กระทรวงเกษตรฯ เร่งเดินหน้าโซนนิ่งพืช
จากนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนและส่งเสริมด้านการเกษตร เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานสากลให้สามารถแข่งขันกับประเทศผู้ผลิตรายอื่น และเพิ่มความเชื่อมั่นด้านคุณภาพของสินค้าให้แก่ประเทศผู้บริโภค เพื่อรองรับนโยบายด้านพืชอาหารและพืชพลังงาน และยังเป็นการเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานสากล ให้ตรงกับความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งนโยบายสำคัญของภาครัฐคือ การโซนนิ่งภาคเกษตร เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ในประเทศไทยว่า พื้นที่ตรงไหนเหมาะสมที่จะส่งเสริมปลูกพืชอะไรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้ขับเคลื่อนไปได้อย่างมั่นคง
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการโซนนิ่งของรัฐบาลในขณะนี้ว่า จากเดิมที่ทางกระทรวงฯ ได้ทำโครงการโซนนิ่งโดยมีการประกาศเขตพื้นที่ที่จะมีการส่งเสริมการปลูกพืช ปศุสัตว์ และประมง ขณะนี้ได้มีการกำหนดเขตพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกพืชแล้ว 13 ชนิด สัตว์น้ำ 2 ชนิด ซึ่งในขณะนี้สามารถบอกได้ว่าในประเทศไทย ที่มีพื้นที่เกษตรกรรม 150 ล้านไร่นั้น เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชชนิดไหนบ้าง ในจังหวัด, อำเภอ, ตำบลไหน เหมาะจะทำการเกษตรปลูกพืชชนิดใดบ้าง หรือเหมาะสมที่จะทำปศุสัตว์หรือเลี้ยงสัตว์น้ำอะไรบ้าง โดยใช้วิธีการประกาศในลักษณะการกำหนดพื้นที่ที่มีความเหมาะสมมากกับเหมาะสมปกติ ส่วนพื้นที่เหมาะสมน้อยกับไม่เหมาะสมนั้น ไม่ได้ประกาศ เพราะฉะนั้นประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้นได้ระบุเรื่องการปลูกพืช ประมง ปศุสัตว์ที่มีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ไว้แล้ว
“เราได้มีการประสานงานเพื่อดำเนินการในพื้นที่ โดยต้องสำรวจข้อมูลจากพื้นที่จริง โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการในการที่จะจัดการพัฒนาพื้นที่เกษตรโซนนิ่งในแต่ละจังหวัด ซึ่งในแต่ละจังหวัดจะมีการตั้งคณะทำงานในแต่ละจังหวัด มีหน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตัวแทนของกระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้แทนกระทรวงมหาดไทย และตัวแทนสภาเกษตรกร ซึ่งเป็นตัวแทนของเกษตรกรในแต่ละจังหวัดด้วย มีตัวแทนภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นตัวแทนจากภาคเอกชนเข้ามาร่วมหารือว่า หลังจากที่มีการประกาศโซนนิ่งในแต่ละพื้นที่ของทุกจังหวัดแล้ว ต้องมาดูว่าพื้นที่ที่มีความเหมาะสมตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศออกไปแล้วนั้น เราจะมาร่วมกันพัฒนาศักยภาพกันอย่างไร พื้นที่ที่ได้ประกาศแล้วมีเกษตรกรปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์อยู่แต่ได้ผลผลิตต่ำ เราจะมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อหันไปปลูกพืชชนิดอื่น หรือทำการประมงและปศุสัตว์อย่างไร” นายยุคล กล่าว
จากการตรวจสอบเพื่อคัดเลือกพืชที่จะนำร่อง พบว่าพื้นที่ที่ทำนาทั่วประเทศ 70 ล้านไร่ แต่พื้นที่ที่เหมาะสมกับการทำนาจริงๆ มีเพียง 43 ล้านไร่ อีก 27 ล้านไร่เป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม และในขณะเดียวกันทางสมาคมผู้ประกอบการ ก็มีความต้องการที่จะได้อ้อยเพิ่มขึ้นเพื่อจะทำน้ำตาล โดยทางภาคอุตสาหกรรมต้องการเพิ่มปริมาณการผลิตอ้อยให้เพิ่มขึ้นอีก 100 ล้านตัน ซึ่งจากการตรวจสอบสภาพพื้นที่แล้วพบว่าในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมที่จะปลูกข้าว หรือเหมาะสมน้อย สามารถที่จะปลูกอ้อยได้ จากพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวได้มาประมาณ 8-10 ล้านไร่ และด้วยระบบการบริหารจัดการของอ้อยที่มีความชัดเจน ทางนายกรัฐมนตรี จึงได้ให้ใช้อ้อยเป็นโมเดลพืชนำร่องในการทำโซนนิ่งการเกษตร ซึ่งแรงจูงใจที่จะให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรให้เหมาะกับพื้นที่นั้น มีข้อมูลพื้นฐานชัดเจนว่าการปลูกอ้อยกับการปลูกข้าวนั้น รายรับและผลกำไรที่ได้จากการปลูกอ้อยจะสูงกว่าการปลูกข้าว และในขณะเดียวกัน ในระบบของการปลูกอ้อยของทางภาคเอกชนเอง ทางโรงงานอ้อยและน้ำตาลมีการปล่อยเงินกู้ให้กับตัวเกษตรกรที่เป็นคอนแทรคฟาร์มของโรงงานเพื่อยืมไปพัฒนาปรับปรุงพื้นที่, ซื้อพันธุ์อ้อยหรือซื้อปุ๋ยส่วนหนึ่ง และรัฐบาลก็จะพิจารณาในเรื่องดังกล่าวเพิ่มเสริมให้กับตัวเกษตรกรในรูปของเงินกู้ หรือเงินชดเชย ซึ่งอาจจะชดเชยเรื่องของดอกเบี้ยเป็นหลัก ในขณะนี้ ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงการคลังกำลังร่วมกันพิจารณาในรายละเอียดเรื่องดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่จะปรับเปลี่ยนมาปลูกอ้อยต่อไป ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่พร้อมสำหรับการปลูกอ้อยนั้น ในฤดูกาลต่อไป ก็เข้าไปดูว่าจะสามารถดำเนินการปรับเปลี่ยนได้อย่างไรต่อไป
“ส่วนเรื่องวิชาการเพื่อให้ความรู้เกษตรกรที่จะปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเองนั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะต้องเข้าไปแนะนำและถ่ายทอด พร้อมทั้งมีนักวิชาการและเจ้าหน้าที่ของโรงงานอ้อยและน้ำตาลจะมีทีมงานอยู่แล้ว ก็จะไปเสริมตรงนี้ สิ่งที่กระทรวงเกษตรฯ จะทำคือการให้ความรู้และการจัดโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรัฐบาลมองภาพว่า เมื่อมีการจัดโซนนิ่งที่ชัดเจนแล้วโครงสร้างพื้นฐานที่จะให้นั่นคืออะไร เช่น เรื่องของการจัดถนนเข้าไป จัดระบบน้ำเข้าไป ภาพที่เรามองคือการสร้าง infrastructure นั้นเป็นเรื่องสำคัญและดีกว่า เพราะจะเป็นการช่วยเกษตรกรที่มีความยั่งยืน ไม่ใช่การช่วยแบบชั่วคราวแล้วก็ผ่านไป”
นายยุคล กล่าวอีกว่า สำหรับในเรื่องของปศุสัตว์นั้น ทางกระทรวงฯ จะใช้การเลี้ยงโคเนื้อมานำร่องและเป็นฐาน ส่วนการทำประมง ก็จะเลือกการเลี้ยงปลานิลหรือปลาสลิดนำร่อง ตามความเหมาะสม โดยทางกระทรวงฯ ดูแลในเรื่องการจัดพื้นที่ การทำเรื่องแหล่งน้ำให้ ทั้งนี้กรมประมงก็ได้มีการประกาศแล้วว่าพื้นที่ที่เหมาะสมจะเลี้ยงปลาแต่ละชนิดอยู่แหล่งไหน พร้อมทั้งเรื่องคุณภาพของน้ำ, ดิน, ค่า Ph ของน้ำที่เหมาะกับการเลี้ยงปลาควรเป็นอย่างไร โดยจะเน้นแต่ปลาน้ำจืดเป็นหลัก
