พม่า (26 ส.ค. -2 ก.ย.56 )
รายงานลับทางทหารพม่าหลุด มีคำสั่งกวาดล้างชนกลุ้มน้อย คุ้มครองเส้นทางโครงการฉ่วยก๊าซ
รายงานลับเกี่ยวกับการประชุมประจำของกองทัพพม่าเมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้หลุดออกมาและถูกนำมาเผยแพร่ โดยในเนื้อหาในรายงานระบุ ให้ทหารพม่าในเมืองล่าเสี้ยว ทางภาคเหนือของรัฐฉาน กวาดล้างกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยให้หมด และรักษาความปลอดภัยให้กับท่อส่งก๊าซที่ส่งขายไปยังจีน
ในรายงานดังกล่าว เป็นการบันทึกเกี่ยวกับการประชุมประจำทุกๆ 4 เดือนของกองทัพพม่า ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ที่กรุงเนปีดอว์ โดยมีนายทหารระดับสูงเข้าร่วมประชุม ก่อนที่รายงานดังกล่าวจะถูกพลจัตวาอ่องโซ ผู้บัญชาการกองทัพภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ล่าเสี้ยว) นำมาชี้แจงต่อที่ประชุมทหารเมื่อวันที่ 7-8 เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่เมืองล่าเสี้ยว ทางเหนือของรัฐฉาน และรายงานลับทางทหารดังกล่าวได้เล็ดลอดออกมาและถูกนำมาเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ โดยในเนื้อหาในรายงานลับดังกล่าวระบุว่า
“การสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและทหารคะฉิ่น KIA ในรอบ 4 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน -ธันวาคม 2555 เกิดขึ้นกว่า 355 ครั้ง การสู้รบที่รุนแรงเกิดขึ้น 95 ครั้ง โดยทางกองทัพพม่าได้ใช้กำลังพล 10 กองพลทหารราบในการสู้รบกับทหารคะฉิ่น KIA พร้อมกันนี้ได้โจมตีโดยใช้ปืนใหญ่และโจมตีทางอากาศจนสามารถยึดฐานทัพหลายแห่งของทาง KIA ได้เป็นผลสำเร็จ อย่างไรก็ตาม มีทหารพม่าต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์สู้รบกับทหารคะฉิ่นนับพันนาย เพราะขาดประสบการณ์ ”
นอกจากนี้ไนรายงานระบุว่า ทาง พล.อ.มิ้นอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่าได้มีคำสั่งให้ กองทัพภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ล่าเสี้ยว) กวาดล้างกองพลที่ 4 ของทหารคะฉิ่น KIA ที่เคลื่อนไหวอยู่ในรัฐฉาน รวมถึงกลุ่มโกก้างที่นำโดยเผิงเจียเชือง โดยออกคำสั่งให้กวาดล้างทั้ง 2 กลุ่มให้หมด นอกจากนี้ยังมีคำสั่งให้กวาดล้างกลุ่มติดอาวุธไม่ว่ากลุ่มไหนที่เคลื่อนไหวบนเส้นทางหนองเขียวไปจนถึงชายแดนจีน ขณะที่พบว่า ในพื้นที่นี้ มีทั้งทหารไทใหญ RCSS/SSA-S ทหารคะฉิ่น KIA และ กองกำลังปลดปล่อยชาติปะหล่อง(TNLA) เคลื่อนไหวอยู่
ทั้งนี้ ยังมีคำสั่งเช่น ให้จัดฐานทัพทหารที่มั่นคงทางตะวันตกของแม่นำสาละวิน รวมไปถึงสร้างถนนให้สามารถใช้การได้ทุกเมื่อในพื้นที่ดังกล่าว โดยยังมีคำสั่งให้ทหารพม่าคุ้มครองและรักษาความปลอดภัยให้กับท่อส่งก๊าซจากรัฐอาระกันไปยังชายแดนจีน (โครงการฉ่วยก๊าซ) รวมถึงโครงการพลังงานไฟฟ้าฉ่วยลี่เป็นต้น
ขณะที่สถานการณ์สู้รบระหว่างกองทัพพม่าและ KIA ดูจะคลี่คลายในหลายเดือนมานี้ โดยทั้งสองฝ่ายได้เจรจาและลงนามข้อตกลง 7 ข้อ 1 ในข้อตกลงคือการหลีกเลี่ยงปะทะอีกฝ่าย รวมถึงการเปิดสำนักงานสำหรับประสานงานระหว่างทั้งสองฝ่ายขึ้นที่เมืองมิตจีนา เมืองหลวงของรัฐคะฉิ่น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการปะทะกันกระปรายอย่างต่อเนื่องจากทั้งสองฝ่าย
แหล่งอ้างอิง : salweennews.org
กระทรวงวัฒนธรรมพม่าเตรียมนำหลักสูตรวิชา “วัฒนธรรมพลเมือง” มาใช้แก้ปัญหาการแต่งตัวของผู้หญิงพม่า
กระทรวงวัฒนธรรมของพม่าวางแผนที่จะนำหลักสูตรวิชา “วัฒนธรรมพลเมือง” ซึ่งเกี่ยวกับวัฒนธรรมและหน้าที่ของพลเมือง มาสอนที่มหาวิทยาลัย 2 แห่งเป็นการนำร่อง และมีแผนขยายโครงการนี้ออกไปตามสถานบันการศึกษาอื่นๆ ในอนาคต จุดประสงค์ของโครงการนี้ก็เพื่อแก้ปัญหาการแต่งตัวของวัยรุ่นหญิงที่ทำตามวัฒนธรรมชาติอื่น
