อนันดาก็อปปี้กรุงโตเกียว
ปัจจุบันตลาดคอนโดมิเนียมเกาะติดแนวรถไฟฟ้ากำลังได้รับกระแสจากคนเมืองล้นหลาม โดยเฉพาะการพลิกเมืองกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองแห่งศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียนคงไม่ไกลเกินความจริง เนื่องจากภาคผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ต่างเปิดตลาดคอนโดมิเนียมของตัวเองเข้ามาในระบบเป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะการนำระบบไฮเทคโนโลยีเริ่มเข้าใช้กับโครงการ ความทันสมัยเทียบเท่ากับหัวเมืองใหญ่ๆ ในเอเชีย อาทิ จีน, สิงคโปร์, ฮ่องกง, มาเลเซีย หรือแม้กระทั่งกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือว่า เป็นประเทศที่มีระบบที่ทันสมัยมากที่สุดในเวลานี้
มองกลับมาที่บ้านเรา เป็นเรื่องที่ไม่แปลกที่จะก็อปปี้ต้นฉบับจากกรุงโตเกียวมาไว้ที่กรุงเทพฯ คงอีกไม่นานหากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน พร้อมที่จะกล้าเข้ามาลงทุน สิ่งที่ฝันว่า กรุงเทพมหานคร จะเป็นเมืองแห่งเทคโนโลยีที่ทันสมัยเทียบเท่ากับกรุงโตเกียวก็ไม่ไกลเกินเอื้อม โดยเฉพาะการกู้วงเงินจำนวน 2 ล้านล้านบาท ในการทำโครงการพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนจากภาครัฐ ซึ่งต้องยอมรับว่า เป็นการเดินมาถูกทางแล้ว แต่ต้องขึ้นอยู่กับว่า จะสามารถนำเม็ดเงินดังกล่าวมาใช้ได้เร็วแค่ไหน คงต้องติดตามกันต่อไปถึงเรื่องดังกล่าวนี้
โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ได้พาคณะสื่อมวลชนจากประเทศไทย ไปศึกษาถึงเรื่องการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ตามแนวรถไฟฟ้า เพื่อรองรับของการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน โดยนำต้นแบบโครงการที่อยู่อาศัยของประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานอสังหาริมทรัพย์ไทยเทียบเท่าระดับสากล ในเรื่องดังกล่าวนี้นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN เปิดเผยว่า หลังจากลงนามร่วมทุนกับ SEA Investment Five หรือ SEAI5 (เอสอีเอไอ 5) บริษัทย่อยของ บริษัท มิตซุย ฟูโดซัง เรสซิเด็นเชียล จำกัด (MFR) ในปี 2555 ภายใต้ชื่อบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย จำกัด (Ananda MF Asia Company Limited) เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ประเภทคอนโดมิเนียมบนทำเลทองที่ดินแนวรถไฟฟ้าสายต่างๆ นั้น ในเบื้องต้นได้กำหนดแผนการดำเนินงานพัฒนาโครงการร่วมกันไม่น้อยกว่า 2 โครงการต่อปี
โดยล่าสุดได้ซื้อที่ดิน 5 ไร่ ติดแนวรถไฟฟ้าย่านพระราม 4 ห่างจากสถานีรถไฟฟ้าสามย่าน (MRT) ประมาณ 270 เมตร เพื่อพัฒนาโครงการ IDEO Q พระราม 4 ซึ่งเป็นอาคารชุดโครงการแรกภายใต้บริษัทร่วมทุน มูลค่าลงทุน 6.5 พันล้านบาท เป็นอาคารชุดสูง 40 ชั้น จำนวน 1,602 ยูนิต ราคาเริ่มต้นช่วงพรีเซลที่ 2.89 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการพัฒนาโครงการประมาณ 3 ปี โดยโครงการดังกล่าวจะเริ่มเปิดขายในไตรมาส 4 ปี 2556 และคาดว่าจะสามารถโอนกรรมสิทธิ์ และรับรู้รายได้ในปี 2559
นายชานนท์ ยังกล่าวด้วยว่า การร่วมทุนทางธุรกิจในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนด้านกลยุทธ์ของบริษัท ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของอนันดา ให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านองค์ความรู้และการบริหารจัดการโครงการของมิตซุย ที่มีประสบการณ์ด้านอสังหาริมทรัพย์มากว่า 300 ปี เสริมความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมการออกแบบ และเทคโนโลยีด้านการก่อสร้าง
“ผมมั่นใจว่าการร่วมทุนในครั้งนี้อนันดา จะมีโอกาสได้เรียนรู้วิทยาการใหม่ๆ ที่น่าสนใจแล้ว ด้วยจุดแข็งของมิตซุย ฟุโดซัง จะช่วยส่งเสริมให้อนันดา สามารถนำความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญต่างๆ ที่ได้รับมาพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทยให้ก้าวสู่ระดับสากลตามที่ได้ตั้งใจไว้อย่างแน่นอน” นายชานนท์ กล่าว
ขณะที่นายคิโยทากะ ฟูจิบายาชิ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิตซุย ฟุโดซัง จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยมีความโดดเด่นจากศักยภาพการเติบโตในระดับสูง ซึ่งเป็นผลทั้งจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มประเทศรอบข้างที่ขยายตัวอย่างมาก ประกอบกับการลงทุนจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเชื่อว่าเศรษฐกิจประเทศกลุ่ม ASEAN-5 ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ จะมีการขยายตัวประมาณ 5% ในปีหน้า โดยไทยจะเป็นหนึ่งในแหล่งลงทุนที่น่าสนใจ
นายชานนท์ กล่าวเสริมต่อว่า ยุทธศาสตร์การลงทุนและแผนการดำเนินงานของบริษัทในระยะ 16 ปีนับจากนี้ ยังคงมุ่งเน้นพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าใน 245 สถานี ในรัศมีไม่เกิน 300 เมตร ภายใต้ แบรนด์ “IDEO” เป็นหลัก
ล่าสุดได้พัฒนาโครงการ “IDEO Q พระราม 4” สำหรับกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ ในรูปแบบห้องชุดพร้อมตกแต่ง ขนาดเริ่มต้น 21 ตารางเมตร บนอาคารชุดสูง 40 ชั้น จำนวน 1,602 ยูนิต ราคาเริ่มต้นช่วง Pre-Sales ที่ 2.89 ล้านบาท มูลค่าโครงการประมาณ 6,500 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการพัฒนาโครงการประมาณ 3 ปี โดยโครงการดังกล่าวจะเริ่มเปิดขายในไตรมาสที่ 4 ปี 56 และคาดว่าจะสามารถโอนกรรมสิทธิ์ และรับรู้รายได้ในปี 2559
ทั้งนี้ เนื่องจากมองว่าการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ ในกรุงเทพฯ มีการขยายตัวออกไปตามแนวระบบขนส่งมวลชนและตามแรงผลักดันของความต้องการจากภาคธุรกิจ ศูนย์การค้าและที่อยู่อาศัย ซึ่งล้วนต้องการอยู่ใกล้กับสถานีระบบขนส่งมวลชน จำเป็นจะต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้อย่างรอบคอบ
รวมถึงการวางแผนพัฒนาโครงการต้องคำนึงถึงอุปทาน หรือซัพพลายที่ตลาดจะสามารถรองรับได้ในช่วงเวลาที่โครงการจะเปิดตัวหรือสร้างเสร็จ โดยเฉพาะในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของกรุงเทพฯ โดยในปัจจุบันประเทศไทยมีรูปแบบการขนส่งมวลชนที่หลากหลาย ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งระบบขนส่งทางบก ถือเป็นระบบขนส่งมวลชนที่ควรพัฒนาอย่างเร่งด่วนที่สุด ซึ่งหากประเทศไทยพัฒนา ระบบขนส่งมวลชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมให้ดีขึ้นด้วย
ทั้งนี้หากมองประเทศต้นแบบด้านระบบขนส่งมวลชนแล้ว ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนาระบบระบบขนส่งมวลชนที่มีความพร้อมที่สุดในโลก เพราะญี่ปุ่นสามารถพัฒนาระบบรางที่สมบูรณ์ได้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ส่งผลให้การเดินทางของประชาชนมีความสะดวกมากขึ้น ทั้งที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น แต่การบริหารจัดการขนส่งมวลชนสามารถทำได้อย่างมีระบบ โดยเฉพาะในกรุงโตเกียว ที่ถือเป็นศูนย์กลางการคมนาคมภายในประเทศและระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น
โดยประเทศญี่ปุ่นได้มีการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางที่สำคัญ ได้แก่ รถไฟฟ้า และรถใต้ดิน ที่มีเครือข่ายกว้างใหญ่และมีระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพที่ดีที่สุดในโลก ถึงแม้จะมีประชากรจำนวนกว่า 13 ล้านคน ต่างเข้ามาแออัดอยู่ในที่กรุงโตเกียว แต่กรุงโตเกียวแห่งนี้ก็ยังได้รับความนิยมและถูกเลือกให้เป็น 1 ใน 5 เมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลก และได้รับการคัดเลือกให้เป็นเมืองที่มีระบบขนส่งที่ได้รับการพัฒนาเทคโนโลยีความเร็ว และระบบการบริหารจัดการได้อย่างดีที่สุด ได้นำพาความเจริญไปสู่พื้นที่ส่วนต่างๆ ได้สำเร็จแล้ว ตั้งแต่ระดับภูมิภาคไปจนถึงระดับชุมชน
ในขณะที่ประเทศไทย มีแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2553-2572) มีจำนวนทั้งสิ้น 12 เส้นทาง ได้แก่ สาย 1: รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม (ธรรมศาสตร์-มหาชัย) สาย 2: รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน (ศาลายา-หัวหมาก) สาย 3: รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ (บางซื่อ-พญาไท-สุวรรณภูมิ) สาย 4: รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีเขียวเข้ม (ลำลูกกา-สมุทรปราการ) สาย 5: รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีเขียวอ่อน (ยศเส-บางหว้า) สาย 6: รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-หัวลำโพง-ท่าพระ-พุทธมณฑลสาย 4)
สาย 7: รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีม่วง (บางใหญ่-ราษฎร์บูรณะ) สาย 8: รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี) สาย 9: รถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) สาย 10: รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) สาย 11: รถไฟฟ้าสายสีเทา (วัชรพล-สะพานพระราม 9) สาย 12: รถไฟฟ้าสายสีฟ้า (ดินแดง-สาทร) ระยะทางรวม 495 กม. เป็นโครงข่ายสายหลัก 8 เส้นทาง และโครงข่ายสายรอง 4 เส้นทาง
โดยจะทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาด้านการขนส่งเช่นเดียวกับกรุงโตเกียว โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ยิ่งทำให้ทิศทางของเมืองเปลี่ยนไป โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชนที่เห็นได้อย่างชัดว่า มีผลต่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมเกาะแนวรถไฟฟ้า เพราะเมื่อเกิดรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน ยิ่งก่อให้เกิดการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่มากมายตามไปด้วย ซึ่ง 60% ของการก่อสร้างมักอยู่ตามแนวเส้นทางขนส่งมวลชนเป็นหลัก
อย่างไร ก็ตาม คงต้องติดตามค่ายอนันดาดีเวลลอปเม้นท์ จะสามารถปฏิวัติคอนโดมิเนียม แนวรถไฟฟ้าภายใต้การร่วมทุนของบิ๊กอสังหาฯ จากประเทศญี่ปุ่น งานนี้มีสิทธิ์ลุ้นที่จะพัฒนาไปสู่เมืองมหานครกรุงเทพฯ
สุภพงษ์ เทียนสี/รายงาน
วันที่ 2/09/2556 เวลา 19:45 น.