กรมประมงจับมือกรมเจ้าท่า

แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านประมงทะเล ลดปัญหาการส่งออกสินค้าไปอียู

จากการที่สหภาพยุโรปมีความประสงค์ที่จะลดปริมาณ การลักลอบการจับสัตว์น้ำแบบผิดกฎหมายในน่านน้ำต่างๆ เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน จึงได้ออกกฎระเบียบฉบับที่ 1005/2008 ลงวันที่ 29 กันยายน 2551 ว่าด้วยการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU Fishing) ซึ่งระเบียบดังกล่าว มีผลกระทบต่อสินค้าประมงของไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าประมงทะเลไปประชาคมยุโรป จึงจำเป็นต้องรับรองสินค้า และผลิตภัณฑ์ประมงว่าไม่ได้มาจากการทำประมงแบบ IUU และจะต้องแนบเอกสารการรับรองการจับสัตว์น้ำ (Catch Certificate) ประกอบการส่งออกด้วย

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการส่งออกสินค้าประมงไปอียู กรมประมง จึงได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับกรมเจ้าท่า เพื่อประสานความร่วมมือในการจดทะเบียนเรือประมงไทย และแลกเปลี่ยนข้อมูลเรือประมงและด้านการประมงทะเล รวมทั้งส่งเสริมการศึกษาวิจัยเพื่อให้ข้อมูลเรือประมงมีความถูกต้องมากขึ้น

ดร.วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า เนื่องจากข้อมูลด้านประมงทะเลที่ถูกต้องชัดเจน มีความสำคัญต่อการบริหารจัดการทรัพยากรประมงของประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับเรือประมง ซึ่งภารกิจในส่วนของการจดทะเบียนเรือประมงเป็นของกรมเจ้าท่า ในขณะเดียวกันข้อมูลในการจดทะเบียนเรือประมง ต้องนำมาใช้ประกอบการขอใบอนุญาตทำการประมงจากกรมประมง ซึ่งหากข้อมูลไม่ตรงกันจะทำให้การรวบรวมข้อมูลเรือประมง และเครื่องมือประมงที่ถูกต้องมีความคลาดเคลื่อน ประกอบกับ การส่งออกสินค้าประมงไปยังประเทศยุโรป จำเป็นต้องมาจากการทำประมงที่ไม่ผิดกฎหมาย คือ เรือประมงจะต้องมีการจดทะเบียนและมีใบอนุญาตทำการประมงที่ถูกต้อง ดังนั้น เรื่องเหล่านี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก กรมประมงกับกรมเจ้าท่าจึงได้ลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างเป็นทางการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันการทำประมงที่ผิดกฎหมาย และการบริหารจัดการเรื่องประมงทะเลของไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้นการขึ้นทะเบียนเรือและการขอใบอนุญาตทำการประมงให้ถูกต้อง เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับชาวประมง เนื่องจากหากเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น ภัยพิบัติต่างๆ ชาวประมงที่มีการขึ้นทะเบียน มีใบอนุญาตทำการประมง ก็จะสามารถตรวจสอบฐานข้อมูลได้อย่างเป็นทางการ ส่งผลให้ภาครัฐสามารถเข้าไปช่วยเหลือในด้านต่างๆ ได้ง่ายกว่าผู้ที่ไม่ได้มีการขึ้นทะเบียน

ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว นับว่าเป็นการสร้างโอกาสและสร้างความเข้มแข็งให้กับสินค้าประมงของไทย ในการที่จะส่งออกไปทั้งในภูมิภาคอาเซียน สหภาพยุโรป และตลาดโลก โดยเชื่อว่ามาตรการต่างๆ ที่กรมประมงได้จัดตั้งขึ้น รวมถึงความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ

จรัส พิบูลย์ปุญญโชติ/ธนวันต์ บุตรแขก : รายงาน

 

 

วันที่ 27/08/2556 เวลา 10:20 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

221

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน