โทนี แบลร์ชี้เเก้กันเองไทยขัดเเย้ง
เวทีปฏิรูปคึก อดีตผู้นำโลกขึ้นโชว์วิสัยทัศน์พรึ่บ “ยิ่งลักษณ์” ฝันประสบการณ์ต่างชาติช่วยหาทางออกประเทศ ขณะที่ “โทนี แบลร์” ชี้ไทยขัดแย้งต้องแก้ด้วยคนไทยเอง สอนประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง แนะรัฐบาลยึดผลประโยชน์ ปชช.ใช้ธรรมาภิบาลบริหารประเทศ ด้าน “สุรินทร์” ฉีกหน้ารัฐกลางงาน ซัดคนภายนอกประเทศใช้อำนาจแทรกแซงผ่านการสไกป์ ทำประชาธิปไตยไทยปั่นป่วน ก่อนพิธีกรชิงตัดบทเบรกกินข้าวทันที ส่วน “มาร์ค-กรณ์” ดอดเข้าบ้านพักทูตอังกฤษ ร่วมโต๊ะมื้อเที่ยงโทนี แบลร์ โวแบลร์เข้าใจไม่ร่วมเวทีปาหี่ปฏิรูป ซัดรัฐบาลไม่ถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองคือไม่จริงใจ ขณะที่แก้ รธน. ปมที่มา ส.ว.ยังถูลู่ถูกัง กมธ.ซีก พท.ทนกระแสต้านไม่ไหว ยอมถอยรื้อมาตรา 5 สกัดสภาผัวเมีย หวังป้องเกมตีรวน ปชป.
เวทีปาฐกถาพิเศษคึกคัก
เมื่อวันที่ 2 ก.ย.56 เวลา 08.45 ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน การปาฐกถาพิเศษ “ผนึกกำลังสู่อนาคต : เรียนรู้ร่วมกันจากประสบการณ์” หรือ Uniting for the Future : Leaning form each other’s experiences ซึ่งเป็นการจัดปาฐกถาพิเศษวิชาการเพื่อส่งเสริมให้สาธารณชนไทยได้รับฟังประสบการณ์จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ที่มีส่วนร่วมและประสบการณ์ในการส่งเสริมประชาธิปไตย และเสริมสร้างสันติภาพในหลายประเทศทั่วโลก ที่จะเป็นประโยชน์สำหรับสังคมไทยในการสร้างอนาคตและส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งมีนายโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร นายมาร์ตรี อาห์ติซารี อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ นางพริซิลลา เฮย์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน และที่ปรึกษาอาวุโส Centre for Humanitarian Dialogue (HDC) ร่วมเป็นองค์ปาฐก โดยมี นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.การต่างประเทศ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมว.พาณิชย์ นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและ รมช.เกษตรและสหกรณ์ นางปวีณา หงสกุล รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย บรรดาตัวแทนจากสถานทูต องค์การระหว่างประเทศ นักวิชาการ มูลนิธิองค์การเพื่อประชาธิปไตย และภาคประชาชน เข้าร่วม
“ปู” ถก “โทนี แบลร์” รอบนอก
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลา 08.00 น. นายโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เข้าพบหารือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก่อนร่วมปาฐกถา โดยนายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้กล่าวขอบคุณนายโทนี แบลร์ ที่ได้เดินทางมาร่วมแสดงปาฐกถาในครั้งนี้ และหวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจในการช่วยให้ประเทศไทยหาทางออกจากความขัดแย้งและนำไปสู่อนาคตที่ดีขึ้นของประเทศไทย เพราะตลอด 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามอย่างเต็มที่ที่จะสร้างความปรองดองแต่แทบจะไม่มีความคืบหน้า ดังนั้นการได้รับฟังความเห็นของผู้มีประสบการณ์ในการสร้างความปรองดองในระดับสากล น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศไทย นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีกล่าวกับนายโทนี แบลร์ ว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญหลังจากที่ได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะต้องการที่จะปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จึงได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นกฎหมายสูงสุดที่เป็นธรรมมากที่สุด นอกจากนี้นายโทนี แบลร์ ได้สอบถามถึงการดำเนินการตามผลการศึกษาของ คอป.