หลักสูตรนี้ได้รับการเขียนโดย ดอว์ ขิ่น กี่ เพีย อธิการบดีของมหาวิทยาลัย Mandalay National University of Arts and Culture โดยวิชานี้จะถูกสอนที่มหาวิทยาลัยด้านศิลปะและวัฒนธรรมทั้งในย่างกุ้งและในมัณฑะเลย์ ทางด้าน อูตานฉ่วย ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมพม่าเปิดเผยว่า โครงการหลักสูตรวิชา “วัฒนธรรมพลเมือง” จะสอนในเรื่องสิทธิและหน้าที่ของพลเมือง รวมไปถึงสอนเรื่องวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวพม่าทั้งหมด โดยอูตานฉ่วยยังกล่าวว่า โครงการหลักสูตรวิชานี้มีความจำเป็น ทั้งนี้ก็เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมของพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแต่งกายและการปฏิบัติตัว
“ทางกระทรวงวัฒนธรรมได้สังเกตเห็นว่า แฟชั่นและวัฒนธรรมการแต่งตัวผู้หญิงพม่านั้นได้เปลี่ยนไป ตั้งแต่ช่วงสงกรานต์เมื่อปีที่แล้ว ผมเห็นผู้หญิงพม่าดื่มเบียร์ข้างทะเลสาบอินยา ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม” อูตานฉ่วยกล่าว
เขายังกล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ชายพม่าก็มีพฤติกรรมดื่มแอลกอฮอล์และแต่งตัวตามแบบแฟชั่นยุโรป อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงมีความเป็นห่วงผู้หญิงมากกว่า เพราะพฤติกรรมเหล่านี้เป็นภัยอันตรายต่อผู้หญิง อย่างไรก็ตาม อูตานฉ่วยยืนยัน แม้ทางกระทรวงจะเป็นห่วงเรื่องการแต่งตัวของผู้หญิงพม่า แต่จะไม่เข้าไปควบคุมแฟชั่นการแต่งตัว เพราะจะกระทบในเรื่องของประชาธิปไตย แต่เรียกร้องให้พ่อแม่ผู้ปกครองควรที่จะสอนเด็กในการรักษาวินัยและเคารพวัฒนธรรมพม่า
“ผมไม่ได้ตีความว่า ผู้หญิงควรที่จะสวมใส่เสื้อผ้าเหมือนในอดีต เพราะแฟชั่นของผู้หญิงย่อมเปลี่ยนแปลงไปเสมอ แต่เห็นได้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่ปี 2543 นั่นทำให้วัฒนธรรมบางอย่างของเราได้เปลี่ยนไปด้วย” นายอูตานฉ่วยกล่าว
ทั้งนี้ นายอูตานฉ่วยปฏิเสธว่า ภาพยนตร์เกาหลีไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้แฟชั่นและพฤติกรรมของผู้หญิงพม่าเปลี่ยนไป แต่ยอมรับว่า ในบางฉากของภาพยนตร์เกาหลีนำเสนอฉากที่ผู้ชายและผู้หญิงดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า การแต่งตัวของผู้หญิงพม่า อาจจะได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์ตะวันตกและเลียนแบบนักแสดงพม่าที่พวกเขาชื่นชอบ
ขณะที่นักศึกษาพม่ากล่าวยินดีกับหลักสูตรวิชา “วัฒนธรรมพลเมือง” และไม่เชื่อว่า ทางรัฐบาลพม่าหรือผู้ที่เกี่ยวข้องควรที่จะควบคุมการแต่งตัวและพฤติกรรมของผู้หญิง มะ ยะมิน ทู วัย 18 ปี นักศึกษาคณะกฎหมายปี 2 จากมหาวิทยาลัย East Yangon กล่าวว่า โดยส่วนตัวคิดว่า ประชาชนควรที่จะสวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมกับกาลเทศะแค่นั้นก็เพียงพอแล้ว พร้อมกับแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้หญิงควรดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ มะ ยะมิน ทูกล่าวว่า ไม่ควรกล่าวหาผู้หญิงที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นผู้หญิงไม่ดี อย่างไรก็ตาม เธอแนะว่า ผู้หญิงควรที่จะระมัดระวังในการดื่มเพื่อไม่ให้เมาขาดสติจนเกินไป
อีกด้านหนึ่ง ทางด้าน วิน ยามอน หล่าย นักแสดงหญิงของพม่ากล่าวว่า นักแสดงไม่ควรถูกตำหนิในเรื่องการแต่งกายที่เผยแพร่ตามสถานีโทรทัศน์ เนื่องจากนั่นเป็นการสวมบทบาทของตัวละคร
“ฉันเห็นด้วยที่ประชาชนจะเลียนแบบการแต่งกายดาราที่พวกเขาชื่นชอบ แต่ในทีวี เราจะมีบุคลิกอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับบทบาทที่เราได้รับ ส่วนสไตล์การแต่งตัวของฉันก็แค่เสื้อยืดกับกางเกงยีนส์” วิน ยามอน หล่าย กล่าว
แหล่งที่มา : salweennews.org