว่ามีปัจจัยการเติบโตจาก 1.ธุรกิจอินเตอร์เน็ตเกตเวย์และวงจรสื่อสารข้อมูลในประเทศของ บมจ.กสท ซึ่งรองรับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ทั้ง Internet Service Provider และ Mobile Operator โดยสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องตามแนวโน้มการเติบโตอย่างสูงของธุรกรรมออนไลน์ และสังคมออนไลน์
2.ความพร้อมในการพัฒนาบริการที่หลากหลาย อาทิ จากการที่ประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนผ่านระบบการแพร่ภาพโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกเป็นระบบดิจิตอล เป็นโอกาสที่ บมจ.กสท ได้เปิดบริการใหม่สำหรับลูกค้ากลุ่ม Content Provider คือบริการ CAT Satellite TV Platform เพื่อส่งภาพผ่านระบบดาวเทียมออกอากาศในระบบดิจิตอล และ 3.การเดินหน้าสานต่อโครงการภาครัฐ
นายดนันท์ กล่าวต่อว่า มีการร่วมมือกับผู้ให้บริการในภูมิภาคให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ รวมทั้งสิ้น 25 แห่ง ในภูมิภาคอาเซียนรวมถึงฮ่องกง และยังมีแผนพัฒนาติดตั้งจุดให้บริการสื่อสารข้อมูลและอินเตอร์เน็ต (Point of Presence) จาก 6 จุด เพิ่มเป็น 8 จุด ครอบคลุมทวีปเอเซีย ยุโรป และอเมริกา ภายในปี 56
“พื้นที่ให้บริการที่ครอบคลุมทั่วถึง คือจุดแข็งทำให้เราสามารถให้บริการสื่อสารข้อมูลได้ทั่วไทยตลอดจนประเทศในกลุ่มเออีซี และทุกภูมิภาคทั่วโลก ดังนั้นแนวทางหลักยังคงให้ความสำคัญที่การพัฒนาโครงข่ายในและระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เน้นเพิ่มจำนวนจุดเชื่อมต่อในประเทศต่างๆ เพื่อขยายให้ครอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้น ประกอบกับขยายความร่วมมือกับพันธมิตรต่างประเทศที่ช่วยให้บริการเข้าถึงผู้ใช้ทุกที่ทั่วโลก” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ กล่าว
นอกจากนี้ บมจ.กสท พร้อมทำการตลาดในรูปแบบธุรกิจภาพลักษณ์ใหม่ ที่เน้นการให้บริการแบบฉับไว และคงความเป็นที่หนึ่งโครงข่ายระดับภูมิภาคที่พร้อมเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อกลุ่มประเทศอินโดจีน ซึ่งจากผลวิจัยล่าสุดของ Gartner พบว่าหน่วยธุรกิจทั่วโลกมีการใช้จ่ายในระบบไอทีสูงขึ้นกว่า 4.1% ในปี 56 ด้วยมูลค่าตลาดประมาณ 3.7 ล้านล้านบาท และจะเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยกว่า 3.9% ต่อปี และรายงานการเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียนในกลุ่มเออีซี ตลอดปี 56 ที่มีตัวเลขการเติบโตสูงขึ้นในเกือบทุกประเทศ จึงนับเป็นโอกาสทางการตลาดในกลุ่มธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม
ทั้งนี้ ในกลุ่มของการให้บริการเครือข่ายเชื่อมโยงเพื่อการสื่อสารโทรคมนาคม รองรับกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวออกไปสู่ตลาดในระดับภูมิภาคมากขึ้น อีกทั้งจะทำให้ Network Provider อยู่ในธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่ง บมจ.กสท มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบโครงข่าย การลงทุนและขยายโครงข่าย รวมถึงประสบการณ์ของบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในการให้บริการ
สำหรับในกลุ่มประเทศอาเซียน ให้บริการสื่อสารข้อมูลกับผู้ให้บริการ 9 ประเทศ ได้แก่ ลาว กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และพม่า ซึ่งอยู่ในช่วงของการปฏิรูปประเทศ โดยในวันที่ 10-11 ก.ย.56 นี้ จะมีการจัดประชุมผู้ประกอบการสื่อสารโทรคมนาคมนานาชาติ Myanmar Connect 2013 ณ นครเนปิดอว์ ก็ได้ร่วมเป็นผู้สนับสนุนการจัดงาน ซึ่งจะเป็นโอกาสทางธุรกิจในการเป็นพัฒนาการให้บริการเชื่อมต่อไปยังพม่า และเป็นศูนย์กลางสู่การเชื่อมต่อจากพม่าไปยังทั่วโลก
นายดนันท์ กล่าวต่อว่า ในส่วนโครงข่ายหลัก บมจ.กสท มีระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศเชื่อมโยงในกลุ่มประเทศอาเซียน 4 ระบบ รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายภาคพื้นดินตามเขตแนวชายแดนกับลาว กัมพูชา พม่า และมาเลเซีย อีกทั้งการสร้างศักยภาพในกลุ่มประเทศอินโดจีนระหว่างรัฐบาล หรือ จีทูจี ทั้งใน ลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม และจีน ภายใต้โครงการ Greater Mekong Sub-Region Information Superhighway
ทั้งนี้ ได้ลงทุนในระบบเคเบิลใต้น้ำระบบใหม่คือ ระบบ Asia Pacific Gateway (APG) ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2558 นับเป็นการลงทุนเริ่มต้นที่มีมูลค่าสูง แต่จะสร้างรายได้ในระยะยาว โดยจะรองรับความต้องการในอาเซียน และประเทศในภูมิภาค Asia Pacific ซึ่งรวมถึงจีน, ไต้หวัน, ญี่ปุ่น, เกาหลี ระบบนี้สามารถรองรับความจุกว่า 55 terabit
ส่วนแผนการพัฒนาโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยี Fiber to the X (FTTx) ในปี 57 โดยจะทำการปรับปรุงจากสายทองแดง (Co-axial) เป็นไฟเบอร์ออพติกหรือเคเบิลใยแก้วทั้งหมด รวมถึงสร้างโครงข่ายเพิ่มเพื่อให้บริการครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งกลุ่มลูกค้ารายย่อยและองค์กรธุรกิจและภาครัฐ ซึ่งการปรับปรุงและขยายโครงข่าย FTTx
นอกจากเพิ่มประสิทธิภาพบริการให้ความเร็วในการอัพโหลดดาวน์โหลดมากกว่า 20 mbps แล้ว ยังเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดให้ บมจ.กสท รองรับความต้องการใช้งานอินเตอร์เน็ตของลูกค้าทั้งรายย่อยและธุรกิจได้อย่างสะดวกรวดเร็ว บริการนี้จะเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น ทั้งหมู่บ้าน คอนโดมิเนียม ศูนย์การค้าขนาดกลางควบคู่กับการขยายโครงข่าย Fttx คือ การขยายเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไร้สายในพื้นที่เป้าหมาย โดยร่วมมือกับพันธมิตร อาทิ แฟรนไชส์ร้านอาหาร กาแฟและเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ ศูนย์ให้บริการซ่อมบำรุงรักษารถยนต์ โรงภาพยนตร์
สำหรับกลุ่มบริการอิเล็กทรอนิกส์ (CAT eBiz) บมจ.กสท มีแนวทางหลักคือ การพัฒนาบริการที่มีอยู่ อาทิ การประชุมออนไลน์ ให้รองรับการใช้งานบนอุปกรณ์ทั้งแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนทุกเครือข่าย ทั้งระบบไอโอเอส ระบบแอนดรอยด์ และระบบวินโดวส์ ส่วนความร่วมมือกับภาครัฐ ได้ให้บริการนี้ผ่านโครงการจิน (GIN) ซึ่งตั้งเป้าจะขยายจากเดิม 120 จุด เป็น1,200 จุด ภายในปี 57
ส่วนบริการ CAT e-logistics ได้ร่วมมือกับภาครัฐในการสร้างระบบ Supply Chain ด้านสุขภาพเพื่อจัดทำระบบกลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ด้านกลุ่มอุตสาหกรรมบริการสุขภาพระหว่างโรงพยาบาลและซัพพลายเออร์ผ่านระบบ Supply Chain และระบบ e-Logistics รวมถึงผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านโลจิสติกส์สุขภาพของภูมิภาคเอเชีย (Asia Healthcare Logistics Trade Exchange – ATX)
วันที่ 4/09/2556 เวลา 10:50 น.