ว่าเป็นอย่างไรบ้าง นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการรวบรวมผลการศึกษาวิจัยด้านการเมืองจากหลายหน่วยงานเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันว่าแนวทางใดสามารถที่จะเดินหน้าเพื่อนำไปสู่ความปรองดองได้ทันที ก็จะเริ่มดำเนินการ
หวังประสบการณ์ต่างชาติหาทางออก
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวแถลงเปิดงานว่า การแลกเปลี่ยนความรู้เชิงวิชาการซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ขอขอบคุณวิทยากรผู้ทรงเกียรติที่ได้สละเวลาอันมีค่าเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในวันนี้ รวมทั้ง สถาบันเทวะวงศ์ วโรปการณ์ กระทรวงการต่างประเทศ และ ภาควิชาระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับการจัดงานสำคัญครั้งนี้ ความตั้งใจของงานปาฐกถาพิเศษครั้งนี้ คือการจัดเวทีเปิดสำหรับการร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิด และแม้แต่เรื่องราวส่วนบุคคล เพื่อสร้างการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ในการสร้างเอกภาพเพื่อสันติภาพและความรุ่งเรืองของประชาชน โดยเชื่อว่า การปาฐกถาพิเศษครั้งนี้ รวมทั้งเวทีต่างๆ ในอนาคต จะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาและสร้างความเข้าใจในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และสำคัญไปกว่านั้น จะเป็นการเตรียมพื้นฐานอันจะนำไปสู่แนวทางที่ปฏิบัติได้เพื่อนำไปดำเนินการ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับอุดมการณ์นั้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่ท้ายที่สุดแล้ว เราต้องสามารถใส่เนื้อหา เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
“โทนี แบลร์” หนุนไทยสร้างปรองดอง
จากนั้นนายโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ได้กล่าวปาฐกถาว่า การเดินทางมาร่วมปาฐกถาพิเศษที่ประเทศไทยครั้งนี้ ไม่ได้โดนจ้างให้มาร่วมงาน เหตุผลที่เดินทางมาเพราะว่าถูกเชิญมา และเชื่อมั่นในกระบวนการปรองดอง โดยย้ำว่า ปัญหาในประเทศไทย ต้องแก้ด้วยคนไทยเท่านั้น คนนอกไม่เกี่ยว เพียงแต่จะเข้ามาเล่าประสบการณ์ และกระบวนการว่าเคยทำอย่างไรบ้าง ทั้งนี้การสร้างความปรองดองจะต้องสร้างให้เกิดโอกาสอันยิ่งใหญ่ให้กับทุกคนได้แบ่งปันร่วมกัน เพื่อทำให้ทิ้งผลประโยชน์ส่วนตนไว้ก่อน แต่อย่างไรก็ตาม การทำให้คนเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับอดีต เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ดังนั้นจะต้องทำให้ทุกคนหันมาสร้างอนาคตใหม่ร่วมกันแทน นั่นคือหนทางที่จะออกจากความขัดแย้ง คือต้องมองอนาคตร่วมกัน การปรองดองจะต้องมาจากประชาธิปไตยที่แท้จริง ที่ทำให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้รับความเท่าเทียมกัน ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา และสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ เมื่อทุกฝ่ายมองเห็นรางวัลที่วางอยู่ในเบื้องหน้า ประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง และคำว่าประชาธิปไตย ไม่ได้หมายถึงอำนาจของพรรคการเมืองหนึ่ง แต่จะต้องสร้างโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมในสังคม ในระบอบประชาธิปไตยจะต้องทำให้ระบบกฎหมายมีความน่าเชื่อถือเป็นธรรม เพื่อที่คนในสังคมจะได้ยอมรับการบังคับใช้กฎหมายนั้นๆ การปรองดองจะเกิดขึ้นได้เมื่อการเมืองสามารถนำมาได้ซึ่งนโยบายที่เป็นผลประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง ส่วนความโปร่งใส ความธรรมาภิบาลของรัฐบาลที่ขึ้นมาบริหารประเทศ จะเป็นการสร้างความมั่นใจให้ประชาชน และนำไปสู่ความปรองดองง่ายขึ้น ทั้งนี้การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ เมื่อรัฐบาลสามารถที่จะดำเนินการในสร้างความเป็นอยู่ให้กับประชาชนทุกหมู่เหล่าดีขึ้น ด้วยความโปร่งใส และเราอาจจะไม่เชื่อในการปรองดอง แต่อย่างน้อยต้องมีการเริ่ม อย่าเพิ่งท้อแม้จะมีความแตกต่างแค่ไหน แต่จะต้องใช้ความพยายาม และนักการเมืองที่มีความตั้งใจในการนำไปสู่ความปรองดองเพื่อคนทั้งประเทศ
แนะรัฐบาลต้องมีธรรมาภิบาล
ด้านนายมาร์ตติ อาห์ติซารี อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ กล่าวว่า หากย้อนอดีตไปถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงสงครามกลางเมืองในยุโรป ที่ทำให้ชาวฟินแลนด์เสียชีวิตไป 37,000 คน หลังจากสงครามกลางเมือง 10 ปี แม้พรรคที่พ่ายแพ้จะกลับขึ้นมาบริหารประเทศ แต่ไม่แก้แค้น เดินหน้ายกระดับความเป็นอยู่ประชาชน อย่างกระบวนการปรองดองในนามิเบีย โคโซโว หรืออาเจะ ต่างก็มีพื้นฐานที่เหมือนกัน นั่นคือ นำมาซึ่งความสงบสุข หยุดยิง จนเกิดการเลือกตั้งที่เป็นธรรมดังนั้น การสร้างความปรองดองในประเทศ จะต้องมาจากตัวของผู้นำและประชาชนในประเทศ ที่ต้องทำงานร่วมกัน สร้างประชาธิปไตยที่เป็นธรรมและรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล เห็นได้จากนามิเบีย ที่อันดับความมีธรรมาภิบาลอยู่ในระดับสูง และสำคัญต้องมาจากความตั้งใจจริงของทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ซึ่งจะต้องมีการลงสัตยาบันในการหาทางออกของประเทศร่วมกัน ซึ่งผู้นำจะต้องมีแนวทางในการสร้างความมั่นใจและไว้วางใจให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย เพื่อจะได้ร่วมมือกันในการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น ส่วนที่โคโซโว มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 15,000 คน ซึ่งการปรองดองไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ได้เริ่มจากทั้งระดับรากหญ้าจนถึงระดับบริหารประเทศ สิ่งสำคัญในการสร้างความปรองดองคือ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ผู้นำจะต้องสร้างพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความเห็น เช่น การให้การศึกษาทั่วถึง สร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุข เป็นพื้นฐานที่ทำให้ประชาชนร่วมปรองดอง ตนจึงมีความมั่นใจว่า แม้จะมีปัญหาทางการเมืองแค่ไหน แต่ประสบการณ์จากต่างประเทศ ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าความปรองดองเกิดขึ้นได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ชี้ปรองดองกลบขัดแย้งแก้ผิดทาง