“ในแต่ละจุด เราก็จะลงไปดูพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร อย่างเช่น จังหวัดบุรีรัมย์ มีการปลูกพืชหลักๆ 3-4 ชนิด เช่น กลุ่มเกษตรกรที่ทำอ้อยป้อนโรงงานน้ำตาล กลุ่มเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังป้อนให้กับโรงงานแป้งมัน ที่จังหวัดนครราชสีมา และมีกลุ่มที่ปลูกข้าว เลี้ยงโคเนื้อ เลี้ยงไก่เนื้อ ในจังหวัดบุรีรัมย์ก็จะมีแยกเป็นกลุ่มๆ อย่างเรื่องข้าว ตอนนี้บุรีรัมย์เองมีแผนที่จะทำข้าวหอมมะลิจากพื้นที่ภูเขาไฟ ตอนนี้เราได้ตรวจสอบแล้วพบว่ามีพื้นที่ 50,000 ไร่ ในเขตพื้นที่ภูเขาไฟ ในดินมีซัลเฟอร์และธาตุเหล็กสูง ทำให้เป็นข้าวที่มีความหอมเป็นพิเศษ เป็นข้าวที่มีคุณค่าทางอาหาร มีธาตุเหล็กสูงกว่าทั่วๆ ไป ก็จะเป็นพืชในพื้นที่เฉพาะ ก็จะทำเป็นตลาด Niche Market (ตลาดเฉพาะกลุ่มที่น่าสนใจ) ต่อไป”
นายยุคล กล่าวอีกว่า ประโยชน์สำคัญที่จะได้จากการบริหารจัดการการใช้ที่ดินของประเทศ Zoning จะทำให้เกษตรกรลดต้นทุนจากการทำการเกษตรเนื่องจากปัจจัยการผลิตได้ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับความต้องการของพืชแต่ละชนิด ผลผลิตมีปริมาณและคุณภาพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีรายได้สุทธิจากการจำหน่ายผลผลิตเพิ่มขึ้น เช่น ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมประสิทธิภาพการผลิตข้าวอยู่ที่ 715 กิโลกรัมต่อไร่ (ณ ความชื้นร้อยละ 14) ซึ่งในพื้นที่เช่นนี้การจะปรับเพิ่มปริมาณ คุณภาพและมาตรฐาน จะทำได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น ดังนั้น เมื่อเกษตรกรสามารถบริหารจัดการด้านต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านราคาจำหน่าย นอกจากนั้นในภาพรวมประเทศจะมีการใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรได้เต็มศักยภาพในการผลิตสินค้าที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสม ลดการนำเข้าสารเคมีและปุ๋ยเคมี นำไปสู่การยกระดับความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรของประเทศต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะนำข้อมูลเขตเหมาะสมที่ประกาศ นำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อนำไปวิเคราะห์ สังเคราะห์ ทำความเข้าใจร่วมกับส่วนราชการและภาคเกษตรกรที่เกี่ยวข้องในจังหวัด ให้รับรู้และเข้าใจศักยภาพที่แท้จริงของตนเองและร่วมกันคิดสร้างสรรค์แนวทางการปรับเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพ หาทางเลือกดำเนินการผลิตที่เหมาะสมกับศักยภาพของภูมิสังคมของตนเองและยกระดับความสามารถในการแข่งขัน โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ข้อมูลสนับสนุนหรือประสานความร่วมมือในการหาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ การปรับเพิ่มผลิตภาพของทรัพยากรดินและน้ำ การกำกับดูแลให้มีการซื้อขายปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐาน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การประสานอำนวยความสะดวกทางการตลาด การบริหารตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร อันเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการขับเคลื่อนให้เกษตรกรปรับวิธีคิดเป็น Smart Farmer ไปพร้อมกับการพัฒนาเจ้าหน้าที่ให้เป็น Smart officers และนำไปสู่การปฏิรูปภาคการเกษตรของประเทศไทยที่สามารถแข่งขันได้ในอาเซียนและในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จรัส พิบูลย์ปุญญโชติ/ธนวันต์ บุตรแขก : เรื่อง-ภาพ
วันที่ 22/08/2556 เวลา 7:38 น.