ส่วนนางพริสซิลา เฮย์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้นหาความจริงและความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน กล่าวว่า รายงานของ คอป. อาจจะไม่เพียงพอ แต่ต้องนำไปสู่การปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเท่าเทียม ซึ่งตอนนี้ยังไม่แน่ใจว่า คนไทยทุกคนเข้าใจความหมายของคำว่า “ปรองดอง” ตรงกันหรือไม่ เพราะเชื่อว่าแต่ละคนมีความคิดที่แตกต่างกัน การปรองดองแบบที่ให้ลืมอดีต เป็นสิ่งที่เหยื่อหรือผู้สูญเสียยอมรับไม่ได้ ส่วนการปรองดองที่ผิดทาง คือการที่ออกกฎหมายเพื่อมากลบเกลื่อนความขัดแย้งอย่างเดียว แต่ต้องสร้างกระบวนการที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ดังนั้น การสร้างความปรองดอง จะต้องเปิดเวทีพูดคุยอย่างต่อเนื่อง ให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมแสดงความเห็นในบางที่ทำให้เกิดการขอโทษกันและกัน การเปิดเวทีพูดคุยทำให้ประชาชนมีความเข้มแข็งขึ้น การปรองดองอย่ารีบร้อน แต่จะต้องดำเนินไปอย่างระมัดระวัง ฟังกันและกัน อยากเห็นการนำผลของ คอป.มาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความเท่าเทียมกันในสังคมและเศรษฐกิจของประชาชน โดยเห็นว่าการนิรโทษกรรมจะต้องเคารพเหยื่อทางการเมือง มีกระบวนการที่โปร่งใส เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย แม้จะมีการนิรโทษกรรมแล้ว แต่ต้องไม่ปิดกั้นกระบวนการในการค้นหาความจริงให้แก่เหยื่อผู้ได้รับผลกระทบ และย้ำว่า การปรองดองจะต้องอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตย ซึ่งหวังว่าพรรคการเมืองจะมีความเห็นร่วมในการสร้างความปรองดอง แม้จะมีความเห็นต่างทางการเมือง แต่หัวใจสำคัญคือทุกฝ่ายต้องเคารพซึ่งกันและกัน มองประโยชน์และความสงบสุขของประเทศเป็นที่ตั้ง
“สุรินทร์” เหน็บคนไกลแทรกแซง
ต่อมาเวลา 12.00 น. ซึ่งเป็นช่วงท้ายก่อนปิดเวทีปาฐกถาพิเศษ ให้ผู้เข้าร่วมรับฟังปาฐกถาได้สอบถาม ปรากฏว่านายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ได้ลุกขึ้นกล่าวแสดงความเห็นตอนหนึ่งว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์ขอให้ถอนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมออกจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรนั้น เป็นการทดสอบเจตจำนงของรัฐบาล เพราะเห็นว่ากฎหมายนี้ไม่ใช่เรื่องที่เร่งรีบเกินไป และเป็นแนวทางที่จะสามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ รวมถึงควรมีกรอบประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพ โดยเรื่องนี้เป็นกระบวนการและทุกคนควรมีสิทธิ์มีเสียง ทั้งนี้ ในกรณีของไทยไม่ได้แบ่งแยกเป็นแค่ 2 ฝ่าย เพราะบางฝ่ายมีคนภายนอกส่งอำนาจเข้ามาแทรกแซงผ่านการสไกป์เข้ามาในประเทศ ถือเป็นการแทรกแซงจากภายนอก ซึ่งเป็นการกระทบเจตจำนงของเรา ซึ่งในขณะที่นายสุรินทร์พูดอยู่นั้น กล้องได้โคลสอัพไปที่นายโทนี แบลร์ อดีตนายกฯ อังกฤษ ที่นั่งฟังนายสุรินทร์อย่างตั้งใจและคล้ายว่าจะเตรียมจะแสดงความคิดเห็น แต่ปรากฏว่านายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการและควบคุมเวลาบนเวที ก็ได้พูดกล่าวสรุปและระบุว่าได้เวลาทานอาหารกลางวันแล้ว จากนั้นก็ปิดเวทีในช่วงเช้าทันที โดยที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้อดีตนายกฯ อังกฤษ หรืออดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ได้แสดงความเห็นในสิ่งที่นายสุรินทร์พูด
“มาร์ค-กรณ์” กินมื้อเที่ยง โทนี แบลร์
ต่อมาเวลา 13.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางเข้าร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับนายโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่บ้านพักเอกอัครราชทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย ถนนวิทยุ โดยภายหลังการหารือ นายอภิสิทธิ์ กล่าวเพียงว่า ในการพูดคุยกับนายโทนี แบลร์ พูดคล้ายกับที่ได้กล่าวบนเวทีปราฐกถาพิเศษ ส่วนรายละเอียดตนจะเล่าให้ฟังในวันที่ 3 ก.ย.นี้ เนื่องจากติดภารกิจเดินทางไป จ.สุราษฎร์ธานี
แจง “โทนี แบลร์” ขอนัดพบเอง
ด้านนายกรณ์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “KornChatikavanij” ตอนหนึ่งว่า นายแบลร์ ทราบแต่แรกว่าเราไม่ได้เข้าร่วมกระบวนการปาหี่ปฏิรูป ของรัฐบาล จึงได้ขอนัดพบเราต่างหาก หลังจากที่ได้ไปบรรยายให้กับฝ่ายรัฐบาลฟังตอนเช้า ซึ่งนายแบลร์ เคยเดินทางมาประเทศไทยและพบกับพวกตนครั้งหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว ในคราวนั้นได้อธิบายให้นายแบลร์ เข้าใจว่าจุดยืนของเรา คือการให้อภัยกันเป็นเรื่องจำเป็น แต่ต้องมีการเคารพสิทธิ์ของผู้สูญเสียที่จะได้รับความยุติธรรมก่อน เรามองว่าการรักษาหลัก “นิติธรรม” เป็นเรื่องจำเป็นในสังคมประชาธิปไตย ซึ่งทั้งหมดนี้ นายแบลร์ก็เห็นด้วยและได้สัมภาษณ์ในหลักการเดียวกันด้วย วันนี้เราก็จึงได้ชี้แจงกับท่านอีกครั้งว่า เราไม่เข้าร่วมกระบวนการปฏิรูปของรัฐบาลเพราะรัฐบาลไม่แสดงความจริงใจที่จะปฏิรูปจริง และไม่ยอมที่จะทบทวนความเหมาะสมเรื่องการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม ทั้งๆ ที่กฎหมายฉบับนี้สร้างความแตกแยกอย่างมาก และหลายฝ่ายมองว่ามีผลในทางลบกับระบอบการปกครองประเทศ ส่วนกระบวนการปฏิรูปที่แท้จริงนั้น มีเวทีอื่นที่เหมาะสมกว่า และเราพร้อมเข้าร่วมเสมอ ต่อเมื่อรัฐบาลพร้อมยอมรับว่าในการปฏิรูปประเทศนั้น ประชาชนทุกภาคส่วนต้องมีสิทธิ์มีเสียงเท่ากัน และเวทีนั้นไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อหาความชอบธรรมในการจัดผลประโยชน์ระหว่างนักการเมืองให้ลงตัว ทั้งหมดเป็นการนั่งสนทนากันอย่างเป็นกันเอง คือท่านทูตฯ ได้จัดให้เราสามคนตักอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ มานั่งทานไปคุยไป ใครบอกว่าอังกฤษทำอะไรต้องมีพิธีรีตองมากมาย จริงๆ สมัยนี้ไม่เป็นอย่างนั้นแล้วครับ
วุฒิฯ ถกงบฯ ปี 57
วันเดียวกัน เมื่อเวลา 11.10 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม โดยก่อนเข้าสู่วาระได้แจ้งที่ประชุมทราบกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ส่งสำนวนไต่สวนข้อเท็จจริงขอให้วุฒิสภาถอดถอนนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และนายไกรสร พรสุธี ปลัดกระทรวงไอซีที ออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 หลังจาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดกรณีอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ซึ่งวันที่ 6 ก.ย. จะเรียกประชุมวุฒิสภา เพื่อตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการถอดถอน โดยกำหนดวันแถลงของ ป.ป.ช.ในฐานะผู้กล่าวหา และนายสุรพงษ์และนายไกรสร ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา และพิจารณาคำขอเพิ่มเติมพยานหลักฐาน หาก ส.ว.คนใดมีคำถามให้ส่งคณะกรรมการชุดนี้ จากนั้นที่ประชุมมีมติตั้งคณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ) จำนวน 25 คน โดยต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 20 วัน
“ปู” โผล่ร่วมประชุมก่อนบินจีน
จากนั้นเป็นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 วงเงิน 2.525 ล้านล้านบาท โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง นำทีม ครม. เข้าร่วมรับฟังการอภิปรายและให้ข้อเสนอแนะจาก ส.ว. อาทิ นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและ รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง นายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ ทั้งนี้หลังจากนายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 57 กล่าวรายงานผลการศึกษาโดยมีการตั้งข้อสังเกตเสนอแนะรัฐบาลรวม 23 ประเด็นจบ นายนิคมได้แจ้งถึงกรอบการพิจารณาว่า จะใช้เวลารวม 2 วัน คือวันที่ 2-3 ก.ย. จัดแบ่งเป็น 5 กลุ่มภารกิจ โดยวันแรกแบ่งเวลาให้คณะกรรมาธิการสามัญ 22 คณะๆ ละ 30 นาที ส่วนวันที่ 2 จะให้ผู้เข้าชื่อขออภิปรายคนละไม่เกิน 10 นาที โดยแบ่งเวลาให้ ครม.ชี้แจง 2 ชั่วโมง และจะมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 เป็นบางช่วง ต่อมาเวลา 13.45 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้เข้าฟังการอภิปรายประมาณ 30 นาที ก่อนนำคณะออกเดินทางไปปฏิบัติราชการที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งสร้างความฮือฮาแก่บรรดา ส.ว. ที่พากันยกมือถือขึ้นมาถ่ายภาพนายกฯ เอาไว้
กมธ.ยอมถอยเลิกสภาผัวเมีย
ส่วนการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว. ที่กรรมาธิการฯ จะทบทวนแก้ไขเนื้อหามาตรา 5 ไม่ให้บุพการี และคู่สมรสของผู้ดำรงทางการเมืองมาลงสมัคร ส.ว.ได้นั้น น.พ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว. กล่าวว่า กรรมาธิการฯ เคยหารือกันนอกรอบถึงการแก้ไขเนื้อหามาตราดังกล่าว เพราะมีเสียงสะท้อนจากผลโพล และสมาชิกรัฐสภาหลายคนที่ไม่เห็นด้วยในเรื่องสภาผัวเมีย เท่าที่รับฟังกรรมาธิการเสียงข้างมากมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยที่จะให้กลับไปใช้ร่างเดิมคือ ไม่อนุญาตให้บุพการี และคู่สมรสของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงสมัคร ส.ว.ได้ ซึ่งกรรมาธิการฯ ที่อยากให้กลับไปใช้ร่างเดิมเพราะเห็นว่าถูกกระแสสังคมต่อต้านอย่างหนัก จึงอยากให้แก้ไขเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย และป้องกันไม่ให้พรรคประชาธิปัตย์นำมาเป็นประเด็นตีรวน ยืดเยื้อการพิจารณา ดังนั้นคงต้องเหาหตุผลการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาในวันที่ 4 ก.ย.อีกครั้ง ซึ่งนายสามารถ แก้วมีชัย ประธานกรรมาธิการฯ ก็ระบุว่า ถ้าที่ประชุมท้วงติงอย่างหนัก กรรมาธิการฯ ก็อาจจะขอหารือกันอีกรอบ เพื่อกลับไปใช้ร่างเดิมได้
หวังสกัดเกมตีรวน ปชป.
นายไพจิต ศรีวรขาน รองประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ได้ประสานงานกับวิปฝ่ายค้านเบื้องต้นถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 4 ก.ย.ว่า ในมาตรา 5 เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ส.ว.นั้น ประเด็นใดที่จะเป็นข้อขัดแย้งจะมาคุยกันเพื่อให้การประชุมเดินหน้าได้ ไม่ยืดเยื้อ เท่าที่ดูมี 2 เรื่องที่มีปัญหาคือ การให้บุพการี และคู่สมรสของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับการให้ผู้พ้นตำแหน่งทางการเมืองไม่ถึง 5 ปี มาลงสมัคร ส.ว.ได้ คงต้องมาเจรจาให้จบแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่ใช่ให้แต่ละฝ่ายไปแบบสุดๆ เพราะขณะนี้หัวใจสำคัญคือเรื่องการเลือกตั้ง ส.ว. 200 คน ผ่านความเห็นชอบไปเรียบร้อยแล้ว หากประเด็นประกอบอื่นๆ จะไม่ได้ทั้งหมด ก็ต้องทำใจกันบ้าง เชื่อว่า หากทำความตกลงกันได้การพิจารณามาตรา 5 น่าจะเสร็จภายในวันที่ 4 ก.ย. และคาดว่าอย่างช้าภายในสัปดาห์หน้าจะลงมติวาระ 2 ได้เสร็จทุกมาตรา จากนั้นประมาณกลางเดือน ก.ย.จะนำร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทเข้าพิจารณาได้
วันที่ 2/09/2556 เวลา 22:01